|
นมถั่วเหลืองปีจอแข่งเดือด ทุกแบรนด์ทุ่มสู้รับตลาดโต20%
ผู้จัดการรายวัน(26 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
นมถั่วเหลืองนับว่าเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่มีแนวโน้มเติบโตอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยหนุนเนื่องสำคัญต่อการขยายตัวของตลาดนมถั่วเหลืองคือ กระแสความสนใจในเรื่องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ และผลงานวิจัยที่ยืนยันถึงการบริโภคผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและมะเร็ง
ตลาดนมถั่วเหลืองในประเทศไทยในปี 2548 การขยายตัวของตลาดนมถั่วเหลืองอยู่ในเกณฑ์สูงที่สุดในบรรดาตลาดผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด คาดการณ์ว่าในปี 2549 การแข่งขันในตลาดนมถั่วเหลืองจะเป็นไปอย่างดุเดือด เนื่องจากมีนักลงทุนรายใหม่สนใจเข้ามาลงทุนผลิตนมถั่วเหลืองพร้อมดื่ม ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดนมถั่วเหลืองมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ซึ่งตลาดส่งออกในแถบประเทศในภูมิภาคนี้ที่น่าสนใจ คือ มาเลเซียและสิงคโปร์
ในตลาดโลกนมถั่วเหลืองจัดเป็นนมประเภทหนึ่งในผลิตภัณฑ์นมทางเลือก(Dairy Alternative) ซึ่งไม่นับรวมนมแพะ โดยตลาดผลิตภัณฑ์นมทางเลือกนั้นนับว่าเป็นตลาดที่มีความสำคัญ คาดการณ์ว่าในปี 2549 มูลค่าตลาดนมทางเลือกเท่ากับ 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราการขยายตัว 20% เมื่อเทียบกับในปี 2548 และในระยะ 5 ปีต่อไปคาดว่าอัตราการขยายตัวของตลาดนมทางเลือกยังจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 16% ต่อปี
สำหรับตลาดนมถั่วเหลืองของโลกนั้นมีสัดส่วนประมาณ 85-90% ของมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์นมทางเลือกทั้งหมด นอกจากนั้นจะเป็นตลาดของน้ำนมข้าว น้ำนมข้าวโอ๊ต น้ำนมอัลมอนด์ ฯลฯ ซึ่งผลิตภัณฑ์นมทางเลือกเหล่านี้ยังไม่มีการจำหน่ายอย่างกว้างขวางและได้รับความนิยมมากเท่ากับนมถั่วเหลือง เนื่องจากกระแสความนิยมสินค้าเพื่อสุขภาพที่ผลิตจากผลิตภัณฑ์ใกล้เคียงกับธรรมชาติ ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ตลาดนมถั่วเหลืองมีการขยายตัวอย่างมากทั่วทั้งโลก
สหรัฐฯนั้นนับว่าเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของผลิตภัณฑ์นมทางเลือก คาดว่าในปี 2549 มูลค่าการจำหน่ายนมถั่วเหลืองสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับมูลค่าการจำหน่ายในญี่ปุ่น 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ออสเตรเลีย 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อังกฤษ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในฝรั่งเศส นอกจากนี้ตลาดในแถบเอเชียมีอัตราการบริโภคนมถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นในอัตราก้าวกระโดด โดยเฉพาะจีน เนื่องจากปัจจัยหนุนจากสภาพเศรษฐกิจที่ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนในตลาดสิงคโปร์และมาเลเซียอัตราการขยายตัวของตลาดนมถั่วเหลืองสูงถึง 60% ทีเดียว
สำหรับตลาดในประเทศไทยในปี 2549 คาดว่ามูลค่าตลาดนมถั่วเหลืองประมาณ 5,300 ล้านบาท ซึ่งตลาดนมถั่วเหลืองนับเป็นตลาดเครื่องดื่มที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ตลาดนมถั่วเหลืองเริ่มมีสัดส่วนมากขึ้นในตลาดนมพร้อมดื่มทั้งหมด กล่าวคือ ปัจจุบันสัดส่วนนมถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 50% ของมูลค่าตลาดนมพร้อมดื่มทั้งหมด จากที่เคยมีสัดส่วนเพียง 14% ในปี 2541
โดยตลาดนมถั่วเหลืองแบ่งเป็นนมถั่วเหลืองยูเอชที (แบบกล่อง)ประมาณ 60% นมถั่วเหลืองสเตอริไรส์ (บรรจุขวดแก้ว) 39% และนมถั่วเหลืองแบบพาสเจอไรส์ (บรรจุขวดพลาสติก) 1% โดยในปี 2548 ตลาดนมถั่วเหลืองพร้อมดื่มมีอัตราการเติบโตประมาณ 23% เป็นอัตราการเติบโตสูงสุดของตลาดนมพร้อมดื่มทั้งหมด และคาดว่าในปี 2549 ตลาดนมถั่วเหลืองจะยังคงขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง กลุ่มเป้าหมายของตลาดนมถั่วเหลือง คือ ผู้ที่ห่วงใยในสุขภาพ เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ยอมรับนมถั่วเหลืองในฐานะที่เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ กลุ่มเด็กและวัยรุ่น
ปัจจุบันกลุ่มผู้ผลิตนมถั่วเหลืองแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
1.ผู้ผลิตนมถั่วเหลืองประจำวัน หรือน้ำเต้าหู้ที่จำหน่ายผ่านรถเข็นทั่วไป ซึ่งการผลิตนมถั่วเหลืองในลักษณะนี้มีเป็นจำนวนมาก สถานที่จำหน่ายจะเป็นแหล่งชุมชน การผลิตและจำหน่ายจะทำกันแบบวันต่อวัน
2.ผลิตลักษณะเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ผู้ผลิตกลุ่มนี้จะผลิตในปริมาณที่มากกว่ากลุ่มแรก แล้วบรรจุขวดเพื่อจำหน่ายในย่านชุมชนหรือส่งให้ผู้บริโภคเป็นประจำทุกวัน โดยนมถั่วเหลืองประเภทนี้สามารถจะเก็บในตู้เย็นได้ประมาณ 2-3 วัน
3.ผลิตในลักษณะอุตสาหกรรมเป็นนมถั่วเหลืองพร้อมดื่ม ซึ่งเป็นผู้ผลิตที่มีใบอนุญาตผลิตตามกฎเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงสาธารณสุข โดยเมื่อกล่าวถึงมูลค่าตลาดนมถั่วเหลืองเป็นการกล่าวถึงเฉพาะมูลค่าตลาดนมถั่วเหลืองในส่วนนี้เท่านั้น
เดิมนั้นการแข่งขันของตลาดนมถั่วเหลืองในไทยไม่รุนแรงมากนัก แต่หลังจากมีนักลงทุนรายใหม่ทยอยเข้ามาในตลาดทำให้การแข่งขันในตลาดนมถั่วเหลือง เนื่องจากค่ายผู้ผลิตนมหลายรายเข้าร่วมในสนามนี้ เพราะอัตราการขยายตัวของตลาดนมพร้อมดื่มไม่สูงมากนัก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดนมพร้อมดื่ม ซึ่งจะเข้ามาช่วยกันกระตุ้นตลาดนมถั่วเหลืองให้มีอัตราการเติบโตอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ผลิตทั้งรายเดิมและรายใหม่เน้นกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์สินค้า โดยเน้นกิจกรรมที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคเป้าหมาย ปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์และรสชาติให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในแต่ละวัยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการปิดช่องว่างทางการตลาดโดยการครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายทุกเพศทุกวัย
นอกจากการขยายตัวของตลาดในประเทศแล้ว ตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ผลิตและจำหน่ายนมถั่วเหลืองสำเร็จรูปของไทย คือ ตลาดส่งออก โดยตลาดนมถั่วเหลืองในภูมิภาคแถบนี้มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตลาดส่งออกที่น่าสนใจคือ มาเลเซียและสิงคโปร์ เนื่องจากไทยนับว่ามีความได้เปรียบในการที่เป็นแหล่งผลิตถั่วเหลือง อย่างไรก็ตามคาดว่าในอนาคตผู้ผลิตนมถั่วเหลืองนั้นคงต้องเข้าไปส่งเสริมการผลิตถั่วเหลืองในลักษณะตลาดข้อตกลง ทั้งนี้เพื่อเป็นการประกันว่าจะมีผลผลิตป้อนโรงงานอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากในปัจจุบันความต้องการถั่วเหลืองทั้งเพื่อการบริโภคโดยตรงและบรรดาอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ โดยเฉพาะโรงงานน้ำมันพืช โรงงานผลิตอาหารสัตว์ซึ่งมีความต้องการกากถั่วเหลือง โรงงานผลิตนมถั่วเหลืองชนิดผงซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับทารกที่แพ้นมโค และโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ตลาดนมถั่วเหลืองยังนับว่าเป็นตลาดเครื่องดื่มธัญพืชที่น่าจับตามอง เนื่องจากคาดการณ์ว่ายังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากผู้บริโภคยังคงให้ความนิยมบริโภคนมถั่วเหลือง ซึ่งนอกจากตลาดในประเทศแล้วตลาดส่งออกก็ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจอย่างมาก ทำให้คาดว่าในอนาคตโรงงานผู้ผลิตนมถั่วเหลืองพร้อมดื่มต้องเข้าไปลงทุนส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองในลักษณะตลาดข้อตกลง ทั้งนี้เพื่อประกันความสม่ำเสมอของปริมาณและคุณภาพวัตถุดิบถั่วเหลืองที่จะป้อนโรงงาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนประการสำคัญที่จะขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|