สถาบันการเงินในอังกฤษ

โดย วิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สถาบันการเงินในอังกฤษ ไม่อาจนับได้ว่าเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยีทางการเงิน เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วในประเทศอื่น ภาพคนเข้าคิวเพื่อติดต่อฝากและถอนเงินโดยตรงกับพนักงานของธนาคารยังเป็นภาพที่เห็นได้อยู่ทั่วไป แม้จะมีเครื่องรับฝาก-ถอน และอัพเดทสมุดเงินฝากให้บริการอยู่ทั่วไปก็ตาม ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจเป็นเพราะการฝากเงินตามเครื่องใช้เวลาอย่างน้อยสองวันกว่าจำนวนเงินจะถูกบันทึกเข้าบัญชีของผู้ฝาก ซึ่งนับเป็นการเสียเวลามากเมื่อเทียบกับการนำเงินไปฝากกับเจ้าหน้าที่โดยตรงซึ่งมีผลทันที

อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินของอังกฤษอาจมีข้อแตกต่างจากสถาบันการเงินไทยในจุดหลักๆ 4 ประการ

1. Non-Bank Institutions สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารแต่บริการ รับเงินฝากและให้กู้ยืมเงินได้เหมือนธนาคารทั่วไป ที่เห็นได้บ่อยมากคือ Building Society ไม่ว่าจะเป็น Newcastle Building Society และ Leeds Building Society สถาบันการเงินประเภทนี้ไม่มีผู้ถือหุ้น แต่มีสมาชิกซึ่งเป็น ลูกค้าเงินฝากเป็นเจ้าของ ทำหน้าที่รับฝากเงินและให้บริการเงินกู้ซื้อบ้าน และเพราะไม่มีผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของและไม่มีการปันผลกำไรนี่เอง ทางสถาบัน จึงสามารถเสนอดอกเบี้ยเงินฝากให้แก่สมาชิกในอัตราที่สูงกว่าแบงก์ทั่วไปได้

2. ธนาคารที่ปรับโฉมและเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตัวเองบ่อยที่สุดคือ Abbey หรือชื่อเดิมว่า Abbey National ทางแบงก์สร้างบรรยากาศเป็น กันเองกับลูกค้า ด้วยการร่วมพันธมิตรกับเชนร้านกาแฟชื่อดัง Costa Coffee โดยอนุญาตให้ Costa มาเปิดร้านกาแฟในสาขาของ Abbey ได้

3. เพราะปัญหาการใช้บัตรเงินสด (Debit card) และบัตรเครดิตปลอมจากมิจฉาชีพ ทำให้ธนาคารเกือบทุกแห่งของอังกฤษหันมาใช้เทคโน โลยี Chip and PIN กันมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อต้องการซื้อของด้วยบัตรแทนการจ่ายเป็นเงินสด โดยที่เจ้าของบัตรจะต้องใส่รหัสประจำตัวลงเครื่องเล็กๆ ที่มีประจำอยู่กับแคชเชียร์ในร้านค้าทุกแห่ง แทนการเซ็นชื่อในบิลเหมือนแต่ก่อน

4. Internet Banking คือธนาคารทางอินเทอร์เน็ตที่ไม่มีสาขาเป็นของตนเอง แต่ให้ลูกค้าไปใช้บริการฝากถอนเงินกับเครื่อง ของธนาคารอื่นแทน ด้วยเหตุที่ไม่มีค่าใช้จ่าย ในการดำเนินธุรกิจดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นค่าพนักงานประจำสาขาหรือค่าเครื่องมือต่างๆ ธนาคารเหล่านี้จึงสามารถเสนอดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่าแบงก์ทั่วไปให้แก่ลูกค้าได้ เช่น ING Direct เสนอดอกเบี้ยเงินฝากแก่ผู้ฝากถึง 4.75% เทียบกับ 4.1% สำหรับบัญชี e-saving ของ Barclays Bank อีกตัวอย่างหนึ่งคือ Egg สถาบันการเงินชื่อแปลกที่ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตล้วนๆ เปิดให้บริการ มาตั้งแต่ปี 1998 Egg Money คือบริการเครดิตการ์ด แต่เป็นบริการรับฝากเงินไปในตัว เดือนใดที่ลูกค้ามียอดติดลบในบัญชี ต้องเสียค่าชาร์จด้วยอัตราดอกเบี้ย 6.9% แต่หาก เดือนใดมียอดเงินฝากเป็นบวก ทางสถาบันจะคิดดอกเบี้ยเงินฝากให้ในอัตรา 4%


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.