|
วัดหัวใจด้วยไฮเทค
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ไม่ใช่เพียงนิยายวิทยาศาสตร์ แต่อีกไม่กี่อึดใจคนไทยบางส่วนจะมีโอกาสได้ใช้เครื่องวัดอัตราการเต้นหัวใจแบบพกพา ที่สามารถส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สายเข้าตรงถึงมือหมอ เพื่อให้หมอช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงให้ทุกวัน
อุปกรณ์ตัวเล็กที่ทำหน้าที่วัดอัตราการเต้นของหัวใจ และปริมาณออกซิเจนในเลือด ซึ่งทำงานด้วยการใช้หนีบที่ปลายนิ้วมือของคนไข้ เพื่อให้ตัวเครื่องปล่อยแสงเพื่ออ่านค่าของ ความเข้มของเลือด ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของ โรงพยาบาลที่มักใช้ทุกครั้งกับคนไข้ที่มีความเสี่ยงหรือมีอาการของโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคปอด ถูกค่ายอิริคสันเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นแบบพกพาเมื่อไม่กี่ปีมานี้
หลังจากที่เปิดตัวเพื่อจะวางขายให้กับโรงพยาบาลอย่างเป็นทางการ ล่าสุดอิริคสันตัดสินใจนำเครื่องรุ่นนี้มาโชว์ให้เห็นศักยภาพและความทันสมัยของตัวเครื่อง บนชั้น 4 ในโชว์รูม AIS Future World ห้างสยามพารากอน
พนักงานสาวของอิริคสันนำอุปกรณ์สีดำ ขนาดเล็กหนีบที่ปลายนิ้วชี้ของตน พร้อมกับคาดสายรัดที่มีสายเชื่อมกับอุปกรณ์ที่ปลายนิ้วเธอบอกว่าเป็นอุปกรณ์บลูทูธ หรืออุปกรณ์ที่ทำ หน้าที่ส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สายที่เรียกว่า "บลูทูธ" ไปยังโทรศัพท์มือถือที่รองรับบลูทูธที่ข้อมือข้างเดียวกันของเธอ เป็นการอธิบายการ ทำงานคร่าวๆ ให้กับ "ผู้จัดการ" ที่มีโอกาสได้ ไปเยี่ยมชมการทำงานของอุปกรณ์ตัวนี้มาแล้ว
อุปกรณ์ตัวเล็กจะทำการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ และปริมาณออกซิเจนในเลือดในทันที เมื่อตัวเครื่องทำงานอุปกรณ์บลูทูธจะส่งสัญญาณไปยังโทรศัพท์มือถือของค่ายโซนี่ อิริคสันที่ตั้งอยู่ข้างๆ ซึ่งได้ลงโปรแกรมการแสดงสถานะการทำงานของอุปกรณ์ตัวนี้เอาไว้ เรียบร้อยแล้ว
ที่หน้าจอโทรศัพท์มือถือในเวลานี้ มีโปรแกรมแสดงสถานะการทำงานของตัวเครื่อง แสดงขึ้นโดยอัตโนมัติ และบอกสีสันว่าตัวเครื่อง ทำงานอย่างเป็นปกติ เมื่อเสร็จสิ้นการวัดค่า โปรแกรมจะทำการต่อเชื่อมกับเครือข่ายจีพีอาร์เอสในโทรศัพท์มือถือ เพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์ เน็ตและส่งค่าดังกล่าวไปยังเซิร์ฟเวอร์ของโรงพยาบาลต้นสังกัดของคนไข้
นอกจากนี้เพื่อให้การประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นถึงมือหมออย่างสมบูรณ์ โปรแกรม ที่ลงในโทรศัพท์มือถือนั้นยังประกอบไปด้วยแบบ สอบถามเพื่อประเมินพฤติกรรมความเสี่ยงเบื้องต้นเอาไว้ให้คนไข้ได้ตอบ และรวบรวมคำตอบทั้งหมดเพื่อให้หมอได้นำไปวิเคราะห์รวมกับค่าตัวเลขที่วัดได้จากตัวเลขอีกด้วย
ในเดือนมีนาคมนี้ ตัวเครื่องจะพัฒนาให้สามารถแสดงค่าของอัตราการเต้นของหัวใจ และปริมาณออกซิเจนในเลือดที่วัดได้เป็นลักษณะกราฟสีสันสวยงามบนหน้าจอโทรศัพท์ มือถือให้คนไข้ได้เห็นด้วยเมื่อเสร็จสิ้นการวัดค่าด้วยตนเองแล้ว
ขณะที่พนักงานของอิริคสันบอกว่า การ พัฒนาต่อยอดของระบบดังกล่าว สามารถทำ ได้แม้กระทั่งการจัดทำเว็บไซต์ให้แพทย์เข้าไป ดึงข้อมูลค่าต่างๆ เข้าอุปกรณ์พกพาของตน หรือตั้งให้ส่งข้อมูลของคนไข้ที่มีปริมาณตัวเลขของค่าอัตราการเต้นของหัวใจ และปริมาณออกซิเจนในเลือดอยู่ในระดับความเสี่ยงไปยังโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์พกพาของตนในทันที ถือเป็นการเฝ้าระวังความเสี่ยงอันจะเกิดขึ้นกับ คนไข้โรคหัวใจ และเบาหวานได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้อุปกรณ์แบบเดียวกัน ซึ่งจะสามารถวัดระดับค่าความเสี่ยงอื่นๆ ให้กับผู้ที่เป็นโรคหัวใจและโรคปอดยังจะมีการพัฒนาออกมาให้เห็นอีกในเร็ววันนี้ และใช้รูปแบบในการทำงานเช่นเดียวกันกับอุปกรณ์ชุดแรก
ล่าสุดอิริคสันเองจับมือเป็นพันธมิตรกับ เอไอเอสในการเข้าไปเจรจากับค่ายโรงพยาบาล ชื่อดังหลายค่าย ไม่ว่าจะเป็นบำรุงราษฎร์ หรือโรงพยาบาลกรุงเทพ ในการเสนอโซลูชั่นในการเฝ้าระวังความเสี่ยงของโรคหัวใจด้วยอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนจะผ่านการพิจารณาจากทั้งสองฝ่าย จนติดตั้งให้คนไข้ได้ใช้งานจริงเมื่อไรนั้น ต้องติดตามกันต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|