ชินแซทฯชี้รายได้ไอพีสตาร์ปีหน้า5พันล.


ผู้จัดการรายวัน(23 ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"ชินแซทฯ" คาดปีหน้ารายได้ไอพีสตาร์จะสูงถึง 5 พันล้านบาท หลังให้บริการต้นปี 2549 โดยในไทยแต่งตั้งทีโอทีเป็นผู้ให้บริการหลักรายเดียว ในขณะที่ทีโอทีตั้งอีก 12 ดีลเลอร์ช่วยบุกตลาด ด้านเอ็ม-ลิ้งค์หนึ่งในดีลเลอร์ไอพีสตาร์หวังใช้เป็นแต้มต่อในการให้ บริการกลุ่มลูกค้าองค์กรที่ต้องการระบบสื่อสารภายใน

เมื่อวานนี้(22 ธ.ค.) บริษัท ชินแซทเทลไลท์ ได้มีพิธีแต่งตั้งบริษัท ทีโอที เป็นผู้ให้บริการหลักแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย (National Service Operator หรือ NSO) ของดาวเทียมไอพีสตาร์ พร้อมทั้งทีโอทีได้แต่งตั้งพันธมิตรเป็นผู้ทำตลาดในประเทศไทยอีก 12 ราย อาทิ บริษัท ซีเอส ล็อกซ์ อินโฟร์, บริษัท สามารถเทลคอม บริษัท เอ็ม-ลิ้งค์ บริษัท แอดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยีหรือเอไอที บริษัท ชินบรอดแบนด์

ดร.ดำรง เกษมเศรษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร ชินแซทฯกล่าวว่าชินแซทฯจะสนับสนุนทีโอทีทั้งด้านการตลาดและเทคโนโลยี ในลักษณะการตั้งคณะกรรมการด้านการตลาด (Marketing Committee) และการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้เกิดการใช้งานโดยมีแอปพลิเคชันหลักอย่างบริการโทรศัพท์ทางไกลชนบท (Rural Telephone) รวมทั้งการสนับสนุนลงไปในระดับพันธมิตรทั้ง 12 ราย ของทีโอที

ทั้งนี้ ชินแซทฯคาดว่าหลังจากไอพีสตาร์ ให้บริการเชิงพาณิชย์ต้นปี 2549 จะทำให้รายได้รวมของกลุ่มชินแซทฯเพิ่มขึ้นเท่าตัว และ 50% ของรายได้ดังกล่าวมาจากไอพีสตาร์ ซึ่งหมายถึงรายได้ไอพีสตาร์ในปีหน้า จะอยู่ในระดับประมาณ 5 พันล้านบาท เท่ากับรายได้ของชินแซทฯทั้งหมดในปีนี้

โดยที่ไอพีสตาร์จะก่อให้เกิดรายได้ 2 ส่วนคือค่าเช่าความถี่หรือแบนด์วิธ กับการขายอุปกรณ์ภาคพื้นดิน ซึ่งตั้งแต่ขายอุปกรณ์ ภาคพื้นดินไอพีสตาร์ตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว มีจำนวนประมาณ 4 หมื่นชุด (ใช้กับดาวเทียม ไทยคม) แต่ในปีหน้าคาดว่าเฉพาะทีโอที ที่ใช้ไอพีสตาร์ทั้งดาวเทียมและอุปกรณ์ภาคพื้นดิน จะใช้อุปกรณ์ประมาณ 1 แสนชุด และหากรวมในประเทศจีน หรืออินเดียเพิ่มเข้าไปอีก อาจได้ถึงประเทศละแสนชุด ซึ่งจะ ทำให้รายได้กลับเข้ามาที่ชินแซทฯจำนวนมาก

นายธีรวิทย์ จารุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอทีกล่าวว่าทีโอทีมีสัญญาเช่า 7 ปีกับไอพีสตาร์โดยจ่ายค่าเช่าปีละประมาณ 475 ล้านบาทซึ่งทีโอทีจะทำตลาดทั้งในลักษณะค้าส่งและค้าปลีกผ่านพันธมิตรทั้ง 12 ราย โดยมีกลุ่มผู้ใช้หลักประกอบด้วย
1. ทีโอทีจะนำไอพีสตาร์ไปทดแทนเครือข่ายโทรศัพท์สาธารณะในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งปัจจุบันมีการใช้งานกว่า 1.8 แสนเลขหมาย รวมถึงการวางเครือข่ายการสื่อสารในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ
2. ทีโอทีจะให้บริการกลุ่มผู้ใช้การสื่อสารภายในองค์กร (Intranet) ของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจต่างๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ที่ให้บริการแล้วกว่า 1.1 หมื่นสถานี
3. ทีโอทีมีแผนนำไอพีสตาร์ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรวมทั้งบริการมัลติมีเดีย

ทีโอทีอยู่ระหว่างเจรจากับกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้อบต.ที่มีอยู่ประมาณ 8 พันแห่งมาใช้บริการไอพีสตาร์ อย่างบริการวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์

ด้านพลณรงค์ วัฒนโพธิธร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอ็ม-ลิ้งค์กล่าวว่าการที่เอ็ม-ลิ้งค์เสนอตัวเป็นพันธมิตรกับทีโอที เพราะไม่ต้องการตกขบวน และเพื่อประโยชน์ในการให้บริการกลุ่มลูกค้าองค์กรต่างๆที่ต้องการมีระบบสื่อสารภายใน ไอพีสตาร์จะเข้ามาเป็นระบบสื่อสัญญาณที่ดีในพื้นที่สายครอบคลุมไม่ถึง โดยเฉพาะบริการที่เชื่อมต่อกับสถานีฐานของจีเอสเอ็ม ซึ่งจะทำให้ภายในองค์กรนอกจากใช้การสื่อสารข้อมูลแล้ว ยังสามารถใช้โทรศัพท์มือถือในระบบจีเอสเอ็มผ่านไอพีสตาร์ได้ โดยที่จะต้องใช้บริการในเครือข่ายของโอเปอเรเตอร์โทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน

"เอ็ม-ลิ้งค์ยังดูความเป็นไปได้ในเรื่องการให้บริการ VoIP ผ่านไอพีสตาร์ด้วย เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีพร้อมแล้ว"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.