อำลา 'สวนอัมพร' ลมหายใจสุดท้ายที่หายไป


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ปิดฉากมอเตอร์โชว์ สวนอัมพร ครั้งล่าสุดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และสำคัญยิ่งไปกว่าทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา เพราะจากคำกล่าวของ ปราจิน เอี่ยมลำเนาผู้จัดงานนั้นชัดเจนว่า นี่คือครั้งสุดท้ายของสวนอัมพร

ความเป็นครั้งสุดท้ายกับสถานที่แห่งหนึ่งที่อยู่กันมานานนับสิบปี ย่อมต้องมีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้นในใจ และการอำลาคงต้องพยายามจดจำความสวยงามหลายสิ่งหลายอย่างเอาไว้

แต่มอเตอร์โชว์ครั้งที่ 18 ณ สวนอัมพร กลับสะท้อนภาพ ประหนึ่งชีวิตที่ไร้ความรู้สึก ไร้อารมณ์ ไร้ซึ่งสีสัน และความสุข

"คุณดูสิ ผมว่าปีนี้แย่กว่าทุกปีด้วยซ้ำ" ผู้ค้ารถยนต์รายหนึ่งที่เข้าร่วมงาน กล่าว

ความหมายของคำว่า "แย่" นั้นไม่ได้หมายความเฉพาะยอดจองเท่านั้น ผู้ค้ารายนี้กล่าวชี้ให้เห็นถึงบรรยากาศรอบด้านไม่ว่าจะเป็นด้านบริษัทผู้ค้ารถยนต์ทั้งหลาย ด้านผู้จัด และด้านผู้เข้าชมงาน

แน่นอนว่า ภาพที่เห็นหรือปรากฏอยู่เบื้องหน้า ไม่แตกต่างจากปีก่อนๆ มากนัก เพราะมีรถยนต์จำนวนมากมายเข้ามาวางให้เห็นและสัมผัส แต่ความต่างมันอยู่ที่รายละเอียดของรถยนต์เหล่านั้น มันต่างตรงบรรยากาศที่มาจากทั้งผู้เข้าชมงาน และเจ้าหน้าที่ของบริษัทรถยนต์ทั้งหลาย

ความคึกคัก และความทุ่มเท มันน้อยเกินไป

จบ 10 วันแห่งงานโชว์รถยนต์ที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในประเทศ กลับได้สถิติที่ล้วนถดถอยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นยอดผู้เข้าชมงานที่ลดลงกว่า 10% ยอดจำหน่ายรถยนต์ที่เหลือเพียงราว 3,000 คัน ลดลงจากปีก่อนเกือบครึ่ง ทั้งที่ก่อนหน้านั้นคาดการณ์กันว่าตัวเลขเหล่านี้จะออกมาดีกว่าปีก่อน

"ปัญหาเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นในระยะเวลานี้ ส่งผลกระทบต่องาน รวมถึงยอดเงินหมุนเวียนภายในงาน ที่แม้ว่าปีนี้บริษัทรถยนต์ รถจักรยานยนต์และร้านประดับยนต์จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ แต่เงินซื้อขายในงานกลับมีปริมาณลดลงกว่าครึ่ง" ปราจิน กล่าว

ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา มันกลายเป็นพฤติกรรมของผู้ซื้อรถยนต์เมืองไทยในระดับหนึ่งที่ว่า ในช่วงมีนาคมถึงเมษายนก่อนงานมอเตอร์โชว์เริ่มขึ้น การสั่งซื้อรถยนต์แทบจะไม่เกิดขึ้น หรือมีแต่ก็น้อยเกินไป เนื่องจากผู้ซื้อส่วนใหญ่มักจะอดใจไว้เพียงชั่วเดือนสองเดือนเพื่อรอเข้ามาจับจองรถยนต์ภายในงานมอเตอร์โชว์ เพราะเป็นประเพณีไปแล้วที่ว่าภายในงานนี้จะมีของแถม การลดราคา ข้อเสนอดีๆ ไว้ให้กับลูกค้าอย่างมากมายและหลากหลายยี่ห้อ

ปี 2540 ก็เช่นกัน แม้ยอดการสั่งซื้อรถยนต์ในช่วงเดือนสองเดือนก่อนงานมอเตอร์โชว์เริ่มขึ้น จะมีน้อยเกินไป แต่ผู้ค้ารถยนต์หลายรายก็หวังว่าจะเป็นเหมือนปีก่อนๆ เมื่อความจริงปรากฏขึ้นนั่นเองทุกอย่างจึงกระจ่าง

เป็นเพราะความฝืดเคืองของประเทศในเวลานี้ หรือเพราะมนต์เสน่ห์แห่งมอเตอร์โชว์หมดความศักดิ์สิทธิ์กันแน่ ความคึกคักจึงแทบไม่มีให้เห็น

"ตลาดปิกอัพตกต่ำลง มันชัดเจนว่าเป็นผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจแน่นอน เพราะตลาดนี้จะกระทบก่อน และงานมอเตอร์โชว์ล่าสุดนั้นรถที่ขายได้ก็มีเพียงรถเก๋งขนาดเล็กเท่านั้น รถหรูหราแทบไม่ขยับหรือแม้แต่ขนาดกลางก็แย่ไปตามๆ กัน" ผู้บริหารคนหนึ่งของฟอร์ด กล่าว

ผู้บริหารคนนี้ย้ำว่า ยิ่งเป็นงานครั้งสุดท้ายของสวนอัมพรยิ่งน่าจะเพิ่มมนต์เสน่ห์ แต่นี่เพราะตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่ไปตามๆ กัน ภาพจึงออกมาอย่างที่เห็น และคงไม่ใช่เพราะว่าบริษัทรถยนต์ไม่อยากทุ่มเทกับงานแสดงครั้งนี้ แต่เนื่องจากปีนี้การใช้งบประมาณต่างๆ ต้องรัดกุมขึ้น หวังผลมากขึ้น ดังนั้น การทุ่มเทการลงทุนในการจัดบูธแสดง จึงไม่ค่อยมีใครกล้าลงทุนอย่างมากมายเช่นปีก่อนๆ

"ประเทศไทยมันลำบากแล้ว ทุกคนต้องหันมายอมรับความจริงและหันมาช่วยกันแก้ไข มันล้มเรื่อยมา ตลาดอื่นๆ กำลังจะล้มไล่มาเรื่อยๆ อสังหาริมทรัพย์ เริ่มก่อนตามด้วยสินค้าส่งออก สิ้นค้าเกษตร อุตสาหกรรม สื่อสาร ไฟแนนซ์ ธนาคาร และขณะนี้กำลังมาที่รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งคาดการณ์ได้ยากกว่าครั้งนี้จะรุนแรงแค่ไหน" ผู้บริหารบริษัทรถยนต์รายใหญ่แห่งหนึ่งกล่าว

เขาผู้นี้ชี้ให้เห็นถึงภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นจากงานมอเตอร์โชว์ครั้งล่าสุด และเมื่อมองถึงยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้วจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในขณะนี้ ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะส่งผลรุนแรงต่อตลาดรถยนต์เมืองไทยได้อย่างรุนแรงเพียงใด

มันไม่ใช่เพราะว่าคุณค่าของงานมันด้อยค่าลง แต่เพราะความรู้สึกของคนในช่วงเวลานี้ ไม่มีความรู้สึกกับความแปลกใหม่เสียแล้วกระมัง

น่าหดหู่ ไม่น้อยทีเดียว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.