|
หุ้นเหล็กตัวใหม่รอเข้าตลาด
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
สหไทยสตีลไพพ์ ผู้ผลิตท่อเหล็กรายใหญ่ของไทยรอจังหวะเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนบุกตลาดต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ
จากจุดเริ่มต้นในปี 2511 ที่มีการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์กว่า 30 ราย เพื่อผลิตท่อเหล็กที่ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตเฟอร์นิเจอร์ ในวันนี้บริษัท สหไทยสตีล ไพพ์ จำกัด (มหาชน) พัฒนามาเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายท่อเหล็กรายใหญ่ที่สุดในประเทศ มีกำลังการผลิตติดตั้งประมาณปีละ 3 แสนตัน และอยู่ในระหว่างเตรียมการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ถึงแม้จะเริ่มต้นจากการผลิตท่อเหล็กสำหรับผลิตเฟอร์นิเจอร์ ปัจจุบันสหไทยสตีล ไพพ์ผลิตและจำหน่ายท่อเหล็กที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยสินค้ามี 3 ประเภทหลักได้แก่ ท่อเหล็กดำ ท่อเหล็กชุบสังกะสีและท่อเหล็กเฟอร์นิเจอร์ ตัวอย่างโครงการก่อสร้างที่ใช้ท่อเหล็กดำและท่อเหล็ก สังกะสีของบริษัท ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน โครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส สนามบินสุวรรณภูมิและ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
ปัจจุบันสหไทยสตีลไพพ์มุ่งเน้นตลาดส่งออกเป็นหลัก มีรายได้จากการส่งออกในสัดส่วน 68% และจากการ ขายในประเทศ 32% โดยสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดใหญ่ที่สุด ในสัดส่วน 45% ของยอดขายทั้งหมด
"เราเริ่มได้รับคำสั่งซื้อจากสหรัฐอเมริกาในปี 2521 หลังจากนั้นเราก็มุ่งตลาดส่งออกมาตลอด" ทวีศักดิ์ ครุจิตร กรรมการ สหไทยสตีลไพพ์กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการส่งออกของบริษัท
การมุ่งเน้นตลาดส่งออกเช่นนี้ทำให้สหสตีลไพพ์ต้องแข่งขันกับผู้ผลิตจากประเทศต่างๆ อาทิ จีน เกาหลี อย่างไรก็ตาม สินค้าของบริษัทถูกเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดของสหรัฐอเมริกาในอัตราเพียง 0.17% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดของผู้ส่งออกท่อเหล็กจากไทย ทำให้มี ข้อได้เปรียบในการแข่งขันกับคู่แข่งจากประเทศดังกล่าวได้
ปัจจุบันตลาดส่งออกของสหไทยสตีลไพพ์ยังได้ขยายไปสู่ยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และบรูไน
ในปี 2547 สหไทยสตีลไพพ์ได้มีการปรับเปลี่ยนโครง สร้างผู้ถือหุ้น โดยกลุ่มผู้ก่อตั้งได้ขายหุ้นให้กับกองทุนบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ (กบข.) ในสัดส่วน 10% และกองทุนเปิดไทยทวีทุน ซึ่งเป็นกองทุนที่ กบข.ร่วมกับรัฐบาลบรูไนอีก 20.1%
"2 กองทุนนี้มีนโยบายที่จะลงทุนในบริษัทที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่มีความพร้อมที่จะเข้าก็ติดต่อมา เราก็เห็นว่าน่าจะเป็นผลดีกับบริษัท"
ข้อดีที่ว่าก็คือ การมีนักลงทุนสถาบันและกองทุน กบข. เข้าถือหุ้นเป็นการช่วยสร้างความมั่นใจในเรื่องการดำเนินงาน ที่โปร่งใสของบริษัท ขณะเดียวกันยังได้อาศัยสายสัมพันธ์ของ กองทุนดังกล่าวในการหาแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำได้ง่ายขึ้น
ถึงแม้จะได้แหล่งเงินทุนใหม่แล้วก็ตาม แต่การที่ราคา เหล็กแผ่นที่เป็นวัตถุดิบสำคัญของสหไทยสตีลไพพ์มีการปรับตัวสูงขึ้น จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศจีน ทำให้มีความต้องการเหล็กเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาเหล็กแผ่นในตลาดโลกจากเดิมในเดือนมิถุนายน 2546 ราคาตันละ 230 เหรียญสหรัฐ ปรับขึ้นมาเป็น 405 เหรียญสหรัฐในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้บริษัทต้องเตรียมเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน มากขึ้น จึงเป็นที่มาของการเข้าระดมทุนในตลาด หลักทรัพย์ฯ
โดยสหไทยสตีลไพพ์จะจัดสรรหุ้น 150 ล้าน หุ้น แบ่งเป็นหุ้นเพิ่มทุน 105 ล้านหุ้น และหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมอีก 45 ล้านหุ้นออกขายในครั้งนี้ เงินที่ได้รับจากการระดมทุนในครั้งนี้จะนำไปใช้ปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อเพิ่มรูปแบบของสินค้าราว 50 ล้าน บาท เป็นการสร้างความหลากหลายให้สินค้าโดยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าท่อเหล็กในปัจจุบัน เช่น การทำท่อเหล็กพ่นสีสำเร็จรูป ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการนำไปใช้งานและยังป้องกันสนิมได้ขึ้น
นอกจากนี้ยังนำไปใช้เพื่อปรับปรุงระบบการจัดจำหน่ายและแผนการตลาด เพื่อรองรับนโยบายการขยายตลาด ทั้งในและต่างประเทศอีก 50 ล้านบาท โดยจะมีการขยายช่องทางการตลาดให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น มีการขยายพื้นที่เก็บสินค้าเพื่อผลิตสินค้าสำเร็จรูปเก็บเป็นสต็อกมากขึ้นเพื่อลดการเสียโอกาสในการขายสินค้าสำหรับตลาดในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามักจะเกิดขึ้นในช่วงที่บริษัทได้รับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าให้กับตลาดในประเทศได้ ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและชำระคืนเงินกู้บางส่วน
"ที่ผ่านมาเราไม่ได้เน้นตลาดในประเทศมากนัก แต่หลังจากนี้เราอยากจะเพิ่มส่วนแบ่งในประเทศให้มากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้แล้วยังเป็นการกระจายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งตลาดสหรัฐอเมริกาด้วย" ทวีศักดิ์กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|