สิ่งทอไทยส่อแววฟื้น


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

สิ่งทอไทยเข้าสู่ยุคมืดมิดเมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ขาดสภาพคล่องจนถูกตัดไฟ

หนทางเยียวยาได้ต้องเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

คาดงบเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่รัฐสนับสนุน 2.5 หมื่นล้านจะช่วยฉุดอุตสาหกรรม 3 แสนล้านนี้ให้ผงกหัวได้อีกครั้ง

ก้าวต่อไปคือการลดภาษีเครื่องจักรและวัตถุดิบให้ทันก่อน 1 ม.ค. ค.ศ.2005 ซึ่งอัตราภาษีนำเข้าสิ่งทอจะเป็นศูนย์

ปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างหนักของบริษัทไทยแมล่อนเท็กซ์ไทล์ จำกัด และบริษัทไทยอเมริกันเท็กซ์ไทล์ จำกัด 2 บริษัทใหญ่ในเครือยักษ์อย่างทีบีไอกรุ๊ป ของนายห้างสุกรี โพธิรัตนังกูร สร้างความสั่นสะเทือนไปทั้งวงการ เมื่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดปทุมธานีได้ทำการตัดการจ่ายกระแสไพฟ้าให้ทั้งสองโรงงานตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 40 ด้วยเหตุผลที่ว่า 2โรงงานดังกล่าวค้างชำระค่าไฟตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนรวมกันเป็นเงินถึง 131 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามในวันที่ 14 พ.ค. บริษัทได้นำเช็คเงินสดวงเงิน 34 ล้านบาทมาจ่ายให้กับกฟภ.แบงก์การันตีอีก 65 ล้านบาท และอีก 32 ล้านบาท กฟภ.ยืดระยะเวลาชำระเงินให้ ขณะนี้กฟภ.ได้ดำเนินการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ 2 บริษัทตามปกติแล้ว

แม้ปัญหาทุกอย่างได้คลี่คลายไปแล้วพร้อมกับความโล่งใจของหลายฝ่าย แต่มันได้กลายเป็นรอยแผลที่ตอกย้ำลงไปในอุตสาหกรรมสิ่งทอว่าเป็นยุคพระอาทิตย์ตกดิน หรือซันเซ็ทอินดัสตรีจริงๆ ภาพพจน์ของอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ชะลอตัวมานาน ถึงคราวตกต่ำสุดขีดก็คราวนี้

อวสานสิ่งทอคุณภาพต่ำ

ความตกต่ำอันเนื่องมากจากภาคเอกชนเองไม่มีการปรับตัวให้ทันกับภาวะการแข่งขันนับเป็นบทเรียนราคาแพงที่ผู้ประกอบการรับรู้กันอยู่ทั่วหน้า สิ่งที่ไทยเคยได้เปรียบไม่ว่าจะในเรื่องค่าแรงงานต่ำ ประสิทธิภาพการผลิตที่ค่อนข้างดีในอดีตนั้น ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็นจีน อินโดนีเซีย หรือเวียดนามได้แย่งชิงข้อได้เปรียบเหล่านี้ไปหมดแล้ว

โดยเฉพาะจีนซึ่งปัจจุบันนอกจากค่าแรงจะถูกกว่าไทยถึง 3 เท่า ประสิทธิภาพการผลิตของจีนก็ยังสูงกว่าไทยอีกด้วย เนื่องจากชาวต่างชาติได้เข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอของจีนเป็นจำนวนมาก ทำให้ทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการถ่ายทอดความรู้ (Know-how) ต่างๆ ไหลทะลักเข้าไปในจีน

เพียงชั่วระยะเวลาไม่กี่ปีปัจจุบันจีนผงาดขึ้นแป้นประเทศผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปรายใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าการส่งออก 23,731 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2537 แซงแชมป์เก่าแก่อย่างอิตาลีไปเกือบเท่าตัว (ดูตารางประเทศผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปฯ)

ขณะเดียวกันตลาดสินค้าคุณภาพต่ำราคาถูกของไทยยอดขายลดฮวบฮาบลงอย่างไม่เป็นท่า จากข้อมูลสถิติในปี 2539 มูลค่าการส่งออกสิ่งทอไทยโดยรวมตกต่ำลง 22,547 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปี 2538 โดยเสื้อผ้าสำเร็จรูปตกต่ำลง 22,144 ล้านบาทและผ้าผืนตกต่ำลง 1,339 ล้านบาท (ดูตารางมูลค่าการส่งออกสิ่งทอของไทย และตารางการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป)

ชวลิต นิ่มละออก นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่มแห่งประเทศไทยกล่าวว่า "ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าในตลาดที่เน้นคุณภาพปานกลางจนถึงสูงคือสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นนั้นตัวเลขการส่งออกรวมยังเป็นบวก แต่ตลาดที่เราตกมากๆ คืออาเซียน ตะวันออกกลาง โปแลนด์ และอื่นๆ ซึ่งเน้นสินค้าคุณภาพต่ำ นี่คือสิ่งที่บ่งชัดว่าสินค้าคุณภาพต่ำ ราคาถูกของไทยไม่สามารถต่อสู้กับประเทศเพื่อนบ้านได้อีกต่อไปแล้ว เราจำเป็นต้องปรับตัวไปทำสินค้าคุณภาพสูง มีการออกแบบที่ทันสมัย"

ชวลิตย้ำว่า ค่าแรงถูกหรือแพงไม่ใช่อุปสรรคที่สำคัญ เขายกตัวอย่างถึงประเทศอิตาลี ซึ่งมียอดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลก ฮ่องกงอันดับ 3 เยอรมนีอันดับ 4 ประเทศเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ค่าแรงงานสูงกว่าไทยทั้งสิ้น

ยกเครื่องใหม่คือทางรอด

อุตสาหกรรมสิ่งทอมีมูลค่าตลาดรวมปีละประมาณ 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นตลาดในประเทศ 1.5 แสนล้านบาท และตลาดส่งออกอีก 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 7-8% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) แต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดรวมมหาศาลเช่นนี้กลับมีเครื่องจักรเก่าใช้งานมากว่า 10 ปี 20 ปี เป็นจำนวนมาก จากการประเมินของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเพิ่งดำเนินงานมาประมาณ 4 เดือนเศษ ด้วยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนพบว่า หากจะเปลี่ยนเครื่องจักรเก่าทั้งหมดในอุตสาหกรรมสิ่งทอขณะนี้จำเป็นจะต้องมีเงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

การเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ หมายถึง เทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ ที่จะทำให้สินค้า มีคุณภาพดีขึ้นเป็นที่ต้องการของตลาด ประหยัดต้นทุน และช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันในอุตสาหกรรมปั่นด้ายมีเครื่องจักรทั้งสิ้น 4,034 ล้านแกน เป็นเครื่องที่มีอายุมากกว่า 10 ปีถึง 70% อุตสาหกรรมทอผ้าซึ่งดูเหมือนจะล้าหลังที่สุด มีเครื่องทอผ้าทั้งหมด 96,916 เครื่อง เป็นเครื่องมีกระสวยมากถึง 80,000 เครื่อง และ 99% ของจำนวนนี้มีอายุมากว่า 10 ปีแล้วทั้งสิ้น ส่วนเครื่องไร้กระสวยมีอยู่ 16,916 เครื่อง เป็นเครื่องเก่าใช้งานเกินกว่า 10 ปีอยู่ 6,147 เครื่อง

ธีรภาพ เอี้ยวพิทยากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมทอผ้า เปิดเผยว่า "เครื่องกระสวยแบบเก่าที่มีถึง 8 หมื่นเครื่องนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องมือสองที่เราไปซื้อต่อมาจากประเทศอื่นซึ่งผ่านมาใช้งานมานับ 10 ปีแล้ว ปัจจุบันเครื่องกระสวยที่ใช้อยู่ในไทยจะมีอายุเฉลี่ยสูงกว่า 25 ปีขึ้นไป"

ข้อด้อยของเครื่องกระสวยคือคุณภาพของสิ่งทอจะไม่สม่ำเสมอ ช้า ขณะที่เครื่องไร้กระสวยจะได้ผ้าที่คุณภาพดี สม่ำเสมอ เร็ว และต้นทุนแรงงานจะถูกกว่าเครื่องเก่า กล่าวคือ เครื่องเก่าจะมีต้นทุนแรงงานเกิน 10% ส่วนเครื่องใหม่จะมีต้นทุนแรงงานประมาณ 2% เท่านั้น อย่างไรก็ตามเครื่องใหม่จะราคาประมาณ 1.5-2 ล้านบาท ส่วนเครื่องเก่าที่ซื้อเมื่อ 5-6 ปีก่อนจะมีราคาประมาณ 5-6 หมื่นบาท

ในส่วนของอุตสาหกรรมฟอกย้อมพิมพ์นั้นก็ไม่น้อยหน้าใคร มีเครื่องจักรเก่าอายุเกินกว่า 10 ปีจำนวนมาก สุรสิทธิ์ ติยะวัชรพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกย้อม กล่าวว่า เครื่องจักรใหม่จะมีระบบการควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ซึ่งมีความเที่ยงตรงมาก ทั้งยังช่วยในการลดต้นทุนวัตถุดิบ ค่าไฟฟ้า และต้นทุนในการบำบัดน้ำเสีย

เขาอธิบายว่า เครื่องโบราณผ้า 1 กิโลต้องใช้น้ำย้อม 20 เท่า ขณะที่เครื่องรุ่นใหม่ใช้น้ำย้อมแค่ 3-5 เท่า เพราะฉะนั้นเวลาในการต้มน้ำก็เร็วกว่า ก็ทำให้ได้รอบในการย้อมเพิ่มขึ้น เวลาย้อมสีเคมีจะขึ้นอยู่กับน้ำ ถ้าใช้น้ำน้อยลงก็ช่วยประหยัดสีเคมีลงไปด้วย นอกจากนี้ยังประหยัดพลังงานเพราะน้ำน้อยก็ใช้ไฟในการต้มน้ำน้อยลง และน้ำเสียที่ออกมาก็มีน้อย ไม่ต้องมาบำบัดกันมาก สิ่งแวดล้อมก็จะดีขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดีเครื่องย้อมรุ่นเก่าแบบผ้า 1 กิโลกรัม ใช้น้ำย้อม 10 กิโลกรัมนั้นราคาเครื่องประมาณ 1.7-1.8 ล้านบาท ขณะที่เครื่องใหม่ใช้น้ำ 3 เท่านั้นราคาประมาณ 7-8 ล้านบาท

การลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่จำเป็นต้องไปด้วยกันตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำอย่างปั่นด้ายไปจนถึงอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม หรือเสื้อผ้าสำเร็จรูป เพราะสินค้าปลายน้ำจะออกมามีคุณภาพดีได้จำเป็นต้องดีในทุกๆ กระบวนการ

ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่มห่ม สิ่งที่จำเป็นอย่างมากในขณะนี้นอกจากจักรเย็บผ้าที่ทันสมัย คุณภาพดีแล้ว ยังจำเป็นต้องมีเครื่องช่วยออกแบบด้วย เพราะการที่อิตาลี ฮ่องกง เยอรมนี สหรัฐฯ ยังสามารถอยู่ในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปอันดับต้นๆ ของโลกได้ในขณะนี้ทั้งๆ ที่ค่าแรงงานสูงมาก นอกจากเรื่องของคุณภาพแล้ว เขายังมีการออกแบบที่ดีมีแฟชั่น และมีการสร้างยี่ห้อหรือแบนด์แนมของตัวเองส่งขายไปทั่วโลก เช่น อิตาลีมีเบเนตองส์ เยอรมนีมีเอสกราด้า ฮ่องกงมี G2000 เป็นต้น

จังหวะเหมาะรัฐเข้าอุ้ม

ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ถึงคราวต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อผลิตสินค้าคุณภาพออกมาสู้กับตลาดโลก คุณภาพจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร และการเปลี่ยนเครื่องจักรจะเกิดได้ก็จำเป็นต้องลงทุนอย่างมหาศาล สถาบันสิ่งทอได้ประมาณการว่า 30,000 ล้านจึงจะเพียงพอในการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ทั้งระบบ

แน่นอนว่าผู้ประกอบการที่ปรับตัวเร็วได้ลงทุนเปลี่ยนเครื่องจักรไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังเหลือผู้ประกอบการอยู่อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะรายย่อยๆ ที่ไม่มีเงินทุนมากพอเพื่อการนี้ นับว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอโชคดีกว่าอีกหลายๆ อุตสาหกรรมในประเทศไทยที่พยายามดิ้นรนกันอยู่ทุกวันนี้เพื่อขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมารัฐบาลประกาศนโยบายชัดเจน โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยให้เงินกู้ระยะยาว ดอกเบี้ยผ่อนปรนเพื่อใช้ในการลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่แก่อุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งระบบ

ทั้งนี้แบงก์ชาติมีวงเงินให้ทั้งสิ้น 6,250 ล้านบาท โดยแบ่งให้กู้ผ่านบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) จำนวน 3,250 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) อีก 3,000 ล้านบาท ซึ่งทั้ง IFCT และ EXIM จำเป็นต้องหาเงินมาสมทบอีก 3 เท่าตัว รวมเป็นเงินให้กู้ดอกเบี้ยต่ำทั้งสิ้น 25,000 ล้านบาท โดยจะแบ่งให้กู้ในปีนี้จำนวน 2,000 ล้านบาท ปี 2541 เป็นเงิน 7,000 ล้านบาท และปี 2542 อีก 16,000 ล้านบาท

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า "เงินนี้ไม่ใช่เงินให้เปล่า ผู้กู้ต้องจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเหมือนทั่วๆ ไป เพียงแต่อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ประมาณ MLR-2.5% เรามีระยะเวลามาตรฐานคือ 7 ปี แต่ถ้าซื้อเครื่องจักรขนาดใหญ่ก็ต่อรองกันได้ การกู้นี้ต้องเพื่อการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่เท่านั้น ฉะนั้นใครจะกู้ต้องขอใบรับรองจากกระทรวงอุตสาหกรรมมาให้ดูด้วยว่านำไปเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่จริงๆ

ทาง EXIM และ IFCT ได้เปิดให้ผู้ประกอบการเสนอเรื่องขอกู้ได้แล้วตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้มีผู้เสนอเรื่องขอกู้เข้ามาเป็นจำนวนมากแต่ยังไม่ได้มีการอนุมัติออกไป เนื่องจากต้องรอใบรับรองจากกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งมอบหมายให้สถาบันสิ่งทอเป็นผู้ดูแล

"คาดว่าปีนี้คงจะมีผู้มาขอกู้จำนวนมาก แต่ยอดเบิกใช้คงไม่มากเกิน 2,000 ล้าน เพราะเหลือเวลาอีกเพียงครึ่งปี แต่ในปีที่ 2 อาจจะมีคนมาเบิกใช้กันมาก 7,000 ล้านบาทอาจจะไม่พอ" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ภายใน 3 ปีนี้เชื่อว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งระบบจะมีการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่เพื่อเข้าสู่ยุคสินค้าคุณภาพมากขึ้น การเข้ามาโอบอุ้มอย่างทันเวลาของภาครัฐคงจะช่วยให้อนาคตของอุตสาหกรรมอาทิตย์อัสดงอย่างนี้ส่อแววสดใสขึ้นมาอีกครั้ง

ลดภาษีเครื่องจักรและวัตถุดิบ อีกก้าวหนึ่งของการแข่งขัน

ปัญหาเรื่องเครื่องจักรเก่า ประสิทธิภาพต่ำถูกแก้ไขไปหนึ่งเปราะด้วยความช่วยเหลือของภาครัฐ แต่บนหนทางอีก 7 ปีเศษที่จะมีการเปิดเสรีสินค้าประเภทสิ่งทอโดยการปลอดภาษีนำเข้าในปี 2005 นั้น การแข่งขันอย่างรุนแรงใกล้จะเริ่มขึ้นทุกขณะ

ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มขยับตัวเตรียมรับการแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศที่กำลังจะทะลักเข้าสู่ไทยด้วยราคาที่ถูกกว่าสินค้าภายในประเทศ ตราบใดที่โครงสร้างภาษีของไทยยังเสียเปรียบคู่แข่งขันอยู่อย่างเช่นทุกวันนี้

สิ่งที่ไทยควรทำให้ได้ก่อนที่ปี 2005 จะมาถึงก็คือ การปรับโครงสร้างภาษีสินค้าทุกชนิดให้เข้ารูปเข้ารอย สอดคล้องกันไปทุกอุตสาหกรรม เพราะที่เป็นอยู่ในขณะนี้คือ สินค้า FAST TRACK ซึ่งอยู่ในเป้าหมายในการลดอัตราภาษีนำเข้าอย่างเร่งด่วนหลายประเภทได้ทำการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าไปแล้ว ขณะที่วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าเหล่านี้ยังไม่มีการปรับลดภาษีนำเข้าทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเหล่านี้มีน้อยลง

สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอ ปัจจุบันประเทศไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่งอย่างมากในเรื่องของภาษีทั้งในส่วนของการนำเข้าอะไหล่และชิ้นส่วนเครื่องจักรอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี สีย้อม และสารเคมีต่างๆ (พิจารณาตารางอัตราภาษี)

สุรสิทธิ์ ระบายว่า "ต้นทุนของฟอกย้อม พิมพ์ แต่ก่อนเราเสียภาษีนำเข้า 30% ต้นทุนของสีเคมีจะอยู่ที่ 50% ของต้นทุนทั้งหมด แต่เมื่อรัฐลดภาษีสีลงมาเหลือ 10% ตอนนี้ก็เป็นต้นทุนประมาณ 40% แต่สำหรับสารเคมีภาษีเรายังอยู่ที่ 30-40% แต่คู่แข่งสำคัญที่สุดของเราคืออินโดนีเซีย ภาษีของเขาไม่เกิน 5% ส่วนใหญ่เป็น 0% ด้วยซ้ำ ถ้ารัฐบาลยังเก็บภาษีแพงขนาดนี้ เรายังไม่ทันชกก็แพ้เขาแล้ว เพราะเหมือนมีเข็มขัดตะกั่วมาถ่วงคออยู่"

แน่นอนว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไปจนกระทั่งถึงปี 2005 ซึ่งเป็นปีที่ปลอดภาษีนำเข้าสิ่งทอ ย่อมเป็นอันตรายต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งระบบ เพราะเสื้อผ้าสำเร็จรูปราคาถูกคุณภาพดีจะทะลักเข้าสู่ตลาดไทย อุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งส่งออกปีละประมาณ 1.5 แสนล้าน นำเข้า 5 หมื่นล้านหรือคิดเป็นรายได้เข้าประเทศสุทธิ 1 แสนล้าน ในทุกวันนี้อาจจะเปลี่ยนสภาพเป็นอุตสาหกรรมที่นำเข้ามากกว่าการส่งออกไปได้ภายในอีกไม่กี่ปีนี้

ชวลิตได้กล่าวอย่างชัดเจนในประเด็นนี้ว่า "สิ่งทอเป็น Fast track ใน 2-3 ปีข้างหน้าเราต้องลดภาษีนำเข้าให้เหลือ 0-5% ถ้าวันนั้นโครงสร้างภาษียังเป็นอย่างนี้อยู่ผมคงจำเป็นต้องซื้อผ้าจากต่างประเทศ ไม่งั้นผมส่งเสื้อสำเร็จรูปขายสู้คนอื่นไม่ได้ เพราะอินโดฯ เก็บค่าวัตถุดิบต้นน้ำ 0% แต่ของไทยเก็บภาษีต้นน้ำ 30% ต้นทุนของผู้ผลิตต้นน้ำก็แพง ท่านจะขายถูกๆ ท่านก็ขาดทุน ท่านก็ต้องขายแพง ถ้าท่านขายตามต้นทุนของท่าน ผมซื้อไปก็ขายแข่งกับอินโดนีเซียไม่ได้"

รวมกันเราอยู่แยกกันเราตาย

สิ่งที่พงษ์ศักดิ์ อัสสกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทยเป็นห่วงอย่างยิ่งในขณะนี้ก็คือภายใน 7 ปีเศษนี้ ทุกอย่างจำเป็นต้องพร้อมสำหรับการแข่งขัน

"ผมมองว่าภายใน 3-5 ปีนี้ ไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้มีความทันสมัย ผลิตสินค้าคุณภาพสู้กับประเทศคู่แข่งได้ และพร้อมๆ กันนั้นรัฐบาลจะต้องปรับโครงสร้างภาษีลงมาให้เราสามารถสู้กับเขาได้ในสนามเดียวกัน ไม่ต้องให้เราได้เปรียบเขาหรอก ขอแค่ให้เท่าเทียมกันก็พอ" พงษ์ศักดิ์กล่าว

สำหรับอีก 2 ปีที่เหลือให้เวลาสำหรับผู้ประกอบการไทยได้ปรับตัวและตั้งรับการแข่งขันอย่างเต็มที่ โดยการปรับปรุงระบบการบริหารงาน การบริหารตลาด เขาเชื่อว่าไทยมีโอกาสขยายตัวไปเป็นศูนย์กลางสิ่งทอได้แน่ แต่สิ่งทอทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำต้องไปพร้อมๆ กัน

ประเทศไทยมีส่วนแบ่งตลาดสิ่งทอทั่วโลกประมาณ 2% แต่ทุกวันนี้ไทยกำลังถดถอยด้วยข้อเสียเปรียบหลายๆ อย่างซึ่งเดิมมันเคยเป็นข้อได้เปรียบ

"ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับปรุง เราต้องเพิ่มมูลค่าสินค้าขึ้นไป ซึ่งพูดง่ายแต่ทำยาก เพราะมันต้องปรับระบบให้เข้ากันแล้วไปพร้อมๆ กัน เราต้องมองว่าขณะนี้ไทยอยู่ในระดับอะไร เรากำลังจะไต่ไปอยู่ระดับอะไร และอีก 10 ปีข้างหน้าจะไปในระดับใด และทั้งขบวนการต้นน้ำถึงปลายน้ำต้องไปด้วยกัน พงษ์ศักดิ์ย้ำ

ไทยจำเป็นต้องมองในด้านการตลาดมากกว่าการผลิต เดิมทีผลิตอะไรออกมาก็ขายได้ ยุคนั้นหมดไปแล้ว เดี๋ยวนี้ผู้ผลิตต้องมาดูว่าตนมีจุดแข็งอะไร แล้วจุดแข็งนั้นมาสร้างเป็นกลยุทธ์ ต้องหาให้พบว่าใครคือคนตัดสินใจ คือคนซื้อของที่แท้จริง ทุกวันนี้ผู้ผลิตไทยยังรับจ้างตัดเย็บ ยังไม่มีแบนด์ของตัวเอง ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไข ขั้นแรกอาจจะเป็นแบนด์ในระดับภูมิภาคขายในจีนและเอเชียก่อน ถ้าสร้างแบนด์ได้จะทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่ม

พงษ์ศักดิ์เปิดวิสัยทัศน์ต่อไปว่า สิ่งที่จะทำให้สิ่งทอไทยอยู่รอดต่อไปได้ สถาบันสิ่งทอจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีระบบ Quick Response หรือ QR ซึ่งหมายถึงตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำจะต้องมีการตอบสนองซึ่งกันและกันให้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้ไม่ต้องมีสต็อกสินค้าเหลือในมือมากนัก ทำให้ต้นทุนลดลง และเวลาตั้งแต่ผลิตต้นน้ำจนเสร็จส่งไปยังตลาดจะเร็วขึ้น

"สิ่งแรกที่ต้องทำคือระบบข้อมูลใครผลิตสินค้าอะไรได้บ้าง ติดต่ออย่างไร เบอร์โทรศัพท์ ต้องสร้างระบบตรงนี้ก่อนจะทำให้ทุกอย่างเร็วขึ้น" พงษ์ศักดิ์สรุป

สิ่งที่ต้องทำอันดับต่อมาคือเรื่องการวิจัยและพัฒนาหรือ R&D วิโรจน์ อมตกุลชัย ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทยอธิบายว่า R&D ทำให้อิตาลีมาเป็นอันดับสองของโลกได้ฮ่องกงเป็นอันดับสาม เยอรมนี เกาหลีใต้ ยังคงอยู่ในอันดับต้น ๆ เรื่องของการวิจัยและพัฒนา เช่น ผ้าที่ทำจากใยสังเคราะห์ ต้องทำให้เหมือนกับผ้าทำมาจากคอตตอนให้ได้ หรือทำให้เหมือนผ้าไหม

"เดี๋ยวนี้เยอรมนีผลิตเครื่องจักรย้อมผ้าได้โดยไม่มีน้ำเสียออกมาเลยหรือไต้หวันเกาหลีเขาผลิตเสื้อกันกระสุน รองเท้าที่กันน้ำแต่ระบายอากาศได้ นอกจากนี้ต้องมีการออกแบบ ดีไซน์ ต้องมีแบรนด์แนม อย่างอิตาลี มีอามานี่ สูทชุดหนึ่งราคา 4 - 5 หมื่นบาท เยอรมนีมีเอสกราด้า ฮูเกอร์ไทยเองไม่ได้หวังไปถึงระดับนั้น แต่เราก็เริ่มมีบ้างแล้ว เช่น TEN & CO พีน่า ฟายนาว เป็นต้น" วิโรจน์กล่าว

สำหรับตลาดโบ๊เบ๊ และใบหยก ซึ่งได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากในปีที่ผ่านมายอดส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ตกต่ำลงกว่า 2 หมื่นล้านบาทนั้น ประมาณ 90% เป็นยอดของตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูประดับล่าง

สาเหตุที่สำคัญก็ไม่พ้นลูกค้าจากตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันออก ซึ่งเดิมจะสั่งซื้อผ่านเอเยนต์ต่าง ๆ มายังตลาดโบ๊เบ๊และใบหยก แต่ในปีที่ผ่านมาลูกค้าเหล่านี้หันไปซื้อสินค้าจากประเทศอินโดนีเซียแทน

ธรรมนูญ วิจิตรวิกรม ผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมชาวโบ๊เบ๊ ให้เหตุผลว่า "เขาไปซื้อที่อินโดนีเซียแทน เพราะที่นั่นชนพื้นเมืองคล้ายแขกอยู่แล้ว สินค้าของเขาค่าแรงก็ถูก แฟชั่นก็ดีในสไตล์แขก ปักเลื่อม ปักมุก"

อย่างไรก็ตามธรรมนูญมองว่าขณะนี้ลูกค้างบางส่วนได้กลับมาตลาดโบ๊เบ๊แล้วโดยมาเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้นได้มาตรฐานมากขึ้น ดังนั้นจำเป็นที่พ่อค้าแม่ค้าในตลาดโบ๊เบ๊จะต้องปรับตัวเองตามไปด้วย

สมาคมชาวโบ๊เบ๊ได้ตั้งทีมเศรษฐกิจขึ้นมาเมื่อปลายปีก่อน เพื่อประสานงานกับภาครัฐและสมาคมสิ่งทออื่น ๆ ในเรื่องเกี่ยวกับการตลาดและเศรษฐกิจ

"ที่ผ่านมาเรามีความรู้สึกว่าโบ๊เบ๊เป็นตลาดผ้าที่ใหญ่ รัฐบาลก็พยายามขอความร่วมมือกับเรา ขอข้อมูลจากเรา แต่เรายังไม่มีทีมนี้ขึ้นมาเพื่อประสานงานกัน ตอนนี้เราได้เริ่มทำแล้วทางกรมพาณิชย์สัมพันธ์กรมส่งเสริมการส่งออกได้เข้ามาช่วยเรามากในเรื่องนี้ พยายามพลักดันเราให้เข้ามาร่วมกลุ่มเพื่อหาลู่ทางที่จะทำให้การค้าดีขึ้นโดยเฉพาะปีนี้ตลาดสิ่งทอถูกเพ่งเล็งมาก" ธรรมนูญ กล่าว

ในระยะหลัง ๆ มานี้ สมาคมชาวโบ๊เบ๊ได้เข้าไปร่วมออกบูธในงานของกรมส่งเสริมการส่งออก ซึ่งนับเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญในการปรับตัวครั้งใหญ่ของตลาดโบ๊เบ๊ และใบหยก ซึ่งหาก 2 ตลาดนี้ปรับตัวให้อยู่รอดได้ ก็จะทำให้สิ่งทอไทยทั้งระบบสามารถไปด้วยกันได้ดียิ่งขึ้น โดยมีแนวคิดที่ว่า สำหรับพ่อค้าต่างชาติรายเล็ก ๆ ที่ต้องการซื้อสินค้าคราวละ 10 - 20 โหล รัฐบาลจะต้องประชาสัมพันธ์ให้คนเหล่านี้มาเดินโบ๊เบ๊ ใบหยก และประตูน้ำให้หมด พอพ่อค้าเหล่านี้สั่งสินค้าไปขายแล้ว ธุรกิจมันไปได้เขาจะสั่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พอโตมากๆ เขาก็เข้าไปสู่อุตสาหกรรมระดับสูง ลูกค้าประเภทนี้ยังมีอีกเป็นจำนวนมากสำหรับที่รัฐบาลจะต้องช่วยเปิดประเทศให้มากขึ้น

ธรรมนูญ มีแผนในระยะยาวว่า "ต่อไปผมต้องการให้มีระบบอินเตอร์เน็ตที่ออกในนามสมาคมฯ แล้วเอาร้านที่อยู่ในโบ๊เบ๊มาลงในเน็ต คุณต้องการสินค้าในเน็ตจะมีสินค้ามีราคาอยู่ สมาคมฯ เป็นตัวกลางในการติดต่อร้านค้า ให้เขาส่งตัวอย่างไปให้ ถึงตอนนั้นใครจะซื้อ 5 โหล 10 โหล เราก็ขายทางเน็ต"

หากอุตสาหกรรมสิ่งทอทุกระดับมีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกัน ร่วมมือกันในการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำบางทีอุตสาหกรรมที่ใคร ๆ ปรามาสกันว่าซันเซ็ทอินดัสตรี้อาจจะมีโอกาสเห็นแสงตะวันขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ทุกอย่างในโลกนี้มันเป็นวัฎจักร มีขึ้นย่อมมีลง เมื่อลงแล้วสักวันก็ต้องมีโอกาสขึ้นมาอีก คนท้อแท้และไม่รู้จักปรับตัวเองเท่านั้นที่ไม่มีโอกาสได้เห็นวันนั้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.