Thailand Creative & Design Center โอเอซิสแห่งปัญญาชนสยาม

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ตั้งแต่เช้ายันค่ำ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เฝ้ามองปฏิกิริยาของคนที่เดินเข้ามาที่ "ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ" (Thailand Creative & Design Center : TCDC) ซึ่งอยู่บนชั้น 6 ห้างเอ็มโพเรียม

ผลงานสร้าง TCDC ในมิติสร้างสรรค์ของชายผู้ทรงปัญญาวัย 60 คนนี้ ทำให้เขาดูราวกับเป็นหนุ่มอีกครั้งหนึ่ง ขณะใช้สมองและจิตใจตื่นเบิกบานกับการรับรู้พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ผู้เป็นสมาชิก TCDC ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 1,000 คน ภายใน 3 สัปดาห์

"ผมมีหน้าที่ทำให้ TCDC เป็นแหล่งมั่วสุมทางปัญญาของเด็กไทยที่มีปัญญายุคใหม่" พันศักดิ์กล่าว

ผู้มาเยือนหลายคนคาดไม่ถึงว่า นี่คือหน่วยงานหนึ่งของรัฐบาล ที่แสดงความก้าวหน้าของกระบวนการให้ความรู้ความเข้าใจดีไซน์ระดับ World Class ที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ทุกตารางนิ้วโปร่งใส บนพื้นที่กว่า 4,000 ตร.ม. จัดแบ่งพื้นที่เป็นห้องสมุดใหญ่ (Design Resources Library), พื้นที่ห้องพิเศษคือ ศูนย์วัสดุเพื่อการออกแบบ Material ConneXion Bangkok แห่งแรกในเอเชีย, พื้นที่ Exhibition ที่ใช้มาตรฐานระดับมิวเซียมโลก, Gallery กับคำถามกระตุกต่อมคิด What's design, TCDC Shop ที่ขายแรงบันดาลใจในสินค้า, Member Lounge ที่สะสมหนังสือหายาก รวมถึงพื้นที่ในมุมพักผ่อนฟังเพลงแจ๊ซและดื่มกินกาแฟอาหารของ greyhound cafe ที่แต่งเหมือน food lab รวมถึงห้องน้ำที่สะอาดสดชื่นด้วยสมุนไพรไทยและโอโซน ที่สามารถฆ่าเชื้อโรคทุกชั่วโมง

"เราใช้เวลา 11 เดือนทำขึ้นมา และก่อนวันเปิด 2 วัน เจ้าของ Ferragamo ได้มาเยี่ยมชมและบอกว่า It's a world class center" พันศักดิ์เอ่ยไว้ในตอนหนึ่งในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548

ความเป็นมาของ TCDC ถือเป็น 1 ใน 8 แท่งภายใต้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) หรือ OKMD (Office of Knowledge of Management and Development) ประกอบด้วย TCDC, อุทยานการเรียนรู้ (TK Park), สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้, ศูนย์คุณธรรม, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์, ศูนย์กลางการเรียนรู้ ICT, สถาบันวิทยาการการเรียนรู้ และศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ

"ผมเรียกทั้งหมดนี้ว่า Intermediate Infrastructure ที่เป็นโครงสร้างที่จะหิ้วประเทศไทยผ่านสถานการณ์ไปได้คือ เราต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยและกระบวนการหาความรู้ของเด็กไทยให้ทันกับความใหญ่ขึ้นของเศรษฐกิจจีนและอินเดียภายในเวลาไม่เกิน 7 ปี" พันศักดิ์ย้ำถึงเวลาที่มีเหลือไม่มากนัก

"สิ่งสำคัญคือการส่งออกและคุณภาพสินค้าบริการของไทย ต้องนอกเหนือจากการเอาชิ้นส่วนมาประกอบกันเพื่อส่งขายแบบขายแรงงานไทย ดังนั้นไทยต้องสร้าง Value Creation Economy สร้างคุณค่าเพื่อเสริมมูลค่าของการส่งออกของไทย เพราะการแข่งขันเรื่องแรงงานราคาถูกเริ่มเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว" พันศักดิ์ชี้แนะต่อไปว่า

"แต่เราจะต้องสร้างมาร์จิน ซึ่งเกิดจากกระบวนการที่สำคัญมากคือ การออกแบบของตัวเอง และใส่เทคโนโลยีที่เหมาะสมในกระบวนการออกแบบของตัวเอง ทั้งสองอย่างนี้ต้องมีถึงจะอยู่ได้ TCDC จึงมีหน้าที่สร้าง Value Creation และมีหน้าที่ให้ท่านรู้จักตัวเองในฐานะ Creative People" พันศักดิ์เอ่ยอย่างจริงจังถึงภารกิจสร้างความรู้อย่าง เข้มข้น เพื่ออนาคตของเศรษฐกิจที่พลวัตไปกับกระแสโลกสมัยใหม่

TCDC ตั้งด้วยงบประมาณจริง 200 ล้านบาทหรือเพียง 1 ใน 6 ของการตั้ง Esplanade ของสิงคโปร์ ซึ่งใช้เงินมากถึง 1,221 ล้านบาท ต้องถือว่าเป็นการลงทุนอย่างเข้มข้นเพื่ออนาคต (ดูตารางประกอบ)

หากนิยามวิธีการหาความรู้แบบใหม่ที่ไม่เพียงหาอ่านจากหนังสือต่างประเทศที่ TCDC คัดสรรมาให้อ่านไม่ต่ำกว่า 15,000 เล่มในสารบบ 8,000 items โดยจัดเมนูสมอง ที่เอาผู้อ่านเป็น center พร้อมกับสร้างห้องสมุดมีชีวิตชีวาด้วย Multi Media ในรูปภาพยนตร์ วีดิทัศน์ ที่มี content ที่ย่อยความรู้ให้ดูเข้าใจง่ายในเวลาสั้นๆ

ทั้งยังมีผลงานออกแบบระดับโลก เช่น เก้าอี้ของสุดยอดนักออกแบบที่เคยเรียนแต่ในหนังสือ แต่ถ้ามาที่ TCDC ได้สัมผัสจริงๆ ด้วยมือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็เป็น กระบวนการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ทางตรง ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาปัญญายิ่งกว่าที่เคยเป็นมา

TCDC จึงมีหน้าที่กระตุ้นต่อมคิดให้รู้จักทุกคนรู้จักตัวเองและปลดปล่อยจินตนาการและพลังสร้างสรรค์อย่างกล้าคิดนอกกรอบ ชนิดที่ "Dance with your imagination and change your life"

ก่อนหน้าที่ TCDC จะเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการทำกิจกรรม Pre-launch ด้วยการเชิญ Francesco Murace จากสถาบันชั้นนำอย่างDomus แห่งอิตาลี มาเลกเชอร์ให้ฟังถึง Customer and Behavior เบื้องหลังความคิดสร้างสรรค์ออกแบบที่มาจากงานวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค

และอีกกิจกรรมแนะนำตัวในงาน BIG ที่เมืองทองธานี ซึ่ง TCDC ได้เปิดบูธ มีคนสมัครสมาชิกถึง 200 คน ค่าสมาชิกสำหรับนักศึกษาและข้าราชการปีละ 600 บาท ส่วนประชาชนทั่วไปปีละ 1,200 บาท ถ้าทำเป็นกลุ่มมีส่วนลดให้ ขณะที่สมาชิกประเภท Silver ปีละ 3,000 บาท และประเภท Platinum ปีละ 12,000 บาท ซึ่งได้สิทธิพิเศษมากในการเข้า ใช้ศูนย์วัสดุเพื่อการออกแบบ Material ConneXion ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ก และในมิลาน โคโลญ และกรุงเทพฯ เป็นแห่งที่ 4 ของโลก

"เราหวังว่าภายในสิ้นปี 2548 จะมีสมาชิก Material ConneXion 50 คน เพราะคนกำลังขาดน้ำเหมือนอยู่กลางทะเลทราย ขนาดเรายังไม่เปิด TCDC คนยังยอมจ่ายค่าสมาชิกก่อนเลย ทั้งๆ ที่ราคาค่าสมาชิก Material Conne-Xion นี้ไม่เบานะ แต่ผมเสียดายคือ สมาชิกคนแรกของ Material ConneXion นี้เป็นชาวสิงคโปร์ แต่ผมก็ดีใจที่ได้เห็นพ่อโทรหาลูกเพื่อกรอกใบสมัครให้ลูก สิ่งเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของดีมานด์" พันศักดิ์เล่าให้ฟัง

ด้วยคอนเนกชั่นอันกว้างและลึกของพันศักดิ์ ทำให้ TCDC ภายใต้การนำของเขา สามารถนำโลกแห่งความรู้ประสบการณ์ด้านสุนทรียศาสตร์มาให้ผู้มีปัญญา โดยไม่ต้อง เสียเงินบินไปเอง

"ระยะเวลาที่เปิด 20 วัน เรามีสมาชิก 1,100 คน ส่วนใหญ่ก็เป็นนักศึกษา ซึ่งเดิมทีเราเห็นเขาอยู่ด้านร้านหนังสือคิโนคูนิยะ หรือเอเชียบุ๊ค แต่ที่นี่พวกเขาได้ทำงานค้นหาหนังสือหรือ role models ที่เขานิยมทำงานกันเป็นกลุ่ม เราจึงเป็นที่ที่ให้เด็กมีโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัวองค์ความรู้เป็นทุนสมบัติของเขา โดย TCDC มีส่วนร่วมในกระบวนการ เรียนรู้ เราคาดหวังว่า จะเป็นแหล่งที่พึ่งสำหรับคนที่มีความ คิดสร้างสรรค์ ถ้าคิดอะไรไม่ออก มาที่ TCDC เขาจะได้แรงบันดาลใจสักอย่างกลับไป" ไชยยง รัตนอังกูร ซึ่งรักษาการ Managing Director TCDC เล่าถึงภารกิจต่อกลุ่มเป้าหมายที่จะเป็น Knowledge worker ในเศรษฐกิจสังคม ไทยในอนาคต

ถึงแม้ประเด็นความก้าวหน้าในระบบการผลิตของไทย คือ การเคลื่อนเข้าสู่ยุคใหม่ของทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 จากการรับจ้างผลิต OEM ไปสู่ ODM ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยน ยุคประวัติศาสตร์อีกบทหนึ่ง ซึ่งสืบเนื่องจากทักษะและเทคนิคการผลิตผสมผสานกับวัฒนธรรมที่ล้ำค่าที่สามารถทำให้การผลิตไม่ใช่เพียงแค่สินค้าใช้สอยธรรมดาๆ แต่สามารถมีค่าในระดับงานศิลปะ ซึ่งมีการรับประกันคุณภาพสินค้าได้อีกด้วย

คำถามใหม่ของสังคมไทยว่าควรจะเดินไปทางไหนและแตกต่างจากความต้องการประสบความสำเร็จเดิมอย่างไร ท่ามกลางข้อขัดแย้งจากการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ของคนในสังคมที่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองไทย

ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจไทยปี 2540 ได้ทำลายโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง และปรากฏ ชัดเจนในหายนะของชนชั้นกลางกับปรากฏการณ์ "แบงก์และ ทรัสต์ล้ม" ที่ทุบความเชื่อดั้งเดิมทิ้ง การอยู่กับความไม่แน่นอน กดดันให้คนไทยทุกชนชั้นต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ด้วยธุรกิจเล็กๆ ที่เกิดจากคุณลักษณะเฉพาะตัวและความสามารถ สร้างตลาดใหม่ที่ตนเองสามารถเติบโตได้ด้วยสติปัญญาความรู้ความสามารถของตัวเองได้ ส่งผลให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถทนกับการเป็นคนในระบบการทำงานแบบเดิมได้ ยิ่งได้เห็นตัวอย่างนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จด้วยตัวเอง ยิ่งทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่นี้ต้องการหลุดจากพันธกิจเดิมสู่การแสวงหาความสำเร็จด้วยมือตนเองมากขึ้น

ความสำนึกเชิงปัจเจกชนตรงนี้ ทำให้บทบาท TCDC เด่นชัดขึ้น ในฐานะแหล่งขุมทรัพย์ใหม่ทางปัญญา (Resource Center) แต่ทางเลือกของสังคมแห่งปัญญาในระบบเศรษฐกิจ ปัจจุบัน ก็ขึ้นอยู่กับประวัติทางปัญญาที่ดำเนินมาของแต่ละบุคคล ซึ่งมีส่วนปฏิสัมพันธ์กับพลวัตของระบบเศรษฐกิจสังคมไทย

ยกตัวอย่างกรณีของดวงฤทธิ์ บุนนาค เจ้าของบริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค ผู้ออกแบบ TCDC โปรเจกต์นี้ เขาเป็นสถาปนิกหนุ่มดาวรุ่งที่มีสไตล์ของตัวเอง ความมั่นใจและกล้าคิดกล้าทำตามจินตนาการ ทำให้ผลงานออกแบบของ เขาเป็นที่ยอมรับของ TCDC ด้วยงบสร้างและออกแบบ 70 ล้านบาท ที่มีมาตรฐานระบบแบบ Museum ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ไฟ, ระบบควบคุมอุณหภูมิ

"จริงๆ โปรเจกต์นี้ทำงานอยู่ 2 ปี ออกแบบอยู่ 2 ครั้ง ตอนเริ่มดีไซน์ เรามีคนช่วยทำโปรแกรมจำลองก่อนคือบริษัท LORD จากนั้นเราก็ช่วยกัน develop program ศึกษาเรื่องพื้นที่ ออกแบบภาพรวมทั้งหมดและแบบแยกส่วนก่อนหลัง ให้ตายเถอะ...ผมว่าโปรเจกต์นี้ดีจริงๆ ทำงานแล้วภูมิใจ เพราะผลลัพธ์มันไม่ใช่แค่รูปสวย แต่ภายในมีระบบงาน management ศูนย์นี้ได้ดีมาก ผมคิดว่า นี่ไม่ใช่โปรเจกต์หาเสียง แต่เป็นโครงการที่มีพัฒนาการที่สามารถ sustain เพียงพอจะทำให้เด็กไทยฉลาด นี่เป็นattitude ที่ดีมากของอาจารย์พันศักดิ์ ซึ่งเป็นคนฉลาดแบบอัจฉริยะจริงๆ" ดวงฤทธิ์เล่าให้ฟัง

ด้วยโทนออกแบบของสีเป็นดำตัดกับพื้นไม้สนสีขาว ดวงฤทธิ์กล่าวว่า โทนสีดำเป็นการแก้ปัญหาทางเทคนิค จาก ส่วนอาคารเดิมที่มีโครงสร้างผนังจำนวนมากยากต่อการรื้อ จึงใช้สีดำดึงความรู้สึกให้ลึกลงไป ส่วนพื้นไม้สีขาวช่วยขับสีดำให้เด่นขึ้น และให้ feeling เวลาเดิน พื้นทั้งหมดเป็นไม้สนราคาถูกจากสวีเดน แต่ให้พื้นผิวพิเศษมีตาไม้ซึ่งคนไทย ไม่ชอบใช้ แต่มันทนทานและราคาถูกกว่าไม้ไทยมากหลายเท่า

ความทันสมัยที่เข้ากับคอนเซ็ปต์ของ TCDC มีโลโกเป็นขนมสอดไส้ เป็นผลงานออกแบบสร้างสรรค์ของ Richard Stein ซึ่งเคยเป็น creative director ที่บริษัท Interbrand (Japan) และบริษัท Enterprise IG (Japan) มาก่อน

Richard ได้แรงบันดาลใจจากป้าขายขนมใกล้คอนโด มิเนียมแถวสุขุมวิท ใบตองที่เจียนอย่างประณีตหุ้มห่อขนมรสอร่อยให้อยู่ในทรงสามเหลี่ยม ถือเป็นภูมิปัญญาไทยที่งาม แต่เรียบง่าย

ขณะที่ภาณุ อิงคะวัต พร้อมกับ พรศิริ โรจน์เมธา มีความเห็นร่วมกันที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของ TCDC ในฐานะเจ้าของ greyhound cafe ซึ่งเหมือนห้องครัวในบ้าน คือมาดูหนังสือแล้วพักทานข้าว ดื่มกาแฟ ก่อนจะกลับไปค้นคว้าในห้องสมุด

"ร้าน greyhound cafe เป็นร้านของคนไทยและมี branding ผสมกับความคิดสร้างสรรค์และความสำเร็จต่างๆ อาหารของเราไม่ธรรมดา เรามีรูปแบบการ present รสชาติ ต่างๆ และเป็น Thai Contemporary ที่เหมาะสมกับชีวิตคนยุคใหม่ ทาง TCDC เขาก็ชวนให้เรามาร่วมตรงนี้" พรศิริ เล่าให้ฟัง

"แม้ว่าในแง่ธุรกิจ เปิดร้านที่นี่อาจไม่คุ้ม แต่ผมยังชอบ ที่นี่และอยากเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ เราชื่นชมโปรเจกต์นี้ ผมดีใจที่เราเริ่มมีตรงนี้ มันมีประโยชน์มากๆ เพราะเมืองไทยยังขาดข้อมูลและ reference มากๆ เมื่อเทียบกับเมืองนอก ที่อาหารสมองพวกนี้เขามีให้เราเยอะมาก ผมอยากให้คนเข้า มาหาความรู้ที่นี่มากๆ โดยถือว่านี่คือสมบัติของเรา" ภาณุให้ความเห็น

ท่ามกลางทะเลทรายอันแห้งแล้ง ผู้เดินทางย่อมแสวง หาน้ำดื่มจากโอเอซิส เช่นเดียวกับ TCDC ซึ่งเกิดขึ้นในสังคม ไทย เป็นแหล่งข้อมูลของความคิดสร้างสรรค์ originality ซึ่งมีคุณค่าทางจิตใจ และสามารถนำไปต่อยอดความคิดสร้าง สรรค์ที่ทำให้สินค้าขายได้มูลค่าเพิ่มขึ้นและแตกต่างด้วยคุณค่าวัฒนธรรมไทยไม่ว่าจะเป็นไทยเท่หรือไทยแท้ก็ตาม

ปัจจุบันงานด้านออกแบบส่วนใหญ่ของโลกมักมีแต่การผลิตซ้ำหรือก๊อบปี้ดีไซน์ออกมาเหมือนกัน (Sameness) เช่น ในอุตสาหกรรมเพลง เสื้อผ้าแฟชั่น อัญมณี เฟอร์นิเจอร์ นาฬิกา หรือ lifestyle products อื่นๆ

ภายใต้หัวข้อ Value Creation Economics ทีมงาน TCDC ได้แสดงข้อมูลว่า โลกระบบทุนนิยมกำลังมีปัญหากับความเหมือน ยกตัวอย่างเช่น โซนี่ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ด้าน audio และ vedio ของโลก ต้องเจอปัญหายอดขายตกต่ำถึง 70% ในไตรมาสสุดท้าย เพราะไปชนกับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจีน "ไห่เอ๋อ", Samsung, LG ที่มีการออกแบบคล้าย กันไปหมด แถมยังมีราคาถูกกว่าและตัดราคากันเอง เพราะ เมื่อจีนเป็นโรงงานของโลกที่มีแหล่งแรงงานและทรัพยากรราคาถูก ประเทศอื่นๆ ไม่ต้องผลิตก็ได้

"คุณจบแล้วนะ... ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยนี้ ผมว่าอยู่ได้ไม่เกิน 7 ปี ซึ่งผมซีเรียสเรื่องนี้มากๆ" พันศักดิ์เอ่ยย้ำหนักแน่น

อย่างไรก็ตาม TCDC ได้ชี้ให้เราเห็นความได้เปรียบ ของไทย หลายเรื่อง เช่น ไทยมี craftsmanship ในงานหัตถศิลปกรรม, ความมีน้ำใจที่ให้บริการ service mind, อาหารไทยที่ใช้ข้าวซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่คนไทยรู้จักดีที่สุดมาแปรให้มี value creation หรือสินค้าเพื่อสุขภาพที่ทำจากสมุนไพรไทย เช่น สบู่ ซึ่งใส่ความเป็นไทย จากต้นทุนก้อนละ 12 บาทก็ขายได้ 150 บาทในต่างประเทศ

นอกจากนี้คนไทยยังมี Sense of Caring สูงสุด เช่น ธุรกิจการรักษาพยาบาลของไทยเป็นที่เลื่องลือในโลก และไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้

"ผมอยากจะบอกว่า การสร้างคุณค่าที่มีผลต่อจิตใจ +มูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งสองกระบวนการนี้ทำให้เกิด social pricing value ยกตัวอย่าง original Burberry ของอังกฤษ ขายดีในจีนมาก ทั้งๆ ที่เมืองฟูเจี้ยนก๊อบปี้ยี่ห้อนี้เกร่อ แต่คนจีนที่มีเงินอยากได้ social value ซึ่งเราเรียกว่า originality นั่นเองผมถึงบอกว่าอย่ากลัวที่จะคิดสร้างผลงานที่มีคุณภาพ จริงๆ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของ TCDC คือเอาโลกมาให้ท่านรู้จักคุณค่าตัวเอง" พันศักดิ์กล่าว

หากเราไม่หลอกตัวเอง สิ่งหนึ่งที่น่าไปหาคำตอบในแกลเลอรี่ของ TCDC ก็คือ What's design ซึ่งนิทรรศการนี้จะย่อโลกมาไว้ให้เข้าใจว่า คอนเซ็ปต์การออกแบบของแต่ละประเทศให้นิยามความคิดและการออกแบบตามเหตุผล ที่มาจากสิ่งแวดล้อม พฤติกรรม วัฒนธรรม ต่างกัน ไล่เรียงจากประเทศบราซิล สหรัฐอเมริกา ยุโรป อังกฤษ เยอรมนี ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น ฯลฯ

ในราวต้นปีหน้า นิทรรศการอันดับสองคือ DNA of Japanese Design ก็จะจัดขึ้นแทนนิทรรศการ "กันดารคือสินทรัพย์อีสาน Isan Retrospective, Deprivation, Creativity and Design" เนื้อหาของงานคือการสอน

"เราจัดนิทรรศการหมุนเวียนทุก 2 เดือน ซึ่งส่วนหนึ่ง เรา create เอง เช่นเรื่องอีสาน กับอีกส่วนหนึ่งเรา co-operate กับเมืองนอก เช่น ญี่ปุ่น และในอนาคตร่วมกับ Victoria Albert ของอังกฤษ จัดแสดงงานของ Vivienne Westwood ซึ่งเป็นป้าแก่ๆ ที่วันนี้ยังขายปัญญาได้เป็นหลัก แสน เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผมอยากให้คนไทยได้เห็นและสักวันหนึ่งเราจะมีแบบของตัวเอง" ดร.อภิสิทธิ์ ไล่ศัตรูไกล Director ของ Design Resource ของ TCDC ซึ่งยกย่องว่า ที่นี่เป็น 1 ใน 3 ของโลก เล่าให้ฟัง

นอกจากนี้ TCDC ยังมี Seminar/Lecture อบรมระยะสั้น 2-3 ชม. โดยหานักออกแบบของโลกมาพูดให้ฟังว่า โลกนี้มีไอเดียอะไรใหม่ๆ เช่น Marcel Wonders นักออกแบบชาวดัตช์ ผู้ที่เผาเปียโนหลังละ 4- 5 แสนแล้วขายได้ถึงตัวละ 3 ล้าน ซึ่งประเดิมการเปิดสมองให้ดูประวัติทางปัญญาของเขาและกระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งสำเร็จและล้มเหลว ซึ่งบุคคลนี้เป็นคนที่ดวงฤทธิ์ บุนนาค บอกว่า เมื่อ ได้คุยกับเขาเหมือนนอนตายตาหลับ

"กว่าจะได้ตัว Marcel Wanders มา เลือดตาแทบกระเด็น เราต้องผ่านหลายทางมาก เพราะเขาไม่ได้เดินทางผ่านมาไทยง่ายๆ หรอกนะครับ เราต้องใช้ connection เพื่อนฝูง" ดร.อภิสิทธิ์เล่าให้ฟัง

ความที่ ดร.อภิสิทธิ์เคยเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยศิลปากร เขาบอกว่า หลักสูตรที่ TCDC ทำแบบเรียนทุกสัปดาห์หรือต่อเนื่อง 3 เดือน จะไม่เหมือนกับมหาวิทยาลัย แต่กลับเป็นหัวข้อความสนใจที่มหาวิทยาลัยไม่มีวันมี "เราไม่ทำตัวเป็นโรงเรียนสอน แต่เป็นแหล่งตักตวงความรู้"

การใช้พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ซื้อของก็มีให้เห็นในร้านค้า ซึ่งมีสินค้าประเภท design icon ที่สร้างแรงบันดาล ใจหลายผลงานที่วางขาย และเพียงไม่ถึงสามสัปดาห์ ชอปนี้มียอดขายสูงถึง 5 แสนบาท ขณะที่ร้าน greyhound cafe ที่ออกแบบเหมือน food lab ก็ดูไม่คึกคักเท่าที่ควร

"นอกจากกินอาหารให้อร่อยแล้ว วันดีคืนดี เราเห็นว่ามีอะไรน่าสนใจ เช่น food design เราจะเชิญเชฟไทยมา ทำใน food lab ให้ดูเป็นการ entertainment อย่างหนึ่ง" ดร.อภิสิทธิ์เล่าให้ฟัง

แต่แม่เหล็กที่ดึงดูดใหญ่ที่สุดคือ TCDC Resource Center หรือเรียกง่ายๆ ว่าห้องสมุดสำหรับสาขาการออกแบบทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็น product design, architec-ture, advertising, fashion, jewelry, brand ฯลฯ จำนวน 15,000 เล่ม

"วิธีการจัดหนังสือของเรา ส่วนหนึ่งจัดตามหัวข้อที่สมาชิกสนใจ เช่นเวลาไปค้น jewelry design มันจะรวมส่วนที่เป็น jewelry ทั้งหมด ตั้งแต่ design, manufacturing, process ทำไมมันขาย jewelry management design ได้ ทำอย่างไร? วัสดุที่ใช้ทำ jewelry เป็นอย่างไร? เราเก็บไว้ในชั้นนี้ทั้งหมด ถ้าเป็นห้องสมุดอื่น ก็ต้องเดินไปทีละชั้นๆ เราเชื่อว่าระบบการจัดของเราให้บริการได้ครบถ้วน" ดร.อภิสิทธิ์เล่าให้ฟัง

นอกจากนี้ยังมีนิตยสาร Magazine ทั่วโลกอีก 150 เล่ม ที่ไล่จากอเมริกาใต้จนถึงนิวซีแลนด์ ทำให้ Monitor ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์การออกแบบของโลกได้ทั้งรายสัปดาห์และรายเดือน

"แต่ที่สำคัญคือ ผมได้ขอผู้ใหญ่เอาเก้าอี้ที่นักออกแบบ ของโลกทำเป็น originality ใส่ไว้ในห้องสมุดนี้ด้วย เพราะผมเชื่อว่าสิ่งสำคัญของการออกแบบคือ ต้องถึงขั้น 'รู้สึกได้' ผมสงสารเด็กที่เห็นแต่รูป ไม่เคยรู้ว่าของจริงกับสเกลในหนังสือต่างกัน ผมจึงอยากให้เด็กไทยมีโอกาสจับสัมผัสของจริง โดยไม่ต้องบินไปถึงนิวยอร์ก ซึ่งมันมีป้ายห้ามนั่ง แต่ของผมจะมีป้ายเชิญนั่ง เราต้องให้คนได้นั่ง เพื่อให้รับรส อื่นๆ ได้ครบ" ดร.อภิสิทธิ์กล่าว

แต่ของดีที่สุดที่นี่อยู่ที่ห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบ "Material ConneXion Bangkok" ซึ่งช่วยให้ผลงานสร้าง สรรค์ออกแบบสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 21 ให้มีความแตกต่างและมี Value Creation อย่างคาดไม่ถึง

"The 'X' in ConneXion is the perfect symbolic crossroads,connects material to designer and for all interior, product graphic and fashion designers. It will be essential and inspiring" Dr.George Beylerian ชายร่างใหญ่ใจดีในฐานะประธาน ConneXion ซึ่งบินจากนิวยอร์กมาร่วมงานเปิด TCDC เล่าความหมายให้ฟัง

ภายในห้องมีตัวอย่างวัสดุหลักๆ ทั้ง polymers, metals, glass, ceramics, natural และ naturally derived materials, carbon-based materials, cement-based materials

ยกตัวอย่าง เรซิ่นที่มีกลิ่นหอม ซึ่งจัดวางไว้อย่างน่าสนใจในห้องนี้ ซึ่งนักวัสดุศาสตร์ Material Scientist ช่วยอธิบายถึงคุณสมบัติและหน้าที่อย่างเต็มอกเต็มใจ ซึ่งข้อมูล ความรู้นี้จะนำจินตนาการไปสร้างสรรค์งานนับไม่ถ้วน

Material ConneXion มีสำนักงานอยู่ 4 แห่งในโลก ได้แก่ นิวยอร์ก, มิลาน, โคโลญ และประเทศไทย โดยทำงานให้กับนักออกแบบมืออาชีพในกลุ่มลูกค้ายักษ์ใหญ่ที่ใช้ บริการ เช่น บริษัท ไนกี้, บริษัท Samsonite

"ใครมีเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ที่ใหม่กว่า จะทำให้การออกแบบไปได้ไกล เรามีทีมนักวัสดุศาสตร์ที่จะช่วยท่านได้ เพราะเรามี network ด้านฐานข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุเพื่อออกแบบทั่วโลกอยู่ที่นิวยอร์ก, มิลาน และโคโลญ จนได้ solution หรือถ้าจะให้ทดลอง เราก็มีทีมทำให้แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายบ้าง" นี่คือบริการที่มีที่นี่แห่งเดียวในเอเชีย เพียงแค่เป็นสมาชิก Material ConneXion ปีละ 12,000 บาท ก็ได้สิทธิใช้ห้องนี้ได้แล้ว ทั้งออนไลน์ก็มีอยู่ เพียงแค่ใส่ password ก็ทำงานได้ ทั้งนี้ทุกๆ เดือนจะมีการ feed ข้อมูล เกี่ยวกับวัสดุใหม่ๆ ให้ 300-400 ชิ้น

TCDC จึงมี "ลักษณะเฉพาะ" ที่จัดการไม่เหมือน กับห้องสมุด เพราะสามารถอ่านหนังสือไปพร้อมๆ กับฟังเพลง และจิบกาแฟได้ ขณะเดียวกันก็มีลักษณะการจัดการเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตชีวา ในรูปนิทรรศการที่ย่อยปัญญาให้เข้าใจง่าย และนำไปใช้สร้างคุณค่าต่อจิตใจและมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ชัดเจน

"ผมจะทำให้ดูว่า ทำไม TCDC จึงเด่นในวงการ exhibition ทั่วโลก? เวลานี้มันกระพือไปทั่วมิลาน นิวยอร์ก ญี่ปุ่น ไต้หวัน เขาก็ตื๊อแบบไต้หวันสไตล์จะเอาอีสานไปลง ขอซื้อ exhibition หรืออย่าง California Museum มาเห็นก็จะเอาๆ เพราะคนทั่วไปทำเหมือนกันหมดหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ทาง Domus หนังสือเพื่อการออกแบบในยุโรปมาหาผม ขอร่วมงานทำ exhibition ด้วยกัน อันแรกที่เราจะทำร่วมกันอีกปีครึ่งชื่อ 'Dead Company Immortial Design' แค่ไตเติ้ลก็ต้องยกสองนิ้วโป้งให้แล้ว โดยเขาจะจัดงานขึ้นที่มิลานพร้อมกับกรุงเทพฯ และ Domus Magazine จะพาดหน้าปกว่า the first world exhibition in Bangkok at TCDC"

นี่คือผลลัพธ์ของการทำงานหนักของปัญญาชนคนไทย กลุ่มหนึ่ง ที่แสดงศักยภาพว่า คนไทยก็สามารถเชื่อมโลกทั้ง ใบสู่ The Large Resouce of Design Center ระดับ TCDC ให้คนไทยรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21 ได้ตักตวงแหล่งน้ำ อันอุดมสมบูรณ์กลางทะเลทรายอันแห้งผากนี้ได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.