|
Investor's Choice กลยุทธ์ที่ต้องคงไว้
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
โชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย ได้ให้ภาพแนวโน้มรูปแบบการลงทุนของนักลงทุนในปีนี้ว่า ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อพิจารณาถึง core asset class หรือ core portfolio ที่ยังคงหนีไม่พ้น cash, bond และ stock ซึ่งรูปแบบดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นเหมือนๆ กันทั่วทั้งโลก ขณะที่ property fund กองทุนทองคำ หรือกองทุนน้ำมัน ซึ่งเป็นกลุ่ม non-core asset นั้น แม้จะเป็นกลุ่มสินทรัพย์ที่นักลงทุนควรลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง แต่ขนาดของการลงทุนจะไม่ค่อยใหญ่มากนักคือไม่เกิน 5% เป็นอย่างมาก
จุดที่ต่างกันระหว่างนักลงทุนในไทยและนักลงทุนในต่างประเทศคือ การลงทุนของต่างประเทศจะมุ่งเน้นไปยังการลงทุนในหุ้น ขณะที่รูปแบบการลงทุนของคนไทย ยังคงกระจุกตัวอยู่ในพันธบัตรและตลาดเงินมากกว่า จากเหตุผลที่ว่าประเทศไทยมีลักษณะเป็น bank-based economy คนส่วนใหญ่ จึงยังคงปักหลักอยู่ใน fixed income แม้ปัจจุบันอาจจะมีคนจำนวนมากขึ้นที่คิดจะเปลี่ยนรูปแบบการออมจากเงินฝากธนาคารมายัง money market หรือ bond market มากขึ้นแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีคนอีกมากที่ไม่ต้องการออกจากระบบการออมเงินในรูปเงินฝาก เพื่อเข้ามาสู่การลงทุนในแบบอื่นมากนัก
ขณะเดียวกันรูปแบบการลงทุนในกองทุนหุ้นนั้น อาจต้องใช้เวลาอยู่บ้างสำหรับนักลงทุนในไทย เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ของไทยเติบโตขึ้นมาได้จากการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนเป็นหลัก ซึ่งจะต่างจากตลาดหุ้นในต่างประเทศ อย่างเช่นสหรัฐอเมริกาที่ตลาดหุ้นสามารถเติบโตขึ้นมาได้พร้อมกับนักลงทุนสถาบัน หรือรายย่อยที่นิยมเล่นผ่าน mutual fund แต่ก็มีต้นทุนในการลงทุนที่ค่อนข้างสูงอยู่มากสำหรับรายย่อย นกระทั่งเมื่อ 3-4 ปีก่อนหลังระบบอินเทอร์เน็ตขยายตัวเติบใหญ่ สหรัฐฯ จึงได้เริ่มหันมาสนับสนุนการลงทุนโดยตรงในตลาดให้แก่นักลงทุนในประเทศของตน ด้วยหวังว่าการลงทุนผ่านอินเทอร์เน็ต นี้จะมีส่วนช่วยลดต้นทุนในการลงทุนลงได้
"แนวโน้มการลงทุนของคนไทย ก็ยังน่าที่จะเป็นไปในแบบที่เคยเป็นกันมา แนวโน้มปีนี้ก็อาจจะยังเหมือนปีก่อน คือจะมีกองทุนในกลุ่ม non-core asset ออกมานิดๆ หน่อยๆ ต่อย่างไรก็ตาม government bond ยังคงจะเป็นตัวหลัก" กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย กล่าว
แม้ บลจ.ทหารไทยจะยังเดินไปในแนวทางเดียวกับปีก่อน แต่จะมีความพิเศษในแง่ที่ว่า ปีนี้จะต้องมุ่งเน้นการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการประกาศขายหน่วยลงทุนในกองทุนให้ครบทุกรุ่นทุกอายุการลงทุนทั้ง 3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือน
โชติกาบอกว่าการประกาศเปิดกองทุนใหม่ในแต่ละรอบนั้นจะเกิดขึ้นทุกๆ วันศุกร์สุดท้ายของแต่ละเดือน ด้วยหวังว่า การให้กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนแบบนี้ จะช่วยให้นักลงทุน โดยเฉพาะผู้ที่มีพอร์ตการลงทุนมากกว่า 1 สามารถบริหารเงินสด วางแผนการลงทุน และจัดพอร์ตการลงทุนล่วงหน้าของตนได้ง่ายขึ้นกว่าที่เป็นมาในอดีต
กองทุนใหม่ที่ทยอยเปิดตัวตามกำหนดนี้ นอกจากจะถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการช่วยผู้ลงทุนในการวางแผนการลงทุนแล้ว ยังจะถูกนำมาใช้เป็นกองทุนใหม่ทดแทนกองทุนเดิมที่กำลังจะทยอยหมดอายุลงในปีนี้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยรักษามูลค่าสินทรัพย์สุทธิโดยรวมของ บลจ.ทหารไทยในอนาคต
"investor's choice ยังคงเป็นกลยุทธ์หลักที่เราต้องคงไว้ ไม่ได้เปลี่ยนบ่อยๆ เพียงแต่ต้องดูว่าจะออกอะไรมาเมื่อไหร่ เพื่อที่จะทำให้ครบถ้วน" โชติกากล่าว
ตลอดปีที่ผ่านมา บลจ.บัวหลวงออกกองทุนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 7 กอง คิดเป็นมูลค่า ราว 12,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิโดยรวมเขยิบขึ้นไปปิดที่ราว 61,000 ล้านบาท จากเมื่อปีก่อนหน้าที่เคยติดลบ 4,800 ล้านบาท เนื่องจากการควบรวมกิจการของธนาคารทหารไทยเข้ากับธนาคารดีบีเอส ไทยทนุและบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยในปี 2549 บลจ. บัวหลวงตั้งเป้าว่า จะขยาย NPV เพิ่มขึ้นอีกราว 10,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตร่วมๆ 15%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|