|

สุดยอดแฟรนไชส์ปี 48 : ร้านสะดวกซื้อเปิดศึกแต่ไก่โห่ บี้เงินลงทุน-ปิดยอดกว่า 5,000 สาขา
ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ธุรกิจร้านสะดวกซื้อหรือคอนวีเนี่ยนสโตร์ เปิดศึกร้อนแรงตั้งแต่ไตรมาสแรก โดยเฉพาะพี่บิ๊กในตลาดอย่างเซเว่นอีเลฟเว่นออกมาประกาศแผนบุก รุกอย่างดุเดือด ส่วนแบรนด์ไทยอย่างวีช้อปก็ประกาศแข่งสู้ งัดกลยุทธ์เพิ่มสาขา สร้างยอดขายแฟรนไชซีสารพัดโครงการ ที่สำคัญดัมพ์ราคาลงทุนไม่ถึงล้านบาท
เมื่อพี่บิ๊กของวงการอย่างเซเว่นอีเลฟเว่น (7-11) ตั้งเป้าเติบโตจากปีที่ผ่านมา 15% รวมถึงการฉลองครบ 3,000 สาขาทั่วไทย และขายฝันอีก 5 ปี 5,000 สาขาแน่นอน นั่นหมายถึงจะมีสาขาเพิ่มเฉลี่ยปีละกว่า 450 สาขา เตรียมความพร้อมระดมทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิและไตรมาส 2 ของปียังประกาศเพิ่มสัดส่วนแฟรนไชส์มากขึ้น
จากการกระหน่ำแคมเปญลงทุน 7-11 เพียง 1.5 ล้านบาท จากที่ผ่านมาเป็นการลงทุนขนาดใหญ่มูลค่าการลงทุนสูงขึ้นตามไปด้วยที่ 3 ล้านบาท
ปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า 7-11 ได้มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการร้าน และลงทุนกับเครื่องบันทึกข้อมูลจากการจ่ายของลูกค้า ทุกเพศ วัย เพื่อการบริการจัดการสินค้าตามกลุ่มเป้าหมายที่เข้าใช้บริการแต่ละสาขา
นอกจากนี้ได้เริ่มทยอยเพิ่มสัดส่วนสินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่มจาก 50% เป็น 60% เพราะเป็นกลุ่มสินค้าที่มีกำไรดี ซึ่งเป็นกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจร่วมกับพันธมิตรนำสินค้าที่ดีที่สุดเข้าวางจำหน่ายภายในร้าน และในปีนี้ 7-11 ยังได้รุกตลาดเบเกอรี่ โดยจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นดำเนินธุรกิจในส่วนนี้โดยเฉพาะ
รวมถึงการปรับคอนเซ็ปต์ใหม่ ในบางสาขาจาก 300 สาขาที่ตั้งในปั๊ม ปตท. โดยดูพื้นที่และทำเลเพราะต้องใช้พื้นที่มากถึง 150 ตร.ม. เพื่อการให้บริการที่ครบวงจรและจัดสรรพื้นที่เป็นมุมรับประทานอาหารว่าง ด้วยเงินลงทุนต่อสาขาสูงถึง 8 ล้านบาท
ด้านวีช้อป โดยเอกราช วิสารทสกุล ประธานอำนวยการ บริษัท มินิมาร์ท เอ็กซเพรส จำกัด (มหาชน) เปิดแผนรุกตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี และที่สร้างเสียงฮือฮาให้กับวงการไม่พ้นการเฉือนราคาลงทุนเหลือไม่ถึงล้านบาทเหลือเพียง 690,000 บาท ขนาดพื้นที่ 1 คูหาส่วน 2 คูหาเงินลงทุนยังคงที่ 1.38 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังเพิ่มบทบาทใหม่ไม่ใช่เพียงร้านสะดวกซื้อเท่านั้น แต่เป็นการขยายสู่ภาคการขายส่งเปรียบเหมือนแม็คโครขนาดย่อมๆ พร้อมออกไซส์การลงทุนขนาดมินิเป็น มินิเอ็กเพรส เจาะลึกลงตามชุมชนต่างๆ โดยวีช้อปเอ็กเพรสจะเป็นผู้กระจายสินค้า ตั้งเป้า 1 วีช้อปเอ็กเพรส จะมีมินิเอ็กเพรส 50 สาขา
ด้วยคอนเซ็ปต์วีช้อปที่เป็นมากกว่าร้านค้าปลีก นั้น ในปีนี้ ได้เริ่มเห็นความร่วมมือกับพันธมิตร เช่น ร้านขายยา ไปรษณ์ย์ ธนาคาร บริการถ่ายรูปด่วน ร่วมถึงการโปรโมชั่นรายการสินค้ายอดนิยม ลด แลก แจกแถม กระตุ้นการเข้าใช้บริการจากผู้บริโภคที่มากขึ้น ขณะเดียวกันเพื่อสร้างรายได้ให้กับแฟรนไชซี
และปี 2548 เป็นปีที่แฟมิลี่มาร์ท ประกาศปลดแอกการขาดทุนต่อเนื่องติดต่อกันมายาวนานถึง 8 ปี โดยปีนี้เป็นปีที่เริ่มทำกำไรตั้งแต่ไตรมาสแรกมีอัตราการเติบโตสูงถึง 30% ทางผู้บริหาร กนก วงษ์ตระหง่าน ในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด บอกว่า ด้วยความมุ่งมั่นในการบริหารงาน และกลยุทธ์ที่เน้นการพัฒนาร้าน สรรหาสินค้าที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด ความสะอาดการจัดวางสินค้าภายในร้านและการบริการ เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อยอดขายตามมา
ฉะนั้นกับแผนการขยายสาขาปิดตัวเลขในปี 2548 ประมาณ 600-700 สาขาและตั้งเป้า อีก 2 ปีหรือในปี 2550จะต้องครบ 1,000 สาขาไม่น่าไกลเกินเอื้อม
ส่วน เฟรชมาร์ท ร้านสะดวกซื้อสัญชาติไทยอีกรายที่ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ยังขายคอนเซ็ปต์การบริหารงานที่ยืดหยุ่นเข้าใจความต้องการของผู้ประกอบการไทย เดินหน้าฝึกอบรม รับฟังความคิดเห็นและหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมทั้งชูเงินลงทุนต่ำ 6.9 แสนบาทเมื่อเทียบกับแบรนด์ใหญ่ต่างชาติ
นอกจากนี้ จะเห็นว่าทั้ง 3 ราย เซเว่นอีเลฟเว่น วีช้อปและแฟมิลี่มาร์ท ลงทุนขยายคลังสินค้า โดยแฟมิลี่มาร์ท ได้ตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ บริษัท เอสดีซีเอ็ม จำกัด ทำหน้าที่กระจายสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยร่วมถือหุ้น 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท สยามแฟมิลี่มาร์ท จำกัด บริษัท ฮิโตรู ประเทศไทย จำกัด และบริษัท ในเครือสหพัฒน์
7-11 ลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ บริเวณใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับการให้บริการกับร้านสาขาที่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2,100 ล้านบาทเปิดไตรมาส 4 ปี 48 ทั้งนี้ศูนย์กระจายสินค้าบางบัวทองสามารถรองรับได้ 3,000 สาขา
ส่วนวีช้อป นั้นลงทุนถึง 200 ล้านบาท สร้างคลังสินค้าขึ้นเองที่ย่านบางบัวทอง ซึ่งยอมรับว่าที่ผ่านมาใช้บริการจากที่อื่นทำให้มีปัญหาด้านการจัดส่งสินค้า
และกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงต่อเนื่องตลอดทั้งปีที่ส่งผลต่อต้นทุนการบริหารและราคาสินค้าที่ต้องเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ยังกำลังซื้อของผู้บริโภคและการลงทุนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น
ปิยะวัฒน์ กล่าวว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขายแต่อย่างใด ยังมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10% ยอดขายเฉลี่ยต่อร้านที่ 50,000 บาทต่อเดือน โดย 7-11 ได้ตั้งรับกับปัจจัยราคาน้ำที่ส่งผลต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้สามารถประหยัดไฟได้ไม่น้อยกว่า 20% ซึ่งทยอยดำเนินการครบทุกสาขา ซึ่งจะทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายค่าไฟต่อปีลงได้ถึง 200 ล้านบาท
กนก กล่าวในทำนองเดียวกันว่าไม่ได้รับผลกระทบ เพราะสินค้าที่วางจำหน่ายยังมีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน แต่ในส่วนของการลงทุนธุรกิจต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังมากขึ้น เช่นเดียวกับ เอกราช ที่มียอดขายที่โตต่อเนื่องประมาณ 15% ซึ่งผลบวกที่ได้รับคือหันกลับมาซื้อสินค้าใกล้บ้านมากขึ้นประหยัดค่าเดินทาง และจังหวะดังกล่าวนี้ได้ร่วมกับพันธมิตรนำสินค้าจำเป็นมาลดราคาพิเศษและเพิ่มสินค้าที่จะสู่ศูนย์ค้าส่งต่อไปนั้นเพื่อให้มีสินค้าหลากหลายขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตลอดปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าการเข้ามาลงทุนในร้านสะดวกยังสูงเป็นอัน 2 รองจากแฟรนไชส์อาหาร และเป็นกลุ่มแฟรนไชส์ที่มีการขยายสาขามากที่สุด
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|