ดำดิ่งสู่สยาม โอเชี่ยน เวิลด์

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สยาม โอเชี่ยน เวิลด์ เป็นแม่เหล็กอีกตัวหนึ่งของศูนย์การค้าสยามพารากอน และเป็นเรื่องเล่าเรื่องใหม่ของชาวกรุง ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา

สำหรับคนที่เคยไปดู Under Water World ที่สิงคโปร์มาแล้ว ก็อาจจะไม่ตื่นเต้นมากนัก ยิ่งคนที่ได้ไปสัมผัสกับเจ้าพ่อปลาฉลามวาฬ ในอควาเรียมริมทะเล เมืองโอซากา มาแล้วยิ่งไม่ตื่นเต้นเลย แต่สำหรับคนที่เคยดูเพียงพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่บึงฉวาก จังหวัดสุพรรณบุรี หรือในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี หรือแม้แต่ Under Water World พัทยา ก็ต้องขอบอกว่า ตื่นเต้น...ค่ะ

ผู้บริหารของบริษัทสยาม โอเชี่ยน เวิลด์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโอเชียนิส ออสเตรเลียกรุ๊ป เจ้าของอุทยานสัตว์น้ำ 4 แห่งในโลกคือ ที่เมืองบริสเบน และเมลเบิร์น ประเทศออส เตรเลีย นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และที่เมือง ปูซานประเทศเกาหลีใต้ ยืนยันว่าที่นี่ใหญ่ที่สุด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยพื้นที่จัดแสดง ทั้งหมด 10,000 ตร.ม. หรือเท่ากับสนามฟุตบอล 2 สนาม จุน้ำได้มากถึง 4 ล้านลิตร หรือสระว่ายน้ำโอลิมปิกประมาณ 3 สระ ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี ปัจจุบันมีพนักงาน 170 คน

ความกว้างใหญ่อาจจะไม่สำคัญเท่าความแปลกใหม่ และมีสัตว์น้ำที่หาดูได้ยากที่เขาบอกว่ามีกว่า 400 ชนิด

เมื่อเสียค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 450 บาท เด็กที่มีความสูง 80-120 ซม. 280 บาท แล้วล่ะก็เข้าชมสัตว์น้ำกว่า 30,000 ชีวิตที่กำลังว่ายโชว์กันเลยค่ะ

พื้นที่ทั้งหมดในสยาม โอเชี่ยน เวิลด์ แบ่งออกเป็น 7 โซน เชื่อมต่อถึงกันด้วยทางเดินที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น หิน ไม้ ไม้ไผ่ มีเก้าอี้ให้นั่งพักเป็นระยะๆ

โซนแรก Weird and Wonderful จัดแสดงโชว์ไว้ในตู้ปลาขนาดใหญ่ เช่น เจ้าปลามังกรลีฟฟี่ ที่เป็นพระเอกให้กับสื่อทีวีทุกช่อง หนังสือพิมพ์ทุกฉบับที่ไปทำข่าว ด้วยความสวยงามของครีบที่สวยงามราวกับใบไม้ไหวเป็นตัวดึงดูด ปลามังกรลีดด์ ซึ่งมีลูก 1 ตัวอยู่ใกล้ๆ ตัวเล็กๆ มีครีบโปร่งแสง ส่วนหอยงวงช้าง สัตว์โบราณซ่อนตัวขนาดเล็กไว้ในเปลือกเปราะบาง ความยาวสูงสุดเพียง 35 ซม.

โซนที่ 2 Deep Reef โชว์ปะการังเทียม และฝูงปลาในแท็งก์ที่มีความสูงถึง 8 เมตร

โซนที่ 3 Living Ocean พบกับการปรับตัว อย่างน่าทึ่งเพื่อความอยู่รอดของสัตว์น้ำแต่ละประเภท เช่น ปลาหินที่มีรูปร่างไม่ต่างกับก้อนหิน นิ่งสงบอยู่ใต้ทะเล แต่มีพิษร้ายแรงบนโหนกด้านหลังที่สามารถทำให้ผู้ที่สัมผัสถึงตายได้ ส่วนปลาใบมีดโกนตัวยาว ว่ายไปมาอยู่ระหว่างหนามแหลมยาวของเม่นทะเลได้อย่างปลอดภัย

โซนที่ 4 มีทั้งปลาน้ำจืด และสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ครอบครัวตัวนาก ปลาหมอ ปลาบึก ปลาเสือตอ

โซนที่ 5 Rocky Shore ที่มีนกเพนกวินเป็นพระเอก แต่ ณ วันเปิด ตัว เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2548 ทราบว่ายังเอาเข้ามาไม่ได้ เพราะกฎเข้มงวดของไข้หวัดนก

โซนที่ 6 เด็กๆ จะตื่นเต้นกันมากใน Open Ocean อุโมงค์ใสใต้น้ำเปิดมุมมองกว้างถึง 270 องศา สามารถชมวิวได้รอบ 360 องศา ใน พื้นที่วงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 10.5 เมตร จะพบพฤติกรรมการรวมฝูงของปลานักล่า และผู้ถูกล่าแห่งท้องทะเล เช่น ฉลามเสือทราย เจ้าแห่งท้องทะเล ซึ่งเป็นตัวเอกอีกตัวของสยาม โอเชี่ยน เวิลด์ ตัวนี้มีความยาว 350 ซม. พร้อมฟันอันคมกริบนับหมื่นซี่

โซนที่ 7 Sea Jellies "แมงกะพรุน" สิ่งมีชีวิตอันมหัศจรรย์ของท้องทะเลที่ไม่มีสมอง ไม่มีโครงสร้างที่เป็นกระดูก และไม่ใช่ แมงกะพรุนสีขาวๆ ที่เห็นทั่วไป แต่มีรูปร่างคล้ายร่มสีรุ้งใสสวยงามอยู่บนสายน้ำ

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมส่องโลกใต้ทะเลกับเรือท้องกระจก มีสระเล็กๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสตัวปลาได้ เช่น ปลาดาว มีกิจกรรมโชว์การให้อาหารฉลาม สามารถค้นหาข้อมูลของสัตว์น้ำหลากหลายสายพันธุ์ ผ่าน "อะควาเสิร์ช"

บริษัท ทรู คอร์เปอเรชั่น เป็นผู้ติดตั้งเทคโนโลยี และระบบโครงข่ายทั้งหมดภายในสยาม โอเชี่ยน เวิลด์ และมีกิจกรรมร่วมกันต่างๆ มากมาย

และเป็นไปตามธรรมเนียม ด่านสุดท้ายก่อนออก มีร้านค้าขายของที่ระลึกต่างๆ มากมาย เช่น เสื้อผ้า หมวก ปากกา สมุดโน้ต กระติกน้ำ ที่เปิดขวด รวมถึงตุ๊กตาสัตว์น้ำที่เป็นตัวเอกให้ผู้ที่ประทับใจเลือกซื้อไปชื่นชมต่อที่บ้าน

ภาพผู้คนที่เข้าเยี่ยมชมสยาม โอเชี่ยน เวิลด์ หนาตาอย่างมากในช่วงวันที่ 9 ธันวาคม 2548 และจะต่อเนื่องไปนานแค่ไหน ต้องติดตามดู ไม่ต่างกับช่วงเวลาเดียวกันที่ผู้คนนับหมื่นที่ฝ่าลมหนาวไปดูไนท์ซาฟารี ในช่วง เปิดฟรีที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทั้ง 2 แห่ง กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของเมืองไทยที่จะต่างกันบ้างก็คือ สยาม โอเชี่ยน เวิลด์ สร้างความเพลินตาเพลินใจจนไร้เสียงต่อต้านจากกลุ่มต่างๆ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.