สคบ.ปรับนโยบายเชิงรุก ลบภาพ "เสือกระดาษในแดนสนธยา"


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคผู้เคยมีฉายาว่า "เสือกระดาษ"

กำลังจะลบภาพเก่าๆ ให้หมดไปทีละน้อย

ด้วยนโยบายเชิงรุก "กันก่อนแก้"

เตรียมดันร่างสัญญามาตรฐานที่เป็นธรรมแก่ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคออกใช้

โดยพัฒนาจากสัญญามาตรฐานเดิม 5 ฉบับที่เคยมีแต่ใช้ไม่ได้ผล

พร้อมๆ กับแผนการเปลี่ยนจากสำนักเป็นกรม

หากร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ผ่านตามเป้าหมาย

เรื่องภาพที่เป็นเสือกระดาษ หรือแดนสนธยา เป็นเรื่องที่สื่อมวลชนมองเป็นกระจกเงาสะท้องมาที่เรา จะให้สคบ.วิจารณ์เองไม่ได้ แต่ตั้งแต่ผมเข้ามาทำเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 ก็พยายามลบภาพลักษณ์เหล่านี้" นายอนุวัฒน์ ธรมธัช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือสคบ. กล่าวถึงภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นกับหน่วยงาน พร้อมทั้งเล่าถึงที่มาว่า

ภาพที่เกิดขึ้นมีองค์ประกอบมาจากครั้งหนึ่งเมื่อสมัยที่สคบ.เป็นเพียงกองคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เพียงกองๆ หนึ่งของหน่วยงานราชการ การให้ข่าวสารจะมีระเบียบของทางราชการอยู่ว่า หัวหน้าหน่วยราชการจะเป็นผู้อนุมัติว่าจะให้ข่าวหรือไม่

แต่ครั้งนั้นผู้อำนวยการกอง หรือมีตำแหน่งข้าราชการระดับ 6 ของกองคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีหน้าที่ให้ความรู้ในการเป็นวิทยากรบรรยายในสถาบันต่างๆ ซึ่งมีการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในระดับอุดมศึกษากว่า 1,000 แห่ง

"ก็มีอยู่คราหนึ่งก็เกิดมีการบรรยายปกติแล้วในการบรรยายก็มีโครงสร้างว่า ปัญหาการทำงานและอุปสรรค ผู้บรรยายในตอนนั้นก็บรรยายว่า ปัญหาก็คือ งบประมาณน้อย คนน้อย เครื่องไม้เครื่องมือไม่ทันสมัย และผู้บังคับบัญชาไม่ค่อยให้ความสนใจ พอมาประเด็นสุดท้าย ซึ่งตอนนั้นบรรยายในโรงเรียนทหารและมีผู้สื่อข่าวไปฟัง ลงหนังสือพิมพ์เขียนไป ก็เป็นเรื่องของงานวิชาการ แล้วทางกองงานโฆษก ก็ตัดข่าวไปให้ผู้บริหารก็กลายเป็นว่าถูกเรียกขึ้นไป หาว่าไปว่า" ผู้อำนวยการสคบ.กล่าว

เมื่อผู้บรรยายถูกตำหนิ ทำให้การทำงานต่อๆ มาจึงเกิดความกลัวเกรงและไม่ค่อยกล้าปฏิบัติและเผยแพร่ข่าวสู่สาธารณชน แล้วทำงานกันไปแบบราชการ นับแต่นั้นมาสคบ.จึงได้ชื่อว่าเป็นแดนสนธยาประกอบกับการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ค่อยมีบทบาทจึงถูกขนานนามต่อไปว่าเป็นเพียงเสือกระดาษ

เพื่อเป็นการลบภาพดังกล่าว ผู้อำนวยการสคบ.กล่าวว่า ภายหลังจากที่เข้ามารับงาน ได้พยายามที่จะเผยแพร่ข่าวสารให้กว้างขึ้นเพื่อไม่ให้เป็นหน่วยงานที่อยู่เงียบจนเรียกเป็นแดนสนธยาเหมือนที่ผ่านๆ มา

"การตำหนิครั้งนั้นผมไม่เห็นด้วย ถ้าเป็นผมๆ พร้อมจะให้ติ แล้วมาในยุคที่ผมเข้ามาดูแลสคบ.ก็มีนโยบาย เผยแพร่การทำงานมากขึ้นในทุกขั้นตอน และพร้อมที่จะให้ตำหนิติชมหากแต่ควรจะมีข้อเสนอและชี้แนะแนวทางมาในข้อตำหนินั้นพร้อมกันด้วย"

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าภาพในอดีตของสคบ.ก็เริ่มจางลงแล้วในปัจจุบัน เพราะมีการเปิดกว้างสู่สาธารณะมากขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นมานาน เพราะการคุ้มครองผู้บริโภคควรจะเป็นเรื่องที่ใกล้ชิดกับประชาชนทั่วไปในฐานะผู้บริโภคนั่นเอง

ขณะเดียวกันนี้สคบ.กำลังอยู่ระหว่างการเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเปลี่ยนบทบาทเป็นกรมให้มีศักยภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่คงจะเข้าสภาในสมัยประชุมวาระที่ 2 ที่จะถึงนี้ และร่างพ.ร.บ.ที่เสนอเข้าไปในครั้งนี้เป็นการเสนอร่วมกัน 3 ฉบับ คือ ของรัฐบาล 1 ฉบับ ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก 2 คนคือนายแพทย์เปรมศักดิ์ เพียยุระ พรรคความหวังใหม่กับสาธิต วงศ์หนองเตย พรรคประชาธิปัตย์

สาระสำคัญของกฎหมาย คือการปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น เช่น มหาดไทย เกี่ยวกับเรื่องอสังหาริมทรัพย์ และในเรื่องของข้อความที่ว่า ผู้บริโภคเดิมมีสิทธิ์อยู่ 4 ประการ ก็จะเพิ่มอีก 1 ประการ คือ สิทธิที่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำสัญญา

"หมายถึง เราจะมีคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ซึ่งเป็นคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง ที่จะกำหนดให้ธุรกิจใดที่มีธรรมเนียมปฏิบัติให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร ก็จะกำหนดให้เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา"

โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีปัญหามาก ซึ่งผู้บริโภคถูกเอาเปรียบในเรื่องการทำสัญญา แล้วในอดีตสคบ.ก็แก้ปัญหาค่อยข้างปลายเหตุมีเรื่องแล้วจึงมาแก้ไข ร้องเรียกเอาค่าชดเชยทีหลัง

ต่อไปนี้เมื่อกำหนดว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญาแล้วร่างสัญญานั้นคณะกรรมการก็ต้องออกกฎหมายมา ซึ่งอาจจะนำสัญญามาตรฐานที่เรามีอยู่ 5 ฉบับ มาปรับปรุงแก้ไข มาจัดสัมมนากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการ แล้วออกเป็นร่างกฤษฎีกาบังคับให้ทุกคนใช้แบบสัญญามาตรฐานที่กำหนดไว้

เพราะปัญหาสำคัญในอดีต ข้อความในสัญญาอสังหาริมทรัพย์จะเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคมาก เช่น ในสัญญาจะซื้อจะขาย จะไม่ปรากฏหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจ ตรงกันข้ามจะกำหนดหน้าที่ของผู้บริโภคว่า เมื่อจ่ายเงินดาวน์เงินงวด เงินมัดจำไม่ตรงตามกำหนดจะถูกบอกเลิกสัญญายึดเงินมัดจำ หรือคิดดอกเบี้ย

"แต่ในกรณีที่ผู้ดำเนินธุรกิจหรือผู้ออกสัญญา ไม่ดำเนินตามกำหนด จะไม่มีข้อความว่าผู้บริโภคสามารถบอกเลิกสัญญา หรือผู้ประกอบการจะต้องคืนเงินดอกเบี้ยหรือต้องเสียค่าปรับ หรือจะต้องทำสาธารณูปโภคเท่าไร จะต้องทำการก่อสร้างเมื่อไร จะแล้วเสร็จเมื่อไร ไม่มีบอก"

ฉะนั้นในร่างของพระราชบัญญัติฉบับใหม่ เมื่อมีคณะกรรมการสัญญาแล้ว จะกำหนด จะมีข้อความสัญญาที่เป็นธรรม เป็นสัญญาสำเร็จรูปที่ทุกบริษัทใช้ และต้องประกาศเป็นกฎหมาย เช่น สัญญามาตรฐาน ก็ต้องออกเป็นกฤษฎีกา เป็นต้น

สำหรับสัญญามาตรฐาน 5 ฉบับที่ออกมาใช้นั้น ผู้อำนวยการสคบ. กล่าวว่า ปัจจุบันเรียกว่าไม่มีประสิทธิภาพในการใช้เลย เพราะว่าผู้ประกอบการจะใช้เฉพาะในสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่หลักในการร่างสัญญามาตรฐาน จะมีพื้นฐานจากการให้ความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย

สัญญาที่ใช้ทั่วไปทุกวันนี้ โดยธรรมชาติผู้ประกอบการจะร่างมาเอง ผู้บริโภคไม่มีสิทธิ์ไปร่างหรือเปลี่ยนแปลงเท่าไร เนื่องจากการบริโภคทรัพยากรอสังหาริมทรัพย์มีจำนวนจำกัด เพราะฉะนั้นผู้บริโภคจะถูกเอาเปรียบร้อยทั้งร้อย แต่ต่อไปคณะกรรมการสัญญา จะร่างสัญญาที่เป็นเหตุเป็นผลขึ้นมา แล้วเป็นร่างสัญญาที่บังคับใช้ตามกฎหมาย

"เมื่อกฎหมายเป็นกฤษฎีกาทุกคนก็ต้องใช้ตามนี้ แต่ต้องให้ผ่านร่างพ.ร.บ.ก่อน แล้วตัวพ.ร.บ.ก็ไม่รู้ว่าจะถูกคัดค้านโดยผู้ประกอบการที่มีอิทธิพลหรือเปล่า แต่คิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร"

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการสคบ.กล่าวว่า สิ่งที่สคบ.ช่วยเหลือผู้บริโภคเป็นการให้ความเป็นธรรม ไม่ได้ไปบังคับผู้ประกอบการ แต่เป็นเพราะปัจจุบันผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบมากไป จึงต้องหามาตรการป้องกันไว้ก่อน เพื่อที่แก้ปัญหาที่สคบ.ต้องมานั่งเจรจาไกล่เกลี่ยที่ปลายเหตุเช่นที่ผ่านมา

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ที่ปรับปรุงแก้ไข ยังสอดคล้องกับสัญญาที่เป็นธรรมของกระทรวงยุติธรรม

สัญญามาตรฐานที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย สัญญาจะซื้อจะขาย สัญญาจอง สัญญาว่าจ้าง สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ดิน อาคารชุด

"มั่นใจได้ว่าสัญญาที่เกินขึ้นจะเป็นธรรมและได้ผลกว่าเก่า เพราะเกิดได้เพราะการระดมความคิดระหว่างสคบ. ผู้ประการธุรกิจในทุกๆ ด้าน นักวิชาการ ตัวแทนผู้บริโภค รวมทั้งมีคณะกรรมการว่าด้วยกฎหมาย คณะอนุกรรมการกฎหมายซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญต่างๆ พร้อมทั้งดูหลักของกฎหมายพ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน ปว.286 โดยยึดถือหลักที่ให้คุณประโยชน์ เช่น พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน พ.ร.บ.อาคารชุด ซึ่งต้องนำมาศึกษาทั้งหมด" ผู้อำนวยการสคบ.กล่าว

พร้อมกันนี้หากผ่านในเรื่องของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ สคบ.ก็จะเปลี่ยนเป็นกรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี แทนสำนักงานที่สังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สคบ.จะมีศักยภาพในการทำงานมากขึ้น รวมทั้งอัตราคนที่จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีเจ้าหน้าที่ประจำสคบ.อยู่ 43 อัตรา ลูกจ้างประจำ 18 อัตราเฉลี่ยพนักงาน 1 อัตรา ต้องรับผิดชอบถึง 3-4 หน้าที่ คือ

หนึ่ง รับเรื่องร้องทุกข์ สอง ตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจ สาม ทำหน้าที่ด้านเลขานุการของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง คณะอนุกรรมการต่างๆ หรือสี่ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือห้า ทุกคนต้องมีหน้าที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

"เราไม่ยอมที่จะทำเท่าที่มี พยายามกระตุ้นให้ทำงาน ทุกวันนี้ ทุกคนจึงทำงานหนัก ในขณะที่กองอื่นๆ อาจจะทำงานด้านเดียว ที่กล้าพูดอย่างนี้ เพราะผมผ่านงานมาแล้ว 4-5 กอง ในทำเนียบรัฐบาล" ผู้อำนวยการสคบ.กล่าว

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า สคบ.มีผลงานเป็นที่น่าพอใจพอสมควรจากการทำงานของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ พร้อมทั้งผลงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จก็มีการเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งบันทึกประวัติบัญชีดำของผู้ประกอบการไว้ โดยเฉพาะในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีสถิติร้องเรียนมาเป็นอันดับหนึ่ง

สำหรับปัญหาที่หากตั้งเป็นกรมแล้ว สคบ.จะหลุดพ้นจากการบีบจากการเมืองเมื่อเป็นกรมหรือไม่นั้น ผู้อำนวยการสคบ.กล่าวว่า

การเมืองจะมีอยู่ในทุกกระทรวง ทบวง กรม เพราะผู้ที่บริหารหรือรัฐมนตรีที่กำหนดนโยบายมาจากการเมือง แต่ว่าในแต่ละกรมจะมีการกำกับดูแลในรูปของคณะกรรมการ มีกฎหมายรองรับอยู่ จึงเชื่อว่าการปฏิบัติตามกฎหมาย ทำตามหน้าที่แล้ว การเมืองคงจะเข้ามาวุ่นวายไม่ได้

แล้วเมื่อกรมได้ตามเป้าหมายแล้วนั้น ในส่วนของผู้บริโภคก็จะได้รับความคุ้มครองมากขึ้น เพราะว่าการทำงานจะทำได้เร็วขึ้น ทั้งในเรื่องของหลักการคุ้มครองผู้บริโภค เรื่องการดำเนินคดีผลประโยชน์ก็จะคืนกลับมาที่ผู้บริโภคได้เร็ว เช่น สินค้าอสังหาริมทรัพย์ ฟ้องเสร็จเมื่อไรได้คืน ได้ก่อสร้างมากขึ้น เป็นต้น

การปฏิบัติในเชิงรุก อีกประการเพื่อที่จะไม่ให้เกิดปัญหามาแก้ทีหลัง เช่น ผู้ประกอบธุรกิจมีการส่งมาขอให้สคบ.ช่วยตรวจโฆษณาให้ จากอัตราที่มีค่าจ้างตรวจ 2,000 บาท สคบ.ก็ทำการตรวจให้ฟรี

"เรื่องนี้ถ้ามีมากก็ไม่ไหว ก็อยากให้ตรวจกันเองบ้าง เพราะเราเองก็ไม่อยากปรับโดยเฉพาะในเรื่องของการโฆษณา แต่กฎหมายก็กำหนดไว้ว่าครึ่งหนึ่งเป็นการรับผิดชอบร่วมกัน ก็เป็นวิธีการทำงานในส่วนของสคบ.ก็มีการปรับปรุงแบบฟอร์มไปมาก ให้ลดขั้นตอนในบางเรื่องที่ซ้ำกันออก ไม่ต้องกรอกเยิ่นเย้อเป็นคนละความ เอาเนื้อความอย่างเดียว แต่ยังก็ต้องมีเอกสารอยู่ก็ต้องทำกันให้ถูกต้อง

ก่อนที่สคบ.จะมีศักยภาพการทำงานภายใต้การเป็นกรมๆ หนึ่ง ทุกวันนี้สคบ.ยังอยู่สังกัดการเมืองคือ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นถ้าย้ายออกมาเป็นกรม

"ตอนนี้แม้เราจะมีนโยบายให้บริการประชาชนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ก็ยังไม่ 100% อาจจะได้สัก 60% ในเรื่องความพอใจ แต่ถ้าเปอร์เซ็นต์ของปริมาณงานที่ทำได้ก็มีถึง 80% โดยสิ่งที่สคบ.เน้นคือการทำงานภายใต้ความซื่อสัตย์สุจริต แม้กฎหมายจะมีช่องให้พบเรื่องไม่ซื่อสัตย์ได้ แต่กล่าวได้ว่าสคบ.ก็ไม่เคยทำอย่างนั้นเลย" ซึ่งคงจะจริงเพราะสคบ.ไม่เคยมีข่าวในแง่นี้เหมือนหน่วยงานอื่น

อย่างไรก็ดี ประชาชนควรจะรับรู้ว่ากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เป็นกฎหมายที่ใช้กำกับดูแล ไม่ใช่กฎหมายควบคุม โดยงานคุ้มครองผู้บริโภคไม่มีเฉพาะสคบ.แห่งเดียว หากยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกมาก แต่อาจจะเป็นทางอ้อม เช่น สำนักงานอาหารและยาซึ่งดูเรื่องยา เครื่องสำอาง อาหาร กระทรวงเกษตรฯดูเรื่องมาตรฐานอาหารพืชและอาหารสัตว์ กระทรวงอุตสาหกรรมดูเรื่องมาตรฐานอุตสาหกรรม กรมที่ดินดูเรื่องการจัดสรร ทุกหน่วยงานทำงานประสานกันในส่วนที่เกี่ยวข้อง

แต่ในเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ยังไม่มีใครดูแลโดยตรงก็เป็นหน้าที่ของสคบ.ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งมาตรา 39 ที่อนุญาตให้สคบ.มีสิทธิฟ้องร้องแทนผู้บริโภคได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีศาลคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง แต่เนื่องจากเรื่องของปัญหาคุ้มครองผู้บริโภคมีตั้งแต่เรื่องเล็กไปเรื่องใหญ่ จึงมีการปรับปรุงวิ.แพ่ง คือ คดีมโนสาเร่ คือคดีที่มีการคุ้มครองทุนทรัพย์ไม่เกิน 40,000 บาท ที่ผู้บริโภคไม่ต้องใส่เสื้อครุยฟ้องร้อง เขียนบรรยายความตั้งทนาย แต่สามารถไปฟ้องร้องปากเปล่าได้เลย เช่น ไปทานอาหารแล้วอาหารเป็นพิษ แล้วแพทย์ตรวจพิสูจน์ได้ว่ามาจากอาหารเป็นพิษ ทำให้เราต้องเสียค่ารักษามีสิทธิ์ได้รับค่าเสียหาย ถ้าไม่ยอมชดใช้จากที่ไกล่เกลี่ยแล้ว ก็ฟ้องร้องดำเนินคดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าคดีระดับไหน หากตกลงกันได้สคบ.จะช่วยเหลือเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้ก่อนทุกเรื่อง

สำหรับงานไกล่เกลี่ยหรือดำเนินการฟ้องร้องผู้ประกอบการ จะดำเนินการได้เร็วหรือช้า ขึ้นกับผู้บริโภคว่ามีข้อมูลพร้อมแค่ไหน โดยเฉลี่ยเรื่องแต่ละเรื่องนับตั้งแต่ผู้มาร้องเรียนจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 1 เดือน ก็จะรับทราบว่าจะเชิญมาตกลงกันได้หรือไม่

"อย่างถ้าจะดำเนินการใดๆ บางครั้งต้องขอที่อยู่ผู้ประกอบธุรกิจ เช็กทะเบียน ใบบริคณห์สนธิ เพราะสคบ.ไม่ใช่รับเรื่องแล้วผ่านไปเท่านั้น ถ้าลูกค้ามีข้อมูลพร้อมก็เร็ว แต่สคบ.เองก็มีปัญหาอยู่บ้างเรื่องการจัดการส่วนนี้ เพราะเครื่องมือการสืบค้นการเก็บข้อมูลเราไม่ทันสมัย แม้แต่คอมพิวเตอร์ เราอยากได้ ของบไปก็ไม่มี เพราะทุกวันนี้รัฐมีงบให้กับสคบ.สำหรับงานประชาสัมพันธ์เผยแพร่เพียง 17 ล้านบาทในปีนี้ เพียงแค่จ่ายงบให้กับงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดละ 50,000 ก็มากแล้ว" ผู้อำนวยการสคบ. กล่าวถึงอุปสรรคในการดำเนินงานได้เร็ว

พร้อมทั้งกล่าวว่าหากเฉพาะเจ้าหน้าที่ของสคบ.แล้ว ถือว่ามีความพร้อมและประสิทธิภาพในการทำงานสูง แต่ถ้าขาดการสนับสนุนเป็นเวลานาน และขาดเครื่องไม้เครื่องมือที่เอื้ออำนวยในการทำงานเช่นนี้นานๆ เจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพก็คงตัดสินใจที่จะย้ายไปหางานที่ก้าวหน้ากว่าที่สคบ.เป็นแน่แท้

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากสคบ.สามารถผ่านร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ได้ตามเป้าหมาย งานคุ้มครองผู้บริโภคคงจะได้รับการแก้ไขตั้งแต่ต้นเหตุ และดำเนินการได้รวดเร็วขึ้นในกรณีที่มีปัญหาได้ดีขึ้นตามหวังหรือไม่ เพราะอย่างน้อยข้อจำกัดเรื่องอำนาจหน้าที่ก็คงมีมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ที่สำคัญหากจะให้ได้ผลอย่างแท้จริง ก็คือ การที่ผู้บริโภคควรจะตระหนักถึงสิทธิของตัวเองอยู่เสมอนั่นเอง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.