Isan Retrospective กันดารคือสินทรัพย์อีสาน

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"ความกันดารคือบ่อเกิดของ Craftsman Craftsman คือบ่อเกิดของอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมคือบ่อเกิด ของ Sophisticated Capitalism Sophisticated Capitalism เป็นบ่อเกิดของ Post Modern Capitalism ซึ่งกำลังก่อปัญหาให้เกิดกับโลกปัจจุบัน"
นี่คือวาทกรรมทางความคิดของพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานของ TCDC อันเป็นที่มาของงาน Dialectical Exhibition และหนังสือวิเศษที่ว่าด้วย "กันดารคือสินทรัพย์อีสาน Isan Retrospective Deprivation, Creativity and Design" ด้วยวิธีการนำเสนอคอนเซ็ปต์ "เศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์มูลค่า" (Value Creation Economy) ที่มาจากการศึกษาข้อมูลวิจัยเชิงสังคมและเศรษฐกิจของคนอีสานนานกว่า 1 ปีของทีมงาน TCDC

"คนไทยชอบดูมากกว่าอ่าน แต่งานนี้ don't look, you must read" นี่คือข้อสังเกตหนึ่งของพันศักดิ์ที่เฝ้ามองปฏิกิริยาของผู้คนต่อนิทรรศการนี้

ความหมายของการพัฒนาปัญญาแบบ Intellectual skill ซึ่งมาจากวัฒนธรรมสังคมที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจที่เติบโตได้ ดังคำพูดของ ฆวน เอนริเกซ (Juan Enrique) หนึ่งในกรรมการของ OKMD กล่าวไว้ว่า "ประเทศที่มีทรัพยากรก็ไร้ความหมาย ต้องมีปัญญาจึงจะอยู่รอดได้" ที่ติดตั้งไว้ตั้งแต่ก้าวแรกที่จะเหยียบย่างเข้านิทรรศการนี้ เป็นเครื่องหมายของปัญญาอย่างหนึ่ง

"ทำไมถึงต้องอีสาน?" ยี้...บักสิเด๋อ, ไอ้หน้าข้าวเหนียว, กรามใหญ่, ลาว, เสี่ยว ฯลฯ... น้ำเสียงดูถูกที่สะท้อนก้องไปมาในอุโมงค์หลอกหลอนอยู่ในหูผู้ชม ขณะก้าวเท้าเหยียบย่ำลงบนหน้าคนอีสานนับสิบที่อยู่ใต้ฝ่าเท้า... นี่คือ aggressive approach ที่เจาะไชถึงก้นบึ้งใจหลายคนให้รู้สึกผิดที่ดูถูกคนอีสาน

เร่งฝีเท้าอีกก้าวหนึ่ง ก็ปะทะกับภาพเจิดจ้าขนาดใหญ่ของฮีโร่อีสานนับสิบรายรอบ ตั้งแต่ สมรักษ์ คำสิงห์, ชัย ราชวัตร, บานเย็น รากแก่น, ยายไฮ ขันจันทา, พนม ยีรัมย์ (Tony Ja), ไมค์ ภิรมย์พร, สลา คุณาวุฒิ, ดาบตำรวจวิชัย สุริยุทธ คนเหล่านี้ผจญชีวิตต้องสู้และประสบความสำเร็จบนรากฐานวัฒนธรรมความเป็นอีสานที่ชัดเจน มีน้ำอด น้ำทน ยืดหยุ่นและปรับตัวสูง มีอารมณ์ขัน ความเอื้ออาทรและนักสู้

"เกิดมาชีวิตนี้บ่เคยอาย บ่ย่านความอาย ย่านอย่างเดียวคือ อดตาย" นี่คือความจริงที่ยากจะปฏิเสธ

ปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจระหว่างปี 2545-2547 คนอีสานอพยพไปทำงานต่างประเทศ 3 แสนคนและส่งเงินกลับประเทศไทย "วันละ 200 ล้านบาท", หนังเรื่อง "องค์บาก" ทำรายได้นับพันล้านบาท, นางแบบที่ดังในแคตวอล์กต่างประเทศก็เป็นสาวอีสาน และเชฟญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงก็มาจากที่นี่...เหล่านี้คือคนสำคัญที่สมควรจะดูถูกเขาหรือไม่?

ภาพที่น่าประทับใจสุดๆ กับห้องฮีโร่นี้คือ การฉายวิดีโอ "จากลาบถึงซูชิ" เปรียบเทียบกันระหว่างมือที่แล่ชำแหละปลาทำลาบกับมือที่แล่ปลาดิบทำซูชิญี่ปุ่นคือ คนอีสานคนเดียวกัน และที่น่าคิดคือข้อความที่ชี้ให้เห็นว่า กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นได้ใช้พ่อครัวอีสาน 56 คนที่ผ่านการฝึกอบรมที่โรงเรียนสอนทำอาหารชั้นสูงของญี่ปุ่น ก่อนส่งไปประจำสถานทูตญี่ปุ่นทั่วโลก โดยโรงเรียนนี้ตั้งมาแล้วถึง 12 ปี

นี่คือญี่ปุ่น ประเทศที่ได้ประโยชน์เต็มที่จากทักษะของคนอีสานที่สั่งสมจากความยากจนข้นแค้นในดินแดนกันดารแท้จริง แต่ทำไมประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์จากตรงนี้?

ถ้าส้มตำเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมอีสานที่ go inter เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก นิทรรศการนี้ได้แสดงข้อมูลราคาส้มตำทั่วโลกตั้งแต่จานละ 5 บาท, ส้มตำคาราโอเกะ 50 บาท, ส้มตำที่โตเกียว 500 บาท จนถึงราคาแพงที่สุดในโลกที่ลอนดอน จานละ 800 บาท

นิทรรศการนี้ได้ตอกย้ำอีกครั้งถึง Isan in the City ไม่ว่าเราจะกินอาหารชาติไหนๆ ล้วนแล้วแต่ผ่านมือพ่อครัวแม่ครัวอีสานทั้งสิ้น ยกตัวอย่างถนนสุขุมวิท ที่ทุกกิจกรรมการบริการและการค้ามีคนอีสานเป็นฟันเฟืองสำคัญชนิดขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก

เบื้องหลังความสำเร็จนี้คือความกันดารของอีสาน "ในฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย" ข้อมูลศึกษาของทีม TCDC ได้ชี้ให้เห็นว่า คนอีสานมาจากสภาพชีวิตแร้นแค้นบนพื้นที่ 105.9 ล้านไร่แต่พื้นที่เพาะปลูกไม่ได้ถึง 59 ล้านไร่

แต่ภายใต้ความกันดารที่สะท้อนในรูปกระท่อมโทรมๆ ที่เต็มไปด้วยสินทรัพย์มีค่านี้ อีสานมีข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งญี่ปุ่นเอาข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลานี้ไปทำสาเกที่ดีที่สุดเช่นกัน, มีสมุนไพรหลากหลายชนิดที่นำไปปรุงแต่งเป็นยาและเครื่องสำอาง, มีผืนผ้าถักทอลายงดงามที่มาจากแรงบันดาลใจจากลายตุ๊กแกแล้วนำไปขายต่อที่โรงแรมห้าดาวในยุโรป

"เพราะฉะนั้นคำว่า กันดารแปลว่า Sources of creativities คนอีสานเขากันดาร ก็จึงต้องใช้ creativity สูงมาก และต้อง survive ให้ได้ จึงทำให้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมทุกอย่างกลายเป็นสินทรัพย์ นอกจากนี้คนอีสานเป็นคนมีน้ำใจ เพราะน้ำใจเกิดจากการผ่านความรันทดทุกข์ร่วมกันและปริ่มออกมาเป็นสันดาน ซึ่งกลายเป็นสินทรัพย์สำคัญของการท่องเที่ยวไทยปีละ 450,000 ล้านบาท เทียบเท่าการส่งข้าวออก 3 ปี" พันศักดิ์เล่าให้ฟังถึงความหมายของน้ำใจที่เขาบรรจงเขียนบอร์ดขึ้นมาเอง

"คุณรู้ไหมว่า สปาที่ไหนในโลกก็เหมือนกัน แต่สปาไทยไม่เหมือนใคร ตรงที่เรามีสันดานบริการแบบมีน้ำใจไม่ใช่ทำไปโดยหน้าที่ เหตุนี้จึงทำให้สปาไทยดังไปถึงบูลการีที่มิลานทีเดียว"

ตรงข้างๆ เตียงสปา ที่ผนังจะพบภาพหม้อกับข้อความ "หม้อเอ๋ย หม้อไฟ หม้อใครหม้อมัน" แสดงถึงวิถีวัฒนธรรมการกินของคนชาติต่างๆ ที่มีต้นแหล่ง (source) เดียวกันคือหม้อ ไม่ว่าอีสาน-จิ้มจุ่ม, สวิส-ฟองดู, ญี่ปุ่น-สุกี้ยากี้ เหล่านี้สะท้อน Lifestyle is value. ประเด็นคือคนเห็นแล้วคิดต่อได้ไหมว่าจะทำอะไรกับการแตกความคิดสร้างสรรค์แต่ละวัฒนธรรมตัวเองที่วิ่งจากหม้อไปสู่คุณค่าและมูลค่าเพิ่มอย่างไร?

อีกครั้งหนึ่งที่คำว่า "งมงายหรือรู้จักบริหารความกลัว?" กระตุกสมองให้คิดแล่นไปตามภาพการยิงบั้งไฟสู่อวกาศ ที่พันศักดิ์ขอยืมดาวเทียมจากนาซาถ่ายภาพยนตร์ให้เห็นบั้งไฟที่พุ่งออกนอกโลกจริงๆ เทียบกับการยิงจรวดของอเมริกาที่ใช้ความรู้ฟิสิกส์ส่งไปสำรวจอุตุนิยมโลก ซึ่งทั้งคู่สะท้อน "วิธีพูดกับพระเจ้า" โดยที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนอีสานคือ "พญาแถน" ผู้บันดาลความอุดมสมบูรณ์ของข้าวและน้ำ คนอีสานทำบุญบั้งไฟอย่างสร้างสรรค์ มีอารมณ์ขันและสนุกสนาน และกลายเป็นประเพณีที่นำรายได้ท่องเที่ยวปีละหลายร้อยล้านบาท

"If god is not exist, we are necessary to invent him" ของวอลแตร์บนโปสเตอร์ผ้าก่อนพบหน้ากากผีตาโขนนับสิบๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการจัดการความกลัวที่กลายเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวในสัปดาห์เดียวเป็นร้อยล้าน เข้าทำนอง "เชื่อผีแล้วมีเงินร้อยล้าน"

เสียงดนตรีอีสานอันเร้าใจจากห้องถัดมา สร้างบรรยากาศอยากรู้อยากเห็น แล้วก็ต้องตกตะลึงกับภาพถ่ายสักลายกลางหลังขนาดใหญ่ที่มีมนต์ขลังและลวดลายวิจิตร นี่คืออีกหนึ่งวิธีการหาของขลังไว้ป้องกันตัวจากความกลัว เช่น สักขาลาย, ผ้ายันต์ ขณะที่คนรุ่นใหม่จัดการกับความกลัวไม่เท่โดยการสักลายเพื่อความมั่นใจเข้าถึงแฟชั่นของกลุ่มได้

"กลัวเหมือนกัน..แต่ไม่ยักเหมือนกัน" ...เห็นได้จากการแสดงวีดิทัศน์เกี่ยวกับสาวกรุงใส่ชุดตีกอล์ฟครบชุดกับสาวอีสานที่โพกผ้าพันหัวพันหน้า ตั้งแต่เรื่องกลัวดำ กลัวแดด กลัวไม่สวย ฯลฯ

วิธีการจัดการความกลัวแบบ Positive Thinking ของคนอีสาน คือ ปลัดขิก (Phalic amulets) สัญลักษณ์ของเพศชายที่มีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ที่พ่อค้าแม่ขายคนอีสานนิยมวางไว้เรียกลูกค้าเข้าร้านถือว่าเป็น "self help strategy" เทียบได้กับแมวกวัก "มะเนคิเนโกะ" ของญี่ปุ่น ซึ่งนิทรรศการนี้ได้จำลองปลัดขิกอันใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่ม ท่ามกลางพวงมาลัยที่สุมไว้มากมายพร้อมกับคำว่า "ลูบแล้วรวย" ดังนั้น เมื่อเสาหลักปักตรงทางบันไดจึงทำให้หลายคนลูบระหว่างขึ้นไปชมก็พบปลัดขิกอันเล็กอันน้อยแขวนห้อยไว้เต็มผนัง โดยแต่ละชิ้นจะมีคาถากำกับไว้ เช่น ทำมาค้าขึ้น กินดีอยู่ดี ฯลฯ

โดยสรุปหัวข้อความกลัวความเชื่อก็เป็นบ่อเกิดของความคิดสร้างสรรค์ได้เช่นกัน

จากเรื่องความเชื่อ เข้าสู่ความเป็นคนรักบ้านเกิดและเอาญาติพี่น้องของคนอีสานที่มีความคิดสร้างสรรค์ สัญลักษณ์ของหมู่เหล่า สังเกตได้จากงานหัตถศิลป์ทอผ้า ซึ่งลายผ้าทอเป็นเหมือน 'รหัส (Coding)' ให้คนอื่นรู้ว่ามาจากถิ่นกำเนิดใด เช่น ในผ้าฝ้ายมัดหมี่สีสดใสซึ่งชาวไทลาวในอีสานเหนือนุ่งห่ม ที่ต่างกับผ้าขิดไหมสีดำแดงของอีสานกลาง และผ้าไหมแพรวาโทนสีน้ำตาลของอีสานใต้ที่ได้รับอิทธิพลจากเขมร ดังนั้นความเข้าใจที่ได้จากนิทรรศการนี้จึงมีค่ามากกว่าคำชมว่า "ผ้าสวยจัง!" เมื่อเราเข้าใจวิถีและวัฒนธรรมที่นำไปสู่การตีความที่ถูกต้อง

เสียงฉิ่งฉับขยับดังเมื่อก้าวเท้าขึ้นรถทัวร์ บขส.สีส้ม ชื่อว่า "รถสายโทรคมนาคมแห่งชีวิต" ที่สัมผัสบรรยากาศได้อารมณ์ลูกทุ่ง จริงๆ โดยที่เบาะนั่งของเก้าอี้ยาวท้ายรถมีลายพิมพ์ธนบัตรนานาสกุลต่างชาติ จากการวิจัยของ TCDC พบว่า

"ผู้หญิงอีสานแต่งกับชาวต่างประเทศแล้วทุกคนส่งเงินกลับมาช่วยครอบครัวพ่อแม่ปีละ 4,000 ล้านบาท เพราะพวกเธอยังรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนบ้านเกิดอยู่" นี่คือลักษณะเฉพาะของคนอีสานที่มีกลุ่มชุมชนแข็งแรง

ทันทีที่ก้าวลงมาก็พบหิ้งโชว์สินค้าอีสานส่งออกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น แมลงกระป๋องที่ส่งออกเกาหลีใต้ หรือขนมขบเคี้ยวยี่ห้อ Prez ที่มีรสลาบ ฯลฯ

จากรถสีส้มสู่การแสดงความบันเทิงพักผ่อนหย่อนใจของคนอีสาน ซึ่งเป็นตลาดรายได้ที่หล่อเลี้ยงแกรมมี่ให้อยู่ได้ ภายในนิทรรศการนี้มีหนังกลางแปลงเรื่อง "องค์บาก" ฉายให้ดู จากนั้นจะพบกับห้องที่เต็มไปด้วยสติกเกอร์คำพูดต่างๆ นานาแปะผนังเพียบ แต่ที่น่าดูคือการเปรียบเทียบระหว่าง 2 จอ ภาพวงดนตรีหมอลำซิ่ง กับละครเร่ของอังกฤษที่เต้นกินรำกินเหมือนกัน แต่สิ่งที่เป็นประเด็นที่พันศักดิ์ยกมาพูดให้คิดคือ "ทำไม wander wheel ของอังกฤษจึงตายไป ขณะที่ของอีสานกลับเจริญรุ่งเรือง ปีหนึ่งๆ ทำรายได้เป็นพันล้านบาท?" จากนี้เขายังชี้ให้ดู "DVD ดนตรีอีสาน" ซึ่งพันศักดิ์ซื้อมาจากลอนดอนในราคา 18.75 ปอนด์ โดย Washington State Rock Group ยกกองถ่ายไปอีสานแล้วผลิต DVD นี้ออกขายไปทั่วโลก

ยังไม่หมด ความบันเทิงอย่างหนึ่งของอีสานคือ "คำสอยหรือ Carmina Burana ของฝรั่ง" เป็นมุกปาฐะสรรพลี้หวนมีแง่ง่ามสัปดี้สัปดนหยาบโลน แถมคนจัดนิทรรศการยังให้อารมณ์ขันใส่ลงไปด้วยการเจาะรูให้ผู้ชมแอบมองด้วยพร้อมกับคำห้ามคนดัดจริตดู ท่ามกลางห้องขาวโพลนที่กรุกระจกทั้งบนและล่าง การเข้าถึงบุญแบบอีสานก็เป็นปรากฏการณ์ที่น่าพิศวง เมื่อเห็นภาพ "วัดล้านขวด" ที่พระได้รับบริจาคขวดเบียร์จากผู้มีจิตเป็นกุศลอยากจะให้งานก่อสร้างอุโบสถลุล่วงสำเร็จด้วยดี พระท่านก็อนุโมทนาบุญ แม้การกินเหล้าจะผิดศีลก็ตาม เป็นลักษณะหนึ่งของคนอีสานที่มองโลกแบบเป็นจริงและเข้าใจตีความความขัดแย้งระหว่างบาปกับบุญแบบไม่ยึดติด การเสนอเช่นนี้จึงเรียกว่า "Paradox of Vice and Virtue"

วิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อกับกระบวนการวิธีการจัดการอย่างเหมาะสมของคนอีสาน ดังที่ปรากฏในนิทรรศการนี้สรุปด้วย keyword ว่า "Value Creation" ที่มีสมการ ทักษะ + เทคโนโลยี + คุณค่าวัฒนธรรม = Value Creation ซึ่งวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ลอกเลียนแบบกันไม่ได้ แต่เราสามารถนำเอาวัฒนธรรมมาต่อยอดเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการได้

เฉกเช่นเดียวกับคุณค่าของนิทรรศการนี้ ที่แสดงให้เห็นศักยภาพทางปัญญาของทีมงานหนุ่มสาว TCDC ที่นำโดยพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เจ้าของความคิด "กันดารคือสินทรัพย์" ที่ใช้งบลงทุนทั้งงานวิจัยและสร้างนิทรรศการนี้มูลค่า 10 ล้านบาทในระยะเวลากว่าปี สร้างนิทรรศการที่เปิดมิติสมองให้กว้างและลึกเชื่อมโยงระหว่างองค์ความรู้ทั้งมานุษยวิทยา-สังคมวิทยา-เศรษฐศาสตร์ เข้าด้วยกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ถือเป็น World Dialectical Exhibition ประเดิมงานแรกของ TCDC ที่ทีมงานตั้งใจสร้างสรรค์สมดัง 5 ประโยคที่ปิดท้ายการชมนิทรรศการอีสานนี้ไว้ด้วย 5 หลักคิดดังนี้

1. Think out of box...Innovate constantly.

2. Reinterpret yourself...Adapt to new consumption trends and behaviors.

3. Built on what you have...Build on top of your existing cultural strength.

4. Know how you think...Interpret the uniqueness of your culture, beliefs and assumptions.

5. understand your life...Identify the comparative advantaes of your lifestyle and context.


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.