กระตุกหนวดมังกร


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ประชากรกว่า 1,260 ล้านคน ในประเทศกว้างใหญ่ไพศาลยุคเปิดประตูรับทุนนิยมเต็มที่อย่างจีนย่อมไม่ผิดอะไรกับ "สาวเนื้อหอม" ที่บริษัทข้ามชาติต่างหมายปองต้องการเข้าไปจับจองมีส่วนแบ่งตลาดสินค้ากันทั่วหน้า ประเมินกันว่าในระหว่างการสร้างนครเซี่ยงไฮ้ขึ้นมาใหม่ ต้องนำรถเครนมาใช้งานในสถานที่ก่อสร้างทั่วทั้งเซี่ยงไฮ้จำนวนมากมายมหาศาลถึง 1 ใน 5 ของปริมาณรถเครนในทั่วโลก

นิตยสาร Commercial Design Trends Volume 21 No 9 (A) ให้ภาพเจาะจงลงไปอีกว่า การเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางธุรกิจแบบเบรกไม่หยุดฉุดไม่อยู่นี้ย่อมทำให้บริษัทข้ามชาติทั้งหลาย อาทิ โซนี่ ซึ่งได้ชื่อว่าเชี่ยวชาญช่ำชองในการนำตัวเลขสถิติเหล่านี้มาดำเนินการให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองไม่ยอมพลาดโอกาสทองเป็นแน่ เพียง 4 เดือนแรกหลังเปิดแกลเลอรี่แห่งใหม่ ณ อาคารยุคทศวรรษ 1930 ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ก็สามารถดึงชาวจีนเข้าไปเยี่ยมได้ถึง 5 แสนคน

สถาปนิก Eric Lagerquist เล่าถึงบทบาทของแกลเลอรี่ ขนาด 929 ตารางเมตร กินพื้นที่ครอบคลุมทั้ง 3 ชั้นของตัวอาคารบนถนน Huai Hai Road ว่า ทำหน้าที่เป็นห้องแสดงนวัตกรรมใหม่ๆ ของบริษัท รวมทั้งเทคโนโลยีด้านบันเทิงที่เปลี่ยนโฉมหน้าอยู่ตลอดเวลา

งานออกแบบแกลเลอรี่ของโซนี่เน้นความตื่นตาตื่นใจแบบตกตะลึงตาค้างให้ผู้เข้าชมกันตั้งแต่ก้าวแรกที่เหยียบย่างเข้าไป ตรงบริเวณทางเข้าด้านหน้าออกแบบเป็นอุโมงค์ยาว 12 เมตร ผนังอุโมงค์กรุด้วยแผ่นเหล็กสเตนเลสสี่เหลี่ยมเรียงตัวในลักษณะเหลื่อมกันให้แลดูคล้ายเกล็ดมังกรตัวมหึมานั่นเอง

บนผนังสเตนเลสยังติดตั้งจอภาพยนตร์ขนาด 24 ฟุต มอนิเตอร์ LCD 6 จอ และลำโพงอีก 8 ตัว เพื่อให้ผู้เข้าชมเต็มอิ่มกับความบันเทิงที่นำเสนอด้วยอุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์อันล้ำสมัย

เมื่อเดินเข้าไปในอุโมงค์และลงทะเบียนแล้ว จะได้รับบัตร FeliCa ของบริษัท Duffy & Partners บัตรดังกล่าวเป็นเครื่องมือสำหรับการวิจัยตลาดอันล้ำค่า ผู้เข้าชมสามารถนำบัตร FeliCa ไปใช้ ณ จุดที่มีดิสเพลย์แบบอินเตอร์แอคทีฟได้ทั่วทั้งแกลเลอรี่เพื่อสะสมแต้มแล้วรับรางวัลสมนาคุณต่างๆ อาทิ เสื้อที-เชิ้ต และสินค้าอื่นๆ ของโซนี่

พอโผล่พ้นอุโมงค์ออกมาก็จะพบกับ Walkman Gallery ออกแบบโดย Duffy Asia ที่แสดงถึงวิวัฒนาการของเครื่องเล่น Walkman ตั้งแต่โซนี่เริ่มวางตลาดเป็นครั้งแรกในปลายทศวรรษ 1970

ภาพขนาดยักษ์ที่ติดแสดงเรียงรายตามผนังจะโชว์เครื่องเล่น Walkman ขนาดเท่าของจริงขณะนำออกวางตลาด ณ เวลานั้น จุดเด่นคือ เหนือภาพแต่ละภาพติดตั้งลำโพงสำหรับให้ฟังเพลงฮิตของแต่ละยุคสมัย ขณะที่บนพื้นติดตั้งแผงไฟสำหรับให้อ่านคำบรรยาย

ทั่วทั้งแกลเลอรี่ยังประดับด้วยเสาขนาดมหึมาเป็นระยะๆ ถึง 12 ต้น สถาปนิก Lagerquist เล่าว่า เดิมทีเสาพวกนี้มีรูปทรงสี่เหลี่ยม แต่ได้รับการปรับโฉมใหม่ให้มีทรงกลมเพื่อให้มองเห็นได้จากทุกทิศทางบนตัวเสาปูด้วยกระเบื้องโมเสกกระจกของอิตาลีเป็นลวดลายมังกรจีนโบราณตัดกับยุคดิจิตอลสมัยใหม่ได้อย่างน่าทึ่ง เพราะเสาทุกต้นติดตั้งจอภาพวิดีโอขนาดเล็กที่สามารถตั้งโปรแกรมฉายภาพยนตร์ขนาดสั้นและวิดีโอเพื่องานส่งเสริมการขายได้

เมื่อผู้เข้าชมเดินขึ้นบันไดไปจะมีกล้องถ่ายรูปไว้เพื่อให้ภาพไปปรากฏบนจอสีขาวขนาดใหญ่ที่รอพวกเขาอยู่บนชั้นสองแล้ว

ตรงกันข้ามกับจอเป็นเคาน์เตอร์รูปโค้งมีความยาวถึง 9 เมตร จัดให้เป็นบาร์สำหรับโชว์ผลิตภัณฑ์โซนี่ที่มีอยู่หลากหลายถึง 200 ผลิตภัณฑ์ สำหรับให้ผู้เข้าชมได้เลือกชม โดยมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำตลอดเวลา "มันเหมือนกับการมีบาร์เทนเดอร์คอยผสมเครื่องดื่มให้นั่นเอง เช่น คุณบอกว่าอยากลองใช้เฮดโฟนกับคอมพิวเตอร์แลปทอปและกล้องดิจิตอล เจ้าหน้าที่จะจัดอุปกรณ์ทุกอย่างให้คุณได้ลองตามความต้องการทันที" สถาปนิก Lagerquist อธิบายรายละเอียด "เคาน์เตอร์ยาวรูปทรงโค้งเหมือนงูเลื้อยนี้ออกแบบเพื่อให้สายตาเกิดความรู้สึกลื่นไหลไม่สะดุด ส่วนการใช้แผ่นไม้ปูตรงส่วนบนสุดของเคาน์เตอร์ ก็เพื่อลดความแข็งกระด้างระหว่างผู้เข้าชมและเจ้าหน้าที่ในขณะมีปฏิสัมพันธ์กันนั่นเอง"

ชั้นสามของแกลเลอรี่จัดเป็นโฮมเธียเตอร์ สงวนไว้สำหรับผู้เข้าชมที่มีนัดกับทางแกลเลอรี่เท่านั้น แน่นอนว่าระบบเครื่องฉายและลำโพงต้องอยู่ในระดับแถวหน้า นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงอุปกรณ์ด้านงานอาชีพไว้ต้อนรับลูกค้าเชิงพาณิชย์ด้วย อาทิ ระบบรักษาความปลอดภัย และเครื่องหมายสำหรับใช้ในงานโฆษณาแบบ holographic digital

แปลและเรียบเรียงโดย ดรุณี แซ่ลิ่ว
จากนิตยสาร Commercial Design Trends (Volume 21 No 9 (A))
และ Home Beautiful November 2005


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.