|

ATM Banking in JAPAN
โดย
ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
พลวัตของรูปแบบบริการของธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่น มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา เฉกเช่นเดียวกับการบริการของธุรกิจประเภทอื่นๆ ในญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับ Customer Oriented Service เป็นหัวใจหลัก กลยุทธ์การบริการในแบบ conventional service ที่เพียบพร้อมรอให้บริการที่ดีเลิศในอาคารสถานที่สวยหรูจึงไม่ขลังพอที่จะใช้สะกดลูกค้าในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันได้
การรุกเข้าหากลุ่มเป้าหมายรายใหญ่และรายย่อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าไปมีส่วนสนับสนุนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพสูงขึ้นสำหรับการแข่งขันที่รุนแรงภายในประเทศ อีกทั้งการรักษาตำแหน่งของบรรษัท ข้ามชาติของญี่ปุ่นในเวทีโลก เป็นแนวโน้มที่มีมาตั้งแต่ปี 2000 โดยเน้นการประยุกต์เทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาใช้ในระบบของธนาคารให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และแน่นอน ภายใต้การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่เชื่อถือได้
ที่เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุดคือธนาคารพาณิชย์แทบทุกแห่งเริ่มให้บริการ internet banking จนกระทั่งเกิดตัวอย่างธนาคาร digital สมบูรณ์แบบอย่าง 7 BANK (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในผู้จัดการฉบับเดือนธันวาคม 2548 คอลัมน์ Japan Walker)
ทุกวันนี้จำนวนลูกค้าที่ (เสียเวลาเดินทาง) ไปรอใช้ บริการยังที่ทำการสาขาและ/หรือ ATM ของธนาคารเองรวมทั้งตู้ที่ตั้งตามห้างสรรพสินค้านั้นมีจำนวนลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับการใช้บริการ ATM จากร้านสะดวกซื้อ (convenient store) ที่กระจายตัวอยู่ในชุมชนทุกหนแห่ง
กระนั้นก็ดีนับจากนี้ไปพฤติกรรมการบริโภคของคนญี่ปุ่นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงและก้าวข้ามไปสู่ยุคของ electric money เมื่อเทคโนโลยี "Felica" ซึ่งพัฒนาขึ้นครั้งแรกโดย Sony ได้รับการนำเสนอผ่านสินค้าและบริการ ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น การขึ้นรถไฟ การจับจ่ายอยู่กับบ้าน ฯลฯ จากการทดลองใช้นวัตกรรมใหม่นี้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาพบว่า Felica อำนวยความสะดวกและกลาย เป็นเทรนด์ใหม่สำหรับ lifestyle ของคนญี่ปุ่นในอนาคต
ในญี่ปุ่น Felica ได้นำไปใช้กับบริการตั๋วรถไฟแบบ เติมเงินล่วงหน้า Suica ของ east JR, Edy card ใช้ซื้อของพร้อมสะสมไมล์ของ ANA, การใช้โทรศัพท์มือถือเป็น กระเป๋าสตางค์ เป็นต้น นอกจากนี้เทคโนโลยี Felica ได้เริ่มนำไปใช้ในต่างประเทศด้วย เช่น บัตรรถไฟ Metrocard ที่กรุงเทพฯ, ez-link card ใน Singapore, Octopus card ใน Hong Kong, Transcard ในจีน เป็นต้น
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|