|
LH BANK ค้ำบัลลังก์อสังหาฯ อันดับหนึ่ง ผูกขาดปล่อยกู้ลูกบ้านแลนด์แอนด์เฮ้าส์
ผู้จัดการรายสัปดาห์(26 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
LH BANK เขย่าสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ วงการแบงก์กระเทือน แลนด์แอนด์เฮ้าส์บริการเองครบวงจร ติดปีกธุรกิจ แค่บริการลูกบ้านก็อยู่ได้สบาย จับตาบทบาท "อนันต์ อัศวโภคิน" ที่ภาคการเมืองเรียกใช้มากขึ้น สายสัมพันธ์แน่นจากวิศวะจุฬากับบุญคลี ปลั่งศิริ จากชินคอร์ป
คาดการณ์ว่าสิ้นปี 2548 ยอดขายบ้านของบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) หรือ LH น่าจะทำได้ถึง 2.25 หมื่นล้านบาท โดยส่วนแบ่งตลาดของ LH เพิ่มขึ้นเป็น 12.75% ในไตรมาส 3 ปี 2548 จาก 11.8% ในไตรมาส 2 ปี 2548
บ้านในหลายโครงการของกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ทางโครงการได้เลือกสถาบันการเงินให้กับลูกบ้านด้วยอัตราดอกเบี้ยที่น่าจูงใจกว่าสถาบันการเงินอื่น แม้ก่อนหน้านี้จะดำเนินการในนามบริษัทเงินทุนบุคคลัภย์ จำกัด(มหาชน) แต่หลังจากวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมาลูกบ้านของแลนด์แอนด์เฮ้าส์จะเปลี่ยนจากบุคคลัภย์ไปเป็นธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย จำกัด(มหาชน)
ธนาคารแห่งนี้เกิดจากการควบรวมระหว่างบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด กับบริษัทเงินทุนบุคคลัภย์ จำกัด(มหาชน) โดยได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังเมื่อ 30 ธันวาคม 2547 สามารถให้บริการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อแฟคตอริ่ง สินเชื่อธุรกิจ SME สินเชื่อบุคคลได้ และด้านเงินฝากสามารถรับฝากในบัญชีออมทรัพย์ กระแสรายวัน เงินฝากปลอดภาษี การโอนเงินระหว่างบัญชีธนาคาร การรับชำระค่าสินค้าและบริการ บัตร ATM และบัตรเครดิต
ลูกบ้าน=ลูกค้าใหญ่
ในปีหน้า LH BANK ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อให้ได้ถึง 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 3 พันล้านบาทภายใต้ทุนจดทะเบียน 1.5 พันล้านบาท ดังนั้นเป้าหมาของสินเชื่อในปี 2549 ย่อมทำให้ธนาคารต้องเตรียมเพิ่มทุนอีกราว 1 พันล้านบาท
เป้าหมายของการปล่อยสินเชื่อของ LH BANK ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกับโครงการของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ควอลิตี้เฮ้าส์ และเอเชี่ยน พร๊อพเพอร์ตี้ ถือเป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุด
แน่นอนว่าจากนี้ไปธนาคารพาณิชย์ที่เคยมุ่งปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ให้กับกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เช่น ค่ายไทยพาณิชย์ คงต้องเจอกับคู่แข่งสำคัญอย่าง LH BANK ที่เป็นบริการเสริมสำหรับลูกบ้านแลนด์แอนด์เฮ้าส์ชนิดครบวงจร และยังพร้อมที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการอื่น ๆ ทุกแห่ง
ถึงวันนี้อาณาจักรของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ใหญ่ขึ้นทุกขณะ มีธุรกิจที่สามารถให้บริการได้ครบวงจร ไม่เพียงแค่ LH BANK ที่จะปล่อยสินเชื่อรับกับโครงการของตนเองเท่านั้น ยังสามารถปล่อยสินเชื่อบุคคลได้อีก แค่เปิดสาขาตามโครงการของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ได้ก็น่าจะได้ลูกค้าไปไม่น้อย
เข้าตาการเมือง
อนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการธนาคาร LH BANK เจ้าพ่อวงการอสังหาริมทรัพย์อันดับหนึ่งของไทย บทบาทของเขาไม่เพียงแค่การเป็นนายแบงก์และผู้นำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ด้วยความเป็นศิษย์เก่าคณะวิศวะกรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่รุ่นพี่รุ่นน้องล้วนแล้วแต่มีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โตแทบทั้งสิ้น เห็นได้จากเมื่อปี 2547 ที่เกิดเหตุสึนามิ ครั้งนั้นมีอนันต์ อัศวโภคิน กลุ่มผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงบุญคลี ปลั่งศิริ จากค่ายชินคอร์ป เข้ามาร่วมด้วย
ล่าสุดอนันต์ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็น 1 ใน 7 ของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า ทำหน้าที่กำกับดูแลอัตราค่าบริการของผู้ประกอบกิจการไฟฟ้า กำหนดมาตรการส่งเสริมการแข่งขันและป้องกันการใช้อำนาจผูกขาดในทางมิชอบ กำหนดวิธีการและกำกับการแข่งขันการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ กำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการไฟฟ้า กำหนดและกำกับดูแลมาตรฐานทางวิชาการและความปลอดภัยของการประกอบกิจการไฟฟ้า รวมทั้งช่วยปฏิบัติงานบางอย่างให้แก่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
จากนี้ไปบทบาทของอนันต์ อัศวโภคิน นับว่าน่าจับตาไม่น้อย จากการได้รับความไว้วางใจจากภาคการเมืองมากขึ้น ไม่นับความผูกพันธ์ที่มีกับพลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ที่ดึงเอาทักษิณ ชินวัตร เข้ามาเดินในเส้นทางการเมือง
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นของกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ปรากฏว่ามีนักลงทุนจากสิงคโปร์เข้ามาถือหุ้นใหญ่เช่นเดียวกับกลุ่มชิน คอร์ป โดย Government of Singapore Investment Corporation หรือ GIC ถือหุ้น 18.78% ในแลนด์แอนด์เฮ้าส์ และบริษัทในตระกูลของแลนด์อย่าง 14.27% ในควอลิตี้เฮ้าส์ ขณะที่ SINGTEL STRATEGIC INVESTMENTS PTE LTD ที่ TEMASEK ของรัฐบาลสิงคโปร์เช่นกัน ถือหุ้น 63% เข้าถือหุ้นใน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) 19.26% และ 1.08% ในชินคอร์ป และซีเอส ล็อกซอินโฟอีก 13.45% และ GIC ยังถือหุ้นใน ADVANC อีก 0.76%
ครบวงจร
การเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ถูกระบุว่าเป็นผลมาจากมันสมองของอนันต์ อัศวโภคิน ที่อ่านเกมธุรกิจ ภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคได้ขาด และสามารถปรับรูปแบบของโครงการที่อยู่อาศัยได้สอดคล้องกับสภาพการณ์ ในบางครั้งยังสามารถชี้นำทิศทางของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้ จนรักษาความเป็นเบอร์หนึ่งของวงการนี้มาได้ตลอด ยากที่ใครจะก้าวขึ้นมาเทียบเคียงได้
ประสบการณ์ทางด้านการเงิน แม้อนันต์จะใช้ฐานจากตลาดหุ้นเป็นหลักในการสร้างอาณาจักรจนมาถึงวันนี้ แต่เมื่อครั้งที่เศรษฐกิจรุ่งโรจน์แลนด์แอนด์เฮ้าส์ได้เข้าไปลงทุนในภาคการเงินหลายแห่ง เช่น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นิธิภัทร จำกัด(มหาชน) โดยเป็นทั้งผู้สนับสนุนโครงการและปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า นั่นคือความพยายามสร้างอาณาจักรอย่างครบวงจรของกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ในยุคที่ไม่มีการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์รายใหม่
แม้จะไม่สมหวังหลังจากเกิดวิกฤตการเงินในปี 2540 หลังจากนั้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หลายแห่งถูกสั่งปิดกิจการ แลนด์แอนด์เฮ้าส์แนบแน่นกับกลุ่มไทยพาณิชย์มาตลอด โดยเฉพาะการโดดลงไปช่วยบริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น(ไทย) จำกัด (มหาชน)
อีกทั้งด้วยความที่เคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทหลักทรัพย์ เอกธำรง ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นบริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ และบริษัทหลักทรัพย์แอสเซท พลัส ภายใต้การบริหารงานของก้องเกียรติ โอภาสวงการ จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องการระดมทุนเพื่อเปิดโครงการใหม่
ถือเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กลุ่มแรกที่มีธนาคารเป็นของตนเองคอยสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัท อาจจะแตกต่างจากกรณีของธุรกิจธนาคารที่เริ่มต้นจากภาคการเงินก่อนขยายไปสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่นับจากนี้ไปหากประเมินจากสายสัมพันธ์ทางธุรกิจของเจ้าพ่อวงการอสังหาริมทรัพย์คนนี้ การปูทางเพื่อให้ธนาคาร LH BANK เติบโตไปในทุกทิศทางจึงดูไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
ธนาคารแลนด์ แอนด์เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย จำกัด มหาชน
ผู้ถือหุ้น จำนวนหุ้นที่ถือ (ล้านหุ้น) ร้อยละ (%)
บ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ 4.73 43
บ.ควอลิตี้เฮ้าส์ 2.97 27
นางสาวเพียงใจ หาญพาณิชย์ 2.2 20
ผู้ถือหุ้นรายย่อย 1.1 10
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|