SOS…SAVE TIME AND SAVE LIFE


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

SOS บริการช่วยเหลือชีวิตฉุกเฉิน ในเมืองไทยคงมีคนจำนวนไม่มากนักที่รู้จักกับบริการที่ว่านี้ เหมือนในยุโรป อเมริกา International SOS Assistance เป็นบริษัทสวิสที่เข้ามาก่อตั้งเครือข่ายและให้บริการด้านนี้โดยเฉพาะ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เจนีวา และสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียที่สิงคโปร์

ล่าสุด SOS ได้จับมือกับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เปิด Alarm Center ซึ่งตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ ให้บริการด้านการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย คือนำผู้ป่วยจากจุดเกิดเหตุจนถึงโรงพยาบาล ซึ่งอาจจะเป็นการเคลื่อนย้ายทางบกด้วยรถพยาบาล หรือทางอากาศด้วยเฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินเจ็ต เครื่องบินโบอิ้ง(100 คนขึ้นไป) หรือเครื่องบินโดยสารพาณิชย์ธรรมดา ทั้งนี้แล้วแต่กรณี ซึ่งที่ผ่านมาทางบริษัทได้ใช้วิธีการเช่าเครื่องพร้อมนักบินจากบริษัทฮิลเลอร์ สีชังการบิน บางกอกแอร์เวย์ ไทยแอร์เวย์ โอเรียน แอร์ เอ็กซ์เพรส และการบินไทยในกรณีที่เป็นเครื่องบินพาณิชย์

นอกจากนี้ยังมีการบริการด้าน Medical treatment ซึ่งบริการทางด้านนี้ SOS จะทำหน้าที่เสริมให้แก่บริษัทประกันที่เป็นสมาชิกของ SOS โดยจะทำหน้าที่ประสานงานติดต่อแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย ติดตามผลของคนไข้อย่างใกล้ชิด และติดต่อกับบริษัทประกันที่คนไข้ซื้อกรมธรรม์ให้เข้ามาดูแลในเรื่องผลประโยชน์ของคนไข้ ซึ่งปัจจุบัน SOS จะเน้นบริการทางด้านนี้มากเป็นพิเศษ เพราะมีบริษัทประกันภัยเข้าร่วมเป็นสมาชิกมาก นอกจากนี้ยังมีบริการล่าม และข้อมูลด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย

สายสัมพันธ์ระหว่าง SOS และบำรุงราษฎร์ มีมาเป็นเวลานานแล้วจนกระทั่งบำรุงราษฎร์เปิดอาคารใหม่ที่มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์บนอาคารขณะที่ SOS ต้องการที่จะให้บริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศซึ่งมีความเชี่ยวชาญแต่ยังไม่เปิดให้บริการในเมืองไทยได้ ความร่วมมือกันในครั้งนี้นับว่าทั้งสองฝ่ายสามารถประสานประโยชน์กันได้อย่างลงตัว คือ SOS มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ที่จะให้บริการแก่ลูกค้า ขณะเดียวกันก็ยังได้ลูกค้าเพิ่มจากการแนะนำของบำรุงราษฎร์อีกด้วย ด้านบำรุงราษฎร์นอกเหนือจากจะได้ค่าเช่าพื้นที่จาก SOS ที่เข้าไปตั้งศูนย์อยู่ที่นั่นแล้วยังจะได้ลูกค้า/ผู้ป่วยที่ SOS จะส่งเข้ามาให้ด้วย และประโยชน์สูงสุดเหนือสิ่งอื่นใดที่บำรุงราษฎร์จะได้รับและเป็นที่ปรารถนาก็คือชื่อเสียงของโรงพยาบาล

"ความสัมพันธ์ที่บำรุงราษฎร์มีต่อ SOS ก็คือทางเราได้มีการจัดเตรียมการขนส่งทางพื้นดิน จัดหาแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญตามที่คนไข้ต้องการ จัดหาการดูแลรักษาในระดับที่เป็นมาตรฐานสากล โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ห้องพักคนไข้ฉุกเฉิน การดูแลคนไข้หนัก (intensive care or critical care services) ซึ่งบำรุงราษฎร์มีชื่อเสียงในด้านนี้เป็นที่รู้จักดี" เคอร์ติส ชโรเดอร์ CEO ของบำรุงราษฎร์ กล่าวถึงความพร้อมของโรงพยาบาลที่จะสามารถ serve กับความต้องการของ SOS

Claude A.Giroux ประธานกรรมการ SOS ซึ่งเดินทางมาเปิดศูนย์ด้วยตนเองกล่าวถึงที่มาที่ไปในการตัดสินใจเลือกบำรุงราษฎร์ว่า

"ที่สำคัญที่สุดที่เราพิจารณาก็คือเราจะมองหาโรงพยาบาลที่สามารถดูแลในเรื่องโรคหัวใจ หรือ การดูแลผู้ป่วยที่เป็นทารกหรือเด็ก ซึ่งเราถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะหากไม่มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่จะช่วยได้อย่างทันท่วงทีจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ และบำรุงราษฎร์ก็เป็นแห่งเดียวในเมืองไทยที่มีเครื่องขนย้ายทารกที่มีเครื่องช่วยหายใจและยังมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญในด้านนี้ด้วย ซึ่งนั่นก็คือปัจจัยสำคัญที่เรามอง นอกจากนี้ การที่กรุงเทพฯตั้งอยู่ที่ในทำเลที่ดีจึงทำให้เราต้องเลือกที่จะส่งลูกค้ามาที่นี่ เพราะจะช่วยประหยัดเวลาและช่วยเหลือชีวิตได้ทันเวลา และอีกอย่างก็คือที่นี่มีเครื่องมือที่สามารถดูแลรักษาคนไข้ที่มีปัญหาซับซ้อนได้ อย่างเช่นคนไข้ที่คอหัก หลังหัก เราจะส่งมาที่นี่เพราะว่าที่นี่จะรู้วิธีและสามารถที่จะดูแลผู้ป่วยประเภทนี้ได้ นอกจากนี้ที่นี่ยังมีแพทย์ที่มีการฝึกฝนมาอย่างดีเยี่ยมในระดับสากล เราสามารถนำลูกค้าของเรา เช่น Exxon หรือ Mobil มาที่นี่ได้โดยไม่ถูกต่อว่าจากลูกค้าซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก"

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า SOS จะมีความสัมพันธ์กับบำรุงราษฎร์ แต่ไม่ได้หมายความลูกค้าของ SOS จะถูกส่งมายังที่นี่ทั้งหมด เพราะลูกค้ายังมีสิทธิที่จะเลือกโรงพยาบาลด้วยตัวเอง ยกเว้นเฉพาะในกรณีที่ลูกค้ายังไม่มีความคิดที่จะไปรักษาที่ไหน จึงจะส่งมาที่บำรุงราษฎร์

ที่ผ่านมา SOS จะนำผู้ป่วยที่เป็นชาวต่างชาติไปยังสิงคโปร์ ในขณะที่บำรุงราษฎร์เองก็วาง position ของตนเองเป็นโรงพยาบาลระดับภูมิภาคโดยมีสิงคโปร์เป็นคู่แข่งที่สำคัญ ดังนั้นเมื่อสามารถดึง SOS เข้ามาร่วมมือได้บำรุงราษฎร์จะสามารถยกระดับตนเองได้อย่างรวดเร็วขึ้น ซึ่งปัจจุบันบำรุงราษฎร์ได้รับคนไข้เอเชียจากบังกลาเทศ เนปาล เวียดนาม ลาว กัมพูชา จีนตอนใต้ และมาเลเซียอยู่แล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการใช้บริการของ SOS จะต้องเป็นสมาชิก โดยจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นรายปี ซึ่งแยกออกเป็นประเภทรายบุคคล และกลุ่มเริ่มตั้งแต่ 1,000 คนขึ้นไป ซึ่งในส่วนของรายบุคคลนั้นค่าธรรมเนียมตกปีละ 4,500 บาท(ไม่รวมค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล) หากสมาชิกเป็นกลุ่มจะถูกลงมากขึ้นอยู่กับจำนวน ซึ่งปัจจุบัน SOS มีสมาชิกอยู่ทั่วโลกประมาณ 53 ล้านคน ส่วนในประเทศไทยสมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาเปิดสาขา หรือบริษัทลูกในเมืองไทย บริษัทประกัน เช่น นวกิจประกันภัย อาคเนย์ประกันภัย Chubb Thailand ซิกน่า เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีบริษัท ชินวัตร, จ.ส.100 เป็นต้น ที่สำคัญสมาชิกของ SOS สามารถใช้บริการศูนย์ของ SOS ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลก

Giroux กล่าวว่าในแต่ละสัปดาห์ SOS มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากแอฟริกาถึง 50 ราย และมีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุจากการไต่เขาซึ่งเมื่อปีที่แล้วทั้งปีมีถึง 17,000 ราย ปัจจุบัน SOS มี Alarm Center ทั้งหมดทั่วโลก 22 แห่ง สามารถให้บริการได้ 100,000 รายต่อปี "ที่เราทำอย่างนั้นได้มากเพราะเรามีความเชี่ยวชาญ มีสายสัมพันธ์กับโรงพยาบาลที่ดีมีชื่อเสียง มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ที่เราสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว และเราคิดว่าอีกประมาณ 2-3 ปี เราจะสามารถกระตุ้นคนไทยให้เข้าใจและมีโอกาสได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วซึ่งยังไม่ได้มีในตอนนี้"

โดยในเมืองไทย SOS ยังมีกำลังความสามารถจำกัดรองรับได้เฉพาะในประเทศเท่านั้นแม้ว่าจะมีการเพิ่มกำลังความสามารถไปแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอเพราะอัตราการใช้บริการเพิ่มมากขึ้น จากการที่บริษัทได้สมาชิกที่เป็นบริษัทประกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม Giroux มองว่าปัญหาใหญ่ที่เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจในเมืองไทยก็คือความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนถึงเรื่องการอำนวยความสะดวกต่างๆ "ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์เราใช้เวลาถึง 45 นาทีกว่าจะไปถึงที่เกิดเหตุ ซึ่งใช้เวลานานมากผู้ป่วยอาจจะเลือดออก เสียชีวิตหรือไม่ก็สมองฟกช้ำ หากเราสามารถลดระยะเวลาเหมือนอย่างที่สวิสเซอร์แลนด์ ที่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้เวลาเพียง 8 นาทีก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ปัจจุบันยังไม่เป็นเช่นนั้น เราจำเป็นต้องสร้างกระบวนการทำความเข้าใจเรื่องนี้กับตำรวจ และเรื่อง facility เพราะตอนนี้คุณไม่สามารถจอดเฮลิคอปเตอร์บนถนนได้"

บริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์ที่ SOS นำเสนอแก่สมาชิกนี้จะสามารถให้บริการได้เฉพาะในช่วง 6.00 น.- 18.00 น.เท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายที่บังคับไว้

แต่การที่ศูนย์นี้เปิดให้สมาชิกโทรเรียกใช้บริการได้ 24 ชั่วโมง โดยที่ศุภรัตน์ ณรงค์วณิชย์ รับผิดชอบในตำแหน่ง Operation Manager ของศูนย์นี้ก็ด้วยเหตุที่ SOS และบำรุงราษฎร์กำลังสนใจที่จะให้บริการด้าน House Call Services รองรับความต้องการของนักเดินทางชาวต่างชาติในยามที่ต้องการแพทย์ไปรักษาถึงที่พัก ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีบริการเช่นนี้ในเมืองไทย แว่วๆมาว่าค่าบริการนี้สูงน่าดูทีเดียว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.