ข้อคิดเปิดเสรีการเงินจากจีน


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ธนาคารกรุงเทพได้จัดงานปาฐกถาพิเศษ ชิน โสภณพนิช อนุสรณ์ เป็นกิจกรรมส่งท้ายของปี 2548 ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นรำลึกถึงชิน โสภณพนิช ผู้ก่อตั้งธนาคาร แต่อีกส่วนหนึ่งเพื่อแสดงทัศนะต่อสภาวการณ์ที่มีนัยสำคัญต่อโลกธุรกิจในปัจจุบัน

การจัดงานล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา หลิว หมิงคัง ประธานคณะกรรมการกำกับและควบคุมกิจการธนาคารจีน และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศจีน เป็นบุคคลที่ได้รับเชิญให้เป็นองค์ปาฐกประจำปีนี้ ในหัวข้อ "มิติใหม่ระบบการเงินการธนาคารจีน"

ภายในงานยังมีแขกวีไอพีจากไทยหลายท่านเข้าร่วม อาทิ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, อำนวย วีรวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, สิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสถาพร กวิตานนท์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน

สำหรับไฮไลต์นั้นน่าจะอยู่ที่การให้ข้อคิดในตอนท้ายของหลิว ต่อประเด็นคำถามถึงการแข่งขันของธนาคารในจีน และผลที่จะเกิดต่อท้องถิ่นจากการเปิดเสรี ซึ่งตัวหลิวเองเห็นว่าจีนต้องคิดว่าจะดึงคนดีๆ ที่มีความสามารถในระดับผู้บริหาร หรือ CEO ให้อยู่กับธนาคารนานๆ ได้อย่างไร เพราะพวกเขาเข้าใจดีถึงกฎเกณฑ์การต่อสู้ระหว่างธนาคารในและนอกประเทศ ขณะที่ปีนี้จีนจะลงนามข้อตกลงเปิดเสรีการเงินร่วมกับ WTO เพื่อให้ต่างชาติถือหุ้นธนาคาร ท้องถิ่นในระยะเริ่มต้นที่ 25% บนหลักเกณฑ์การแข่งขันที่เท่าเทียม

ที่ผ่านมามีธนาคารจากไทย 3 แห่งคือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เข้าไปตั้งสาขาที่จีนแล้ว แต่จีนยังจะเปิดให้นักลงทุนไทยถือหุ้นในธนาคารจีนได้มากขึ้นด้วย และเขาเชื่อว่าในอนาคตธนาคารแห่งประเทศจีนน่าจะต้องมีข้อตกลงความร่วมมือกับ ธปท. นอกเหนือจากที่เคยมีอยู่กับหลายๆ ประเทศ เช่น เยอรมนี อิตาลี โปแลนด์ ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

แต่จีนรู้ตัวดีว่ายังมีอีกหลายอย่างที่ต้องปรับปรุง เช่น การจัดระบบประเมินความเสี่ยงภายในสถาบันการเงินตามหลักเกณฑ์แห่ง Basel 2 ที่จะเสร็จสิ้นภายในปี 2012 แต่จากที่เป็นประเทศใหญ่ จีนย่อมมีเรื่องยุ่งยากและท้าทายมากมายในการเข้าสู่การปฏิรูปทั้งในเชิงอุตสาหกรรม สังคม ขณะที่คนต่างปรับตัวกันราวกับหนูถีบจักรที่ไม่อาจจะอยู่นิ่งได้ แต่กระนั้นจีนก็ต้องมี Road Map เป็นของตัวเอง และไม่ทำสิ่งที่ล้ำหน้าจนเกินไป

"จีนไม่ได้รับผิดชอบแต่ตัวเอง แต่ยังต้องรับผิดชอบต่อเพื่อน บ้านในเอเชียด้วย เราคงต้องมาเริ่มคิดถึงข้อได้เปรียบระหว่างกัน เราควรต้องฉลาด เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ในกรณีที่เราไม่สามารถสนับสนุนเอกชนได้อีก เพราะจากที่เราเคยรับจ้างผลิตให้ต่างชาติ เช่น วอลล์มาร์ท หรือโมโตโรล่า ซึ่งเขาเป็นคนกำหนดราคา สิ่งนี้เป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องไปคิดกัน เพราะเราต้องไม่เสียเปรียบ" อดีตผู้ว่าการธนาคารจีนกล่าวตอนท้าย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.