|
ทีโอทีเร่งเคลียร์ปัญหา กทช. ยอมจ่ายค่าเลขหมาย 89 ล้าน
ผู้จัดการรายวัน(26 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ทีโอทีจูบปากกทช. เร่งสรุปปัญหาคาใจ หลังจ่ายค่าธรรมเนียมเลขหมายแล้ว 89 ล้านบาท ด้านผลประกอบการคาดครึ่งปีหลังกำไรลดลงจาก 2 ปัจจัยหลักค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจาก Early Retired พนักงานกว่าพันล้านบาทและค่าธรรมเนียมกทช. ส่วนบริการ 3G รอบอร์ดตัดสินอนาคตต้นปี 49
นายธีรวิทย์ จารุวัฒน์ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที กล่าวภาย หลังการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า บอร์ดทีโอทีมีมติอนุมัติให้ จ่ายค่าธรรมเนียมการใช้เลขหมายให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่อัตราเลขหมายละ 12 บาทต่อปี โดยเฉลี่ยเดือนละประมาณ 22.2 ล้านบาท รวมตั้งแต่ได้รับใบอนุญาตในเดือน ส.ค.จนสิ้น พ.ย.ทีโอทีต้องจ่ายทั้งหมด 89 ล้านบาท สำหรับค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ต้อง จ่าย 3% ของรายได้นั้น อยู่ในระหว่าง การต่อรอง โดยแนวทางของทีโอทีจะขอส่วนลดหย่อนใน 5 หมวดซึ่งตกลงกับกทช.ได้บางหมวดแล้ว ส่วนเรื่องบริการโทรคมนาคมทั่วถึงหรือ Universal Service Obligation (USO) นั้น ก็เป็นเรื่องหลักที่กำลังต่อรองกับกทช.เช่นกัน
ทั้งนี้ ทีโอทีไดตั้งสำรองเป็นค่าใช้จ่ายไว้ในงบการเงินจำนวน 1,500 ล้านบาทสำหรับค่าธรรมเนียมใบอนุญาต แต่ในความเป็นจริงไม่ต้องจ่ายเต็มจำนวนดังกล่าวเพราะได้ใบอนุญาตไปเมื่อเดือนส.ค.หรือคิดเป็น เวลาเพียง 5 เดือนเท่านั้น
ทีโอทีได้ยื่นไฟลิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯไปเมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมาทำให้ยังไม่สามารถให้ข้อมูลตัวเลขประมาณการผลประกอบการสิ้นปีได้ แต่สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรก พบว่าทีโอทีมีรายได้ใกล้เคียงช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมาในระดับ 3.8 หมื่นล้านบาท แต่ผลกำไร ลดลงคือครึ่งปี 2547 มีกำไร 6 พันล้านบาท ส่วนครึ่งปี 2548 มีกำไร 5.6 พันล้านบาท และเชื่อว่าครึ่งปีหลังกำไรจะลดลงจากครึ่งปีแรกหรือน้อย กว่า 5.6 พันล้านบาท เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นที่สำคัญคือเรื่อง Early Retired ของพนักงานที่สูงถึง 1,024 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมกทช.ดังกล่าว
ส่วนไทยโมบายที่ให้บริการโทรศัพท์ มือถือในระบบ 1900 เมกะเฮิรตซ์ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างทีโอทีกับบริษัท กสท โทรคมนาคมในสัดส่วน 58/42 อยู่ในขั้นตอนการประเมินมูลค่าที่ แท้จริง หลังจากที่สำนักงานตรวจเงิน แผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงให้มีการปรับปรุง ตัวเลขบางรายการ เพื่อให้ทีโอทีเป็นผู้ได้สิทธิดำเนินการแต่เพียงผู้เดียวทั้งเรื่องการซื้อหุ้นและเรื่องความถี่
ประเด็นสำคัญที่ต้องมีการปรับปรุง คือเรื่องการด้อยค่าของโครงข่ายไทย โมบายในระยะเวลา 3 ปี หรือคิดเป็น มูลค่าประมาณ 1.5 พันล้านบาท ทำให้ ตัวเลข 4 พันล้านบาทเดิมที่กสทต้อง การให้ทีโอทีจ่ายอาจไม่สูงถึงขนาดนั้น รวมทั้งในเรื่องผลขาดทุนสะสมที่มีอยู่ ว่าจะปรับปรุงกันอย่างไรโดยปัจจุบันไทย โมบายมีลูกค้าใช้บริการไม่ถึง 1 แสนราย
"บอร์ดทีโอทีจะพิจารณาอนาคต ของไทยโมบายในต้นปี 2549 โดยประเมินมูลค่าและทางเลือกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการหาพาร์ตเนอร์ใหม่ไปจนถึงอาจเลิกกิจการ"
ด้านนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานบอร์ดทีโอทีกล่าวว่าทีโอทีต้อง การเป็นเทเลคอม ซูเปอร์มาร์เกต เพื่อให้บริการครบวงจรโดยมุ่งที่ลูกค้า เป็นหลักหรือ Customer Centric ด้วยการปรับโครงสร้างองค์กรนำฝ่าย โปรดักต์และมาร์เกตติ้งมารวมกัน เพื่อ ลดช่องว่างและช่องทางในการนำสินค้า และบริการไปถึงมือลูกค้าให้เร็วที่สุด โดยความเข้มแข็งของทีโอทีมีหลายประการไม่ว่าจะมีโครงข่ายที่แข็งแรงอย่าง NGN, IP STAR, 3G การเป็น ผู้นำในตลาด IP Networks หรือมี ลูกค้ามากกว่า 2 แสนพอร์ต การเป็น ผู้นำในเรื่องโทรศัพท์สาธารณะ มีส่วน แบ่งตลาด 87% และมีการเติบโตในเรื่องบรอดแบนด์ที่สูงมากคือ เพิ่มขึ้นถึง 1,350% จากจำนวนลูกค้าในปี 2004
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|