เป็นห่วง Non-Bank

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ท่ามกลางผลประกอบการที่เติบโตอย่างน่าตื่นเต้นของธุรกิจ non-bank บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างฟิตช์ เรตติ้ง กำลังเฝ้ามองด้วยความเป็นห่วง

หลายปีมาแล้ว ธุรกิจต่างๆ ไม่เว้นกระทั่งธุรกิจที่เกิดใหม่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำสุดขีดอย่าง non-bank ที่เพลิดเพลินกับการแข่งขันกันขยายพื้นที่ในการทำธุรกิจ จากการหยิบยื่นสินเชื่ออย่างง่ายๆ ให้แก่ ผู้บริโภคระดับล่าง ควบคู่กับการกู้เงินในตลาดเงินและ ระดมทุนดอกเบี้ยราคาถูกผ่านตลาดตราสารหนี้ เพื่อเป็นทุนรอนในการพัฒนาระบบเทคโนโลยี ขยายสาขา และพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อไล่ให้ทันกับคู่แข่ง จนส่งผลให้ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้ ผลประกอบการของกลุ่ม non-bank สามารถเติบโตได้ร่วม 20-30% ต่อปี

แต่แนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่แต่ปลายปี 2547 ทำให้วินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิทช์ เรตติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ชักจะเริ่มเป็นกังวลขึ้นมาแล้วว่า แนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงนี้ และอัตราดอกเบี้ยในประเทศเริ่มปรับตัวขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องนับแต่ต้นปีก่อนนั้น อาจจะส่งผลกระทบกับความสามารถในการจ่ายหนี้ของลูกหนี้ระดับล่าง อันเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่ในกิจการกลุ่มจนอาจจะไปฉุดรั้งความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ

"เราเข้าไปดูจึงพบว่า การให้สินเชื่อในหลายๆ ราย ยังไม่มีความชัดเจน เราจึงเป็นห่วงว่าพวกเขาจะทำธุรกิจที่ได้กำไรมากเท่ากับช่วง 4 ปีที่ผ่านมาหรือเปล่า ในปีหน้าเราเชื่อว่าลูกหนี้กลุ่มนี้จะมีโอกาสการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น" วินเซนต์ให้ความเห็น

รายงานข้อมูลการให้บริการบัตรเครดิตเมื่อสิ้น เดือนตุลาคมที่ผ่านมาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่า ปริมาณบัตรเครดิตที่ออกโดยกลุ่ม non-bank มีทั้งสิ้น 4,867,897 บัตร หรือคิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากเดือนกันยายนประมาณ 1.04% ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตคงค้างของกลุ่มนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 62,633.01 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่ม ขึ้นประมาณ 2.41% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายนที่ผ่าน มา ด้านปริมาณการใช้จ่ายเงินรวมที่ออกโดย non-bank มีทั้งสิ้นราว 18,617.94 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยคือ 213 ล้านบาท หรือเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 1.16%

อย่างไรก็ตาม ความกังวลของวินเซนต์ยังขยายวงออกไปยังกลุ่ม non-bank ที่ให้บริการด้านสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ อย่างไทยพาณิชย์ลิสซิ่ง และไม่เว้นแม้กระทั่งกลุ่มธนาคารพาณิชย์เกิดใหม่เช่นธนาคารทิสโก้ หรือธนาคาร เกียรตินาคิน ที่แม้ว่าจะอาศัยกลยุทธ์ในการจับลูกค้าเฉพาะกลุ่มตามความถนัดของตัวก็ตาม แต่การให้สินเชื่อยังคงกระจุกตัวอยู่ในประเภทใดประเภท หนึ่งมากจนเกินควร

ตลอดปีที่ผ่านมา คนในตลาดได้คาดกันไว้แล้วว่า การกู้ยืมของธุรกิจ ผ่านตลาดตราสารหนี้น่าจะมีต้นทุนเพิ่มจากปีก่อน ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา กลุ่ม non-bank ได้เข้ากู้ยืมเงินในตลาดแห่งนี้รวมกันเป็นมูลค่านับหมื่นล้าน บาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยราวๆ 5% แต่อย่างไรก็ตาม มีการคาดหมายกันจากคนในวงการ non-bank การกู้ยืมในปีนี้ต้นทุนกู้ยืมในตลาดตราสารหนี้ของพวกตนนั้น น่าจะดีดขึ้นไปอยู่ที่แถวๆ 6% เมื่อเทียบจากอัตราดอกเบี้ยที่กองทุนน้ำมันได้ประกาศจ่ายให้แก่ผู้ซื้อพันธบัตรในช่วงที่ผ่านมา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.