สิทธิของผู้บริโภค จะให้เต็มร้อยต้องคุ้มครองตนเอง


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค หากพูดกันตามจริงไม่ว่าจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลสักเท่าไร ก็ยังไม่สามารถทำได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างแน่นอน

เพราะหากเทียบปริมาณของหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคทั้งทางตรง และทางอ้อม กับจำนวนผู้บริโภคชาวไทยซึ่งมีอยู่กว่า 60 ล้านคนทั่วประเทศ ผลที่ได้ก็คืออัตราส่วนที่สูงเกินจะคุ้มครองกันได้ทั่วถึง

อนุวัฒน์ ธรมธัช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ปรารภถึงเรื่องการคุ้มครองตนเองของผู้บริโภคชาวไทยว่า ยังไม่ค่อยตื่นตัวกันเท่าไรนัก ด้วยเหตุผลหลายๆประการ ทำให้ยังมีผู้บริโภคชาวไทยอยู่มากที่ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการธุรกิจ

"สคบ.เราอยากให้ผู้บริโภคตื่นตัวในสิทธิของตัว เราพร้อมที่จะช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กขนาดไหน ถ้าผู้บริโภคเขามาร้องเรียนเราจะช่วยไกล่เกลี่ยทุกกรณี"

ภาพการเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งสคบ.เป็นตัวแทนให้กับผู้บริโภคที่เห็นโดยทั่วไป ประชาชนอาจจะเข้าใจว่าจะต้องเป็นเรื่องใหญ่ๆ เท่านั้น โดยภาพการร้องเรียนที่เห็นก็คือการร้องเรียนในเรื่องที่เกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะมีมูลค่าความเสียหายสูง จึงดูเป็นภาพใหญ่กว่าการเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภคในธุรกิจอื่น รองลงมาคือการเรียกร้องของผู้บริโภคจากสินค้าประเภทรถยนต์

หากถ้านับเป็นราย การเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภคต่อสคบ.ในเรื่องเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคก็มีไม่น้อย บางเรื่องอาจจะฟังแล้วเป็นเรื่องกวนใจคนทำงาน แต่ผู้อำนวยการสคบ. และเจ้าหน้าที่ต่างเห็นเป็นเรื่องดีที่ผู้บริโภคไม่ยอมละเลยสิทธิ์ของตัวเองดังเรื่องตัวอย่างที่ผู้อำนวยการสคบ.เล่าให้ "ผู้จัดการรายเดือน" ฟังดังนี้

ครั้งหนึ่งที่เคเอฟซี มีโปรโมชั่นแถมมันฝรั่งเลย์ แต่พอลูกค้าไปซื้อแล้วทวงถาม พนักงานบอกว่าไม่มีให้มาเอาภายหลัง ต่อมาลูกค้าโทรมาทวงว่ามีหรือยัง พนักงานบอกยังไม่มีแล้วพูดนอกกระบอกโทรศัพท์แต่ลูกค้าได้ยินมาตามสายว่า "อีนี่มันงก" จึงเกิดเรื่องลูกค้าไม่พอใจโทรไปร้องเรียนต่อสคบ.ๆ เรียกผู้ประการการมาตกลง สรุปผลลูกค้าเป็นฝ่ายถูกได้มันฝรั่งเลย์ตามที่โฆษณาไว้ไป 1 ถุง พนักงานเนื่องจากทำให้บริษัทเสียชื่อก็ถูกไล่ออก

"เรื่องแบบนี้เป็นสิทธิ์ของลูกค้าที่จะเรียกร้องได้ และมีเข้ามามากพอสมควร ทางสคบ.ก็ยินดีจะเคลียร์ให้ตามสิทธิของผู้บริโภค"

นอกจากนี้ ยังมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการโฆษณาของห้างสรรพสินค้าในช่วงโปรโมชั่นอีกมาก แต่ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าส่วนใหญ่แล้ว หากเกิดกรณีที่ผู้บริโภคเรียกร้องสิทธิแล้วทางสคบ.เชิญมาไกล่เกลี่ยก็จะยอมด้วยดีหากพิสูจน์ได้ว่าผู้ประกอบการเป็นฝ่ายผิดจริง "สาเหตุที่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยอมชดเชยเมื่อรู้ตัวว่าเป็นฝ่ายผิดจริงเพราะอยากให้จบเรื่องเร็วไม่อยากเสียเวลา เรื่องส่วนใหญ่จึงจบลงได้ตั้งแต่เชิญมาตกลงหลังจากมีผู้มาร้องเรียน เพราะสาเหตุหนึ่งที่สำคัญคือกลัวเสียชื่อเสียง ซึ่งถือว่าไม่คุ้มกันกับธุรกิจขนาดใหญ่ และเมื่อยอมกันก็ถือว่าจบเรื่อง

ในความจริงแล้วหากผู้บริโภคร้องเรียน ผู้ประกอบการผิดจริงก็ไม่นิ่งเฉยที่จะจ่ายค่าชดเชย สิ่งที่สคบ.ทำในตอนนี้ก็คือ การกระจายความรู้เรื่องสิทธิของผู้บริโภค โดยบรรยายให้เด็กฟัง ซึ่งผลที่ออกมาก็ดีเด็กนักเรียนบางโรงเรียนสามารถทำให้แม่ค้าเปลี่ยนจากจานพลาสติกมาใช้จานกระเบื้องเพื่อความปลอดภัยแทนได้

วิธีที่สคบ.เชื่อแน่ว่าดีที่สุดสำหรับการคุ้มครองผู้บริโภคก็คือให้ผู้บริโภคตระหนักถึงสิทธิของตนเองให้มากที่สุด รวมทั้งจะจัดให้มีวันชุมนุมคุ้มครองผู้บริโภคในระดับมัธยมเหมือนกับชุมนุมลูกเสือ เนตรนารี ซึ่งเชื่อแน่ว่าจะเป็นการปลูกฝังให้คนไทยในปัจจุบันและอนาคต และสังคมไทย มีความเข้มแข็งในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น และจะเป็นมิติใหม่ที่ดีกว่าเกินแน่นอน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.