ส้มตำเดลิเวอรี่

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ไม่ต้องมีคู่สายมากมาย ไม่ต้องจ้างพนักงานคอลเซ็นเตอร์หลายสิบคนเพื่อคอยรับสาย เพียงโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว กิจการเดลิเวอรี่ก็เกิดขึ้นได้ด้วยมือคุณ

ใครจะรู้ว่าร้านส้มตำ "แซ่บวัน" ข้างปั๊มน้ำมันปิโตรนาส ตรงกันข้ามกับห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ บนถนนรัชดาภิเษก ที่ดูจากภายนอกแล้วเกือบจะเป็นเพิงข้างถนน แต่เจ้าของร้านตกแต่งและแปรสภาพให้ดูดีขึ้น จนมีที่นั่งให้คนเดินผ่านไปผ่านมา และลูกค้าประจำได้จับจองเก้าอี้พลาสติกหลากสีสันเพื่อชิมรสชาติเมนูเผ็ดร้อนของอาหารอีสานแห่งนี้จะทำรายได้หลายหมื่นบาทต่อวัน

สุนทรี แสงพล หรือวัน หญิงสาวที่ผัน ตัวเองจากการประกอบอาชีพลูกจ้างมาเป็นเจ้าของร้านส้มตำบนพื้นที่ริมถนนแห่งนี้มานานเกือบ 10 ปี ต้องรับมือกับจำนวนลูกค้าที่หมุนเวียนเข้ามาใช้บริการพื้นที่ในร้านเพื่อรับประทานอาหารอีสาน ตั้งแต่ 10 โมงเช้าจนถึงเกือบ 3 ทุ่มของวันจันทร์ถึงวันเสาร์ ไม่ รวมวันหยุดเทศกาลที่ร้านจะแจ้งล่วงหน้าให้ลูกค้าได้ทราบก่อนทุกครั้ง

เมื่อสองปีก่อน วันได้ริเริ่มแนวความคิดใหม่ในการทำธุรกิจร้านอาหารอีสานเล็กๆ ของตนนอกเหนือจากแค่การเปิดร้านในตอนเช้า และให้ลูกค้าเข้ามานั่งทานอาหารจนถึงดึก แต่เธอผู้นี้ตัดสินใจเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงอาหารของเธอให้กับลูกค้าที่ไม่มีเวลามานั่งทานอาหารในบางช่วงเวลา และลูกค้าที่ต้องการรับประทานอาหารในบางสถานที่ทั้งในบ้าน และที่ทำงานกับคนรู้จักแทนการเดินทางมาถึงร้านด้วยตนเอง หลังจากเสียงถามไถ่จากลูกค้าที่ต้องการให้ทางร้านเปิดบริการส่งอาหารถึงบ้านหนาหูมากขึ้น

หมายเลขโทรศัพท์มือถือส่วนตัวเพียงหนึ่งเบอร์ของเธอในยามนั้น กลายเป็นหมาย เลขที่ถูกนำมาเขียนไว้ข้างๆ แผ่นเมนูอาหารขนาดใหญ่ข้างฝาร้าน พร้อมกับคำประกาศ เล็กๆ เสนอบริการรับส่งเมนูอาหารตามบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยพ่วงค่าบริการในการรับส่งอาหารตามระยะทางของสถานที่เป้าหมาย

สำหรับลูกค้าที่พบเห็นว่ามีหมายเลขโทรศัพท์มือถือให้ใช้โทรสั่งอาหารในร้านได้เหมือนกับการมานั่งทานเอง แต่บวกค่าแรงในการส่งอย่างคุ้มค่า ก็มักจะบันทึกหมายเลข โทรศัพท์ดังกล่าวติดกลับไปด้วยทุกครั้ง และกลายเป็นหมายเลขโทรศัพท์สำหรับบริการเดลิเวอรี่ของร้านแซ่บวันมาจนถึงทุกวันนี้

"จริงๆ แล้วรายได้ที่มาจากการรับส่งส้มตำถึงบ้านลูกค้าเฉลี่ยแล้วทำรายได้ให้เราเพียงไม่กี่พันบาทต่อวัน เทียบแล้วน้อยกว่าการมานั่งกินถึงร้านของลูกค้าหลายเท่า แต่ว่าก็ช่วยให้ลูกค้าประจำ แม่บ้าน ดาราหรือ ใครอีกหลายคนมีโอกาสได้กินอาหารของทางร้านได้สะดวกยิ่งขึ้น เพราะหลายคนคงอยากจะกินที่บ้าน หรือกับเพื่อนมากกว่าการที่ต้องขับรถมาถึงร้าน บางทีที่จอดรถที่เช่าไว้กับปั๊มข้างๆ ก็ไม่พอ ที่สำคัญคือร้านแคบมาก ที่นั่งมักจะไม่พอในบางช่วงเวลาที่ลูกค้ามากๆ" วันบอกกับ "ผู้จัดการ" ในช่วงเช้าก่อนร้านเปิดให้บริการ ซึ่งเป็นเวลาที่เธอพอจะว่างคุยกับ "ผู้จัดการ" อยู่บ้าง

หลังจากที่ใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือ ส่วนตัวเพื่อให้บริการสั่งอาหารเพื่อส่งถึงบ้านมานานสักระยะ เจ้าของร้านพบว่าสายที่เข้ามา นั้นมีมากจนรับไม่ทัน บางครั้งมีสายเรียกซ้อน ก็ทำให้เสียโอกาสของทางร้าน เธอจึงตัดสินใจ เพิ่มหมายเลขโทรศัพท์อีก 2 หมายเลข และแยกหมายเลขโทรศัพท์ส่วนตัวของเธอออกจาก หมายเลขที่ให้บริการรับสั่งอาหารออกมาต่างหาก

จนถึงทุกวันนี้ทางร้านจึงมีหมายเลขโทรศัพท์มือถือติดที่ข้างฝาร้านแล้วถึง 3 หมาย เลข ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงเย็นจะมีสายเรียกเข้า ของลูกค้าเพื่อสั่งอาหารตลอดทั้งวัน พนักงาน ในร้านและเจ้าของร้านจะสลับสับเปลี่ยนกันรับสายและจดรายการอาหาร แล้วแต่ว่าในช่วง เวลานั้นใครจะว่างจากการดูแลลูกค้าหรือทำอาหาร

วันบอกว่า คนที่สั่งอาหารมีตั้งแต่แม่บ้าน พนักงานออฟฟิศ ไปจนถึงดาราชื่อดัง หลังจากที่รับสั่งรายการอาหารแล้ว พนักงานในร้านจะจัดอาหารและให้พนักงานชาย 2 คน ที่ทำหน้าที่ขับจักรยานยนต์ส่งอาหารถึงบ้านให้กับลูกค้าโดยเฉพาะ

ยิ่งช่วงก่อนเที่ยง หรือช่วงเทศกาลสำคัญๆ เช่นช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา สายจะมาก เป็นพิเศษ เพราะหลายคนต้องการเมนูอาหาร อีสานของแซ่บวันเพื่อไปใช้กับงานเลี้ยงของตน แม้จะวุ่นวายกับสายที่เข้ามาสักนิด แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหากับทางร้านแต่อย่างใด

แซ่บวันเป็นตัวอย่างของการทำธุรกิจขนาดเล็ก ที่หลายครั้งมีข้อจำกัดในการลงทุน ด้านเทคโนโลยี หรือบางครั้งขอบเขตในความ เข้าใจในเทคโนโลยีย่อมมีน้อยกว่าธุรกิจขนาด ใหญ่ หากเทียบกันแล้วธุรกิจร้านอาหารที่ใหญ่ กว่าแซ่บวันอาจจะเลือกบริการรับสั่งอาหาร แบบใช้คอลเซ็นเตอร์นับสิบนับร้อย และเลือก ใช้คู่สายโทรศัพท์บ้านหรือระบบการสั่งอาหาร ผ่านจอคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยกว่ามาก

แต่สำหรับแซ่บวันแล้ว การเลือกใช้โทรศัพท์มือถือที่พกพาติดตัวไปไหนต่อไหนได้ทุกที่ มีพนักงานในร้านหมุนเวียนช่วยกันรับสาย และพนักงานชายอีก 2 คนในการรับส่งอาหารถึงบ้าน นอกจากจะทำให้ธุรกิจของเธอไม่สะดุดแล้ว โทรศัพท์มือถือทั้งสามเครื่องยังเป็นตัวช่วยที่ดีในการสร้างรายได้ส่วนที่เพิ่มขึ้นให้กับทางร้าน แถมยังรักษาฐาน ลูกค้าประจำ ลูกค้าคนสำคัญของร้านตนเองได้อีกด้วย

ผู้บริหารของเอไอเอสท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ในงานแถลงข่าวของตนเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า "คนเป็นตัวแปรสำคัญในการจินตนาการและสร้างให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น แต่เทคโนโลยีเป็นตัวสนับสนุนให้จินตนาการนั้นสมบูรณ์ได้ยิ่งขึ้น" นี่อาจจะเป็นจริงอย่างที่ว่า เพราะยิ่งเห็นตัวอย่างจากการนำมือถือมาใช้ประโยชน์ของร้านส้มตำแซ่บวัน ยิ่งสนับสนุนคำพูดนั้นให้น่าเชื่อถือยิ่งขึ้นไปอีก...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.