|
"สหภาพเอเชีย" ฝันใหญ่ของเอเชียตะวันออก
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
16 ประเทศเอเชีย ฝันจะสร้างตลาดร่วมเอเชียและเงินสกุลเดียว แต่ฝันนี้ฤาจะไกลเกินเอื้อม
การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก (East Asia Summit : EAS) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย ชาติที่เข้าประชุมประกอบด้วยชาติ "ASEAN+3" อันได้แก่ 10 ชาติสมาชิก สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ ASEAN ซึ่งรวมถึงไทย บวกกับจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ร่วมด้วยออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และอินเดีย และวาระการประชุมคือ การสร้างตลาดร่วมเอเชีย ซึ่งจะนำไปสู่การใช้เงินสกุลเดียวของเอเชียในอนาคต
ความคิดที่จะรวมเอเชียเป็นหนึ่งเดียว หรือ "สหภาพเอเชีย" คล้ายกับที่ยุโรปรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรป (European Union : EU) นั้น มีการพูดถึงกันมานานหลายปีแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ 16 ชาติเอเชียได้มาประชุมสุดยอดระดับผู้นำประเทศ โดยมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนที่จะหารือกันถึงการรวมเอเชียให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไม่เพียงแต่ทางด้านเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงด้านการเมืองด้วย ไม่เพียงแต่จะหาทางลดอัตราภาษีศุลกากรระหว่างกันและอุปสรรคทางการค้าอื่นๆ แต่ยังจะเพิ่มความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นในด้านอื่นๆ เช่น พลังงาน การต่อต้านการ ก่อการร้าย และการปราบไข้หวัดนก
ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เพิ่งเปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ได้เริ่มติดตามจับตาอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศในเอเชียแล้ว ซึ่งเป็นการวางพื้นฐานให้แก่การที่เอเชียจะรวมกันใช้เงินสกุลเดียวในอนาคต
Haruhiko Kuroda ประธาน ADB ไม่เห็นด้วยที่มีผู้เห็นว่า อย่างมากที่สุดที่เอเชียตะวันออกจะหวังได้ก็คือ การรวมตัวกันเป็นเขตการค้าเสรี แบบเดียวกับเขตการค้าเสรีทวีปอเมริกาเหนือ (NAFTA) เท่านั้น แต่ Kuroda เห็นว่า เอเชียตะวันออกสามารถตั้งเป้าระยะยาว ที่จะสร้างสหภาพการเงินเอเชียซึ่งใช้เงินสกุลเดียวได้
เขาชี้ว่า การค้าระหว่างประเทศภายในภูมิภาคเอเชียได้เพิ่มขึ้น อย่างมาก ทำให้ความสัมพันธ์ทางการค้าภายในภูมิภาคมีความใกล้ชิดและลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ควรจะมีการประสานกันด้านอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากความผันผวนของค่าเงินแม้เพียงประเทศเดียวในเอเชีย ก็อาจส่งผลกระทบไปทั่วทั้งภูมิภาคได้
ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของเอเชียน่าจะมีอย่างมหาศาล เพียงประเทศ ASEAN+3 ก็มีประชากรรวมกันถึงหนึ่งในสามของประชากรโลก และมี GDP รวมกันถึงหนึ่งในสี่ของโลก รวมทั้งมีปริมาณสำรองเงินตราต่างประเทศรวมกันถึงครึ่งหนึ่งของโลก ชาติสมาชิกบางชาติของเอเชีย ตะวันออกยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ อยู่จัดว่าในระดับสูงที่สุดในโลก การรวมตัวกันยังจะทำให้เอเชียตะวันออกมีความแข็ง แกร่งมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้แทบไม่มีใครเชื่อว่า เอเชียจะสามารถเลียนแบบการรวมตัวกันของ EU ได้ ผู้ที่ไม่คิดว่าเอเชียจะรวมตัวกันได้ชี้ว่า เอเชียไม่มีอะไรเหมือนยุโรปเลย ในขณะที่ชาติสมาชิก EU ทุกชาติต่างยึดในค่านิยมที่สำคัญด้านการเมืองและเศรษฐกิจร่วมกัน ได้แก่ ประชาธิปไตย ตลาดเสรี และระบบสวัสดิการสังคมที่ก้าวหน้า
ตรงกันข้าม ชาติเอเชียที่เข้าร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกครั้งแรกนี้ กลับมีทั้งประเทศที่มีประชาธิปไตยเข้มแข็งอย่างออสเตรเลียและญี่ปุ่น ประเทศคอมมิวนิสต์ผสมทุนนิยมอย่างจีนและเวียดนาม ประเทศที่มีประชาธิปไตยที่ยังยุ่งเหยิงอย่างกัมพูชาและอินโดนีเซีย รวมถึงประเทศที่ยังล้าหลังโดยมีการปกครองแบบเผด็จการทหาร อย่างพม่า
นอกจากนี้ยังมีปัญหาขัดแย้งกันเรื่อง ดินแดน และความเสี่ยงที่จะมีความขัดแย้งทางทหารในบางส่วนของเอเชีย รวมถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างญี่ปุ่นกับชาติเพื่อนบ้าน เกี่ยวกับการที่นายกรัฐมนตรี Junichiro Koizumi แห่งญี่ปุ่น มักเดินทางไปเยี่ยมคารวะศาลเจ้า Yasukuni ซึ่งเป็นสุสานทหารญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สองอยู่เนืองๆ
ส่วนในด้านเศรษฐกิจ ชาติที่เข้าร่วมประชุมสุดยอดครั้งนี้มีความแตกต่างทางด้านรายได้ประชาชาติอย่างกว้างขวาง ในขณะที่ชาติสมาชิกที่ร่ำรวยที่สุดใน EU มีความร่ำรวยมากกว่าชาติสมาชิกที่ยากจนที่สุดเพียง 10 เท่า (เปรียบเทียบจากอำนาจ ซื้อ) แต่ชาติที่ร่ำรวยที่สุดของเอเชียตะวันออกในวันนี้ รวยกว่าชาติที่ยากจนที่สุดในอัตราส่วนถึง 100 ต่อ 1 ทำให้ยากที่จะคิดว่า กลุ่มประเทศที่มีระดับความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดินเช่นนี้ จะสามารถจัดตั้งตลาดร่วมขึ้นได้ในเวลาอันใกล้
และเมื่อมีความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจมากขนาดนี้ ประเด็นร้อนประเด็นหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นก็คือ การเคลื่อนย้ายอพยพของแรงงาน หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของญี่ปุ่นถึงกับวิเคราะห์อย่างสุดโต่งว่า การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกครั้งนี้เป็นเพียงอุบายอันชาญฉลาดของจีน ที่จะทำให้ญี่ปุ่นต้องเปิดรับการเคลื่อนย้ายอพยพของแรงงานจากจีนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะให้ความเห็นเป็นกลางๆ สำหรับการรวมเอเชียตะวันออก Simon Tay จากสถาบัน Singaapore Institute of International Affairs ชี้ว่า อย่างดีที่สุดในขณะนี้กลุ่มประเทศ EAS น่าจะเปรียบได้กับกลุ่มประเทศร่ำรวย G8 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มอย่างหลวมๆ ของชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ซึ่งจะร่วมประชุมกันเป็นประจำเพื่อหารือถึงปัญหาที่วิตกร่วมกัน แต่ไม่มีการรวมตัวกันไปมากกว่านี้
Denis Hew จาก Institute of Southeast Asian Studies ในสิงคโปร์ชี้ว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เป็นแรงขับดันให้เอเชียตะวันออกเข้าใกล้ความเป็นหนึ่งเดียวกันมี 2 ปัจจัยคือ การลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นต่อประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ซึ่งทำให้เกิดเครือข่าย ฐานการผลิตขึ้นในภูมิภาค และจีนเพิ่งเข้ามาเป็นปัจจัยใหม่ในความจริงดังกล่าว โดยชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้นในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ส่วนใหญ่จะถูกส่งออกไปยังจีน เพื่อที่จะส่งออกอีกครั้งไปยังประเทศตะวันตก
Stephen Leong แห่ง Institute of Strategic and International Studies ในกรุงกัวลาลัมเปอร์เสริมว่า ขณะนี้ในภูมิภาคเอเชีย กำลังมีกลไกที่พื้นฐานที่สุดของการที่จะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวเกิดขึ้น โดยเอเชียมีการประชุมรัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งเท่ากับกำลังวางโครงสร้างที่จะรองรับการรวมตัวกัน และนักวิเคราะห์ผู้นี้คิดว่า เราน่าจะกำลังได้เห็น "ประชาคมเอเชียตะวันออก" ในทางปฏิบัติ
Eisuke Sakakibara อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังญี่ปุ่นชี้ว่า การค้าระหว่างประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออก ได้เพิ่มพูนขึ้นอย่างมากในช่วง 10 ปีมานี้หรือกว่านั้น โดยที่คนอื่นๆ ที่อยู่นอกภูมิภาคอาจไม่ทันสังเกตเห็น ตัวเลขจาก ADB ระบุว่า การค้าภายในเอเชียตะวันออกในปี 2003 คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 54 ของการค้าทั้งหมดของภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นระดับที่เกือบจะเท่ากับการค้าภายในชาติสมาชิก EU ด้วยกัน (ร้อยละ 64) และสูงกว่าปริมาณการค้าที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มประเทศ NAFTA (ร้อยละ 46)
ADB ยังชี้ด้วยว่า ตัวเลขร้อยละ 54 นั้น ยังเท่ากับที่ประเทศ EU ทำได้ ในขณะที่ลงนามในสนธิสัญญารวมยุโรปที่เรียกว่า Maastricht Treaty ในปี 1992 Sakakibara สรุปว่า ในด้านเศรษฐกิจขณะนี้อาจถือได้ว่า เอเชียตะวันออกได้บรรลุการรวมตัวกันในระดับเดียวกับยุโรปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในด้านการเมือง Sakakibara เองยอมรับว่า เอเชียยังตามหลังยุโรปอยู่อีกมาก แต่นั่นเป็นเพราะกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเอเชีย เป็นสิ่งที่ได้รับแรงผลักดันจากตลาด ไม่ใช่จากการนำของผู้นำทางการเมือง ซึ่งตรงข้ามกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยุโรปในช่วงหลังปี 1945 โดยสิ้นเชิง
ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้นำชาติต่างๆ ในยุโรปต่างมีปณิธานแน่วแน่ ที่จะต้องทำให้ยุโรปมีความผูกพันใกล้ชิดให้แน่นแฟ้นมากขึ้น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงสงคราม โลกในอนาคต แต่เอเชียตะวันออกไม่มีสถานการณ์ที่ทำให้ต้องตั้งปณิธานเช่นนั้น
เอเชียใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นจากการทำข้อตกลงการค้าเสรี ซึ่งได้กลายเป็นสะพาน นำไปสู่การแก้ปัญหาทางการเมืองภายในภูมิภาค ญี่ปุ่น จีนและเกาหลีใต้ ต่างได้ลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือ (Treaty of Amity and Cooperation) กับ ASEAN ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค จัดการกับปัญหา ความขัดแย้งที่มีต่อกันด้วยสันติวิธี และหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ส่วนที่ประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) ก็ถูกใช้เป็นกลไกของ ASEAN กับจีน ที่จะเสริมสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน เพื่อหาทางออกที่นุ่มนวลให้แก่ปัญหาความมั่นคงในทะเลจีนใต้ที่ทั้งสองฝ่ายกำลัง ขัดแย้งกัน
กลไกการแก้ปัญหาผ่านการหารือกันในเวทีต่างๆ เหล่านี้ ได้นำเจ้าหน้าที่รัฐบาล นักธุรกิจ และนักวิชาการมาพบกัน เพื่อหาทางออกอย่างสันติให้แก่ปัญหาความขัดแย้งภายในภูมิภาค ASEAN+3 ซึ่งเป็นกลไกที่ย่างเข้าสู่ปีที่ 9 แล้ว กำลังดำเนินการ โครงการต่างๆ ถึง 48 โครงการ ซึ่งล้วนช่วย ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองและการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ
ส่วนเวทีหารือที่เป็นความคิดริเริ่มใหม่ที่เรียกว่า Chiang Mai Initiative เป็นเวทีที่นายธนาคารกลางของชาติสมาชิก ASEAN+3 ใช้หารือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติการณ์การเงินแบบเดียวกับที่เคยสั่นสะเทือนภูมิภาคเอเชียในปี 1997 นอกจากนี้ยังมี Asian Bond Fund ซึ่งริเริ่มโดย ADB ซึ่งกำลังพยายามอย่างเงียบๆ ที่จะช่วยรักษาสภาพคล่องและเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ของเอเชีย
Masahiro Kawai หัวหน้าสำนักงานเพื่อการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจของเอเชียและที่ปรึกษาพิเศษของประธาน ADB ชี้ว่า แม้ขณะนี้ความฝันที่จะใช้เงินสกุลเดียวในเอเชียจะยังอยู่อีกไกล แต่การที่มีความฝันนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณการค้า การลงทุน และการทำธุรกิจข้ามพรมแดนระหว่างประเทศต่างๆ ในเอเชีย เนื่องจากการมีอัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประมาณการค้าระหว่าง ASEAN กับจีน จะพุ่งขึ้นถึงร้อยละ 20 ต่อปีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่พร้อมกันนั้นก็มีความวิตกถึงอำนาจที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างมากของจีน โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อรู้แน่ว่า สหรัฐฯ ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ก็เร่งผลักดันให้เชิญออสเตรเลียและอินเดียเข้าร่วม เพื่อมาคานอำนาจกับจีน
หนึ่งในนักธุรกิจที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม EAS คือ Tony Fernandes CEO ของ AirAsia สายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นแบรนด์สายการบินระดับ ASEAN เพียงสายการบินเดียวที่มีอยู่ ให้คะแนน ASEAN ที่สามารถช่วยรักษาความมีสันติภาพในภูมิภาค แต่เขายังต้องการมาตรการต่างๆ อีกมากจาก ASEAN ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจของเขา ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ จูงใจทางภาษีสำหรับการลงทุนข้ามพรมแดนภายใน ASEAN การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี การผ่อนคลายกฎเกณฑ์ในอุตสาหกรรม การบิน เป็นต้น สายการบินของเขายังคงไม่ได้รับสิทธิ์การลงจอดแบบเต็มรูปแบบจากสิงคโปร์ จนเที่ยวบินหลายเที่ยวของเขาต้องลงจอดที่สนามบินในมาเลเซียแทน ซึ่งก็ต้องพบปัญหายุ่งยากในการใช้รถขนผู้โดยสารข้ามพรมแดนระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซียอีก
บางทีก่อนที่จะทำให้ฝันอันยิ่งใหญ่ของการรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวกลายเป็นจริง เอเชียตะวันออกอาจจะต้องแก้ปัญหาเล็กๆ หยุมหยิม อย่างที่นักธุรกิจเจ้าของสายการบินต้นทุนต่ำดังกล่าวกำลังเผชิญอยู่ ให้หมดไปเสียก่อน
แปลและเรียบเรียงจาก
นิวสวีค 12 ธันวาคม 2548
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|