|
ปิดตำนานปุ๋ย"NFC"
ผู้จัดการรายวัน(23 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"ณัฐภพ"เมินมติบอร์ด NFC ที่สั่งให้ทบทวนการปิดโรงงานปุ๋ยเคมี เดินทางกล่อมม็อบพนักงาน 300 คนที่ระยอง โดยยินยอมจ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายกำหนด แต่เมินข้อเรียกร้อง พนง.ที่ขอเงินเพิ่มเติมอีก 10 เดือน อ้างพนักงานขอให้เลิกจ้างแทนการสมัครใจลาออก ส่วน พนง.ส่วนกรุงเทพฯโวย ถูกเลือกปฏิบัติ จ่ายเงินชดเชยเพียงแค่ 50% ของกฎหมายเลิกจ้าง โดยอ้างเงื่อนไขการย้ายออฟฟิศ ไม่ใช่ปิดโรงงาน เตรียมยื่นหนังสือ ถึงฝ่ายบริหารและปฏิเสธการรับเงินชดเชยวันนี้
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริษัท ปุ๋ยเอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน)(NFC) ตีกลับแผนการปิดโรงงานปุ๋ยเคมี 1 ล้านตันเป็นการถาวรตามที่นายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี ซีอีโอNFC เสนอไป โดยอ้างว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งไม่คุ้มการลงทุน โดยบอร์ด สั่งทบทวนและดำเนินการผลิตต่อไปด้วยความระมัดระวังตามสภาพเครื่องจักร ก่อนเสนอให้บอร์ดฯพิจารณาอีกครั้ง ทำให้ฝ่ายบริหารบริษัทฯ ต้องปรับแผนจากการเลิกจ้างพนักงานมาเป็นโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์ลี รีไทร์) โดยยืนยันจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
วานนี้ (22 ธ.ค.) พนักงานของบริษัท ปุ๋ยเอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน) ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ประมาณ 300 คน มารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องเงินชดเชยเพิ่มอีก 10 เดือน หลังบริษัทเตรียมประกาศเลิกจ้างงาน และนัดจะจ่ายเช็คเป็นค่าเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน
ต่อมา นายกิจจา สมัญญาหิรัญ ผู้อำนวยการแผนธุรกิจและบริหาร บมจ. ปุ๋ยเอ็นเอฟซี ได้ออกมาเจรจากลุ่มพนักงานดังกล่าว พร้อมยืนยันว่า ขณะนี้คณะกรรมการบริหารของบริษัทฯ กำลังพิจารณาข้อเรียกร้อง และนัดที่จะให้คำตอบ ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า โดยช่วงนี้ขอให้พนัก-งานทำงานตามปกติไปก่อน แต่พนักงานโรงงานไม่ยินยอม จนกระทั่งเมื่อเวลา 14.00 น. ตัวแทนพนักงานNFCได้มีการเจราจากับฝ่ายบริหารของ บริษัทฯ อีกครั้ง โดยใช้เวลาในการเจรจานานเกือบ 3 ชั่วโมง
นายวิรัตน์ พัดไทสงฆ์ ตัวแทนพนักงาน NFC กล่าวว่า สาเหตุที่กลุ่มพนักงานต้องลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิในครั้งนี้ เนื่องจากเมื่อประมาณ ต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ทางพนักงานทราบว่าทางบริษัทจะปิดกิจการ เนื่องจากบริษัทมีปัญหาเรื่องทางด้านการเงิน หลังจากนั้นก็ได้มีการ เจรจากันถึงเรื่องการจ่ายเงินชดเชยหากมีการปิดกิจการ ในช่วงแรกได้มีการตกลงว่าจะจ่ายเงิน ชดเชยให้แก่พนักงานตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้ทุกประการ
แต่หลังจากนั้นได้มีการประกาศขอให้พนักงานเขียนใบลาออกโดยให้แจ้งว่าขอสมัครใจลาออก ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่พนักงานอย่างมาก พร้อมทั้งได้มีการเจรจากันอีก โดยพนักงานได้ขอให้ทางทางบริษัทจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายและเพิ่ม 10 เดือนสำหรับพนักงานที่ถูกเออร์ลี รีไทร์ พร้อมทั้งได้มีการนัดจ่ายเช็คกันในวานนี้ (22 ธ.ค. )
แต่พอถึงเวลาจ่าย ทางบริษัทกลับมีปัญหา จึงทำให้พวกเราต้องมารวมตัวกัน เพื่อเรียกร้อง ความเป็นธรรม อีกทั้งจะขอให้รออีกเพื่อรอเจรจา ในปีหน้าคงจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากในปัจจุบันนี้โรงงานก็จะปิดกิจการอยู่แล้ว โดย นายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทได้เดินทางมาเจรจากับพนักงาน สุดท้ายทางบริษัทยินยอมที่จะจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานทุกคนตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด แต่จะไม่ขอจ่ายเพิ่มอีก 10 เดือน เนื่องจากทางบริษัทจะเลิก จ้างพนักงานทั้งหมด พร้อมปิดกิจการ
แต่จะมีพนักงานที่เหลือจำนวน 65 คน เพื่อ ไว้สำหรับดูแลเครื่องจักร ส่วนที่เหลือ อีกประมาณ 235 คนนั้น บอกเลิกจ้างทั้งหมด พร้อมกับจ่ายเช็คเงินชดเชยทั้งหมดให้แก่พนักงานทุกคนวานนี้ หลังจากจบการเจรจา
นายกิจจา สมัญญาหิรัญ ฝ่ายบริหารของNFC กล่าวว่า การเจรจาระหว่างฝ่ายบริหารและ พนักงานได้ข้อยุติด้วยดี โดยพนักงานขอให้บริษัทเลิกจ้างพนักงานทุกคน แทนการสมัครใจลาออก เนื่องจากได้ผลประโยชน์ทางประกันสังคมแตกต่างกัน ขณะเดียวกัน บริษัทฯขอยืน ยันว่าไม่ได้ฝ่าฝืนมติบอร์ด เพราะไม่ได้ปิดโรงงาน เพียงแต่ยินยอมตามคำเรียกร้องของพนักงานที่ขอให้เลิกจ้าง โดยพนักงานที่ยังทำงานอยู่ต่อไปอีก 1-2 เดือนก็จะได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้าง ภายหลังจากปิดโรงงานในอนาคต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าพนักงานไม่ค่อยพอใจนัก แต่ทุกคนก็ยอมเนื่องจากไม่มีการเออร์ลี แต่เป็นเพราะบริษัทปิดกิจการ
พนง.กรุงเทพฯโวยถูกหลอก เรียกร้องรับเงินชดเชยเท่า รง.
แหล่งข่าวจากพนักงาน บมจ.ปุ๋ยเอ็นเอฟซี ที่สำนักงานกรุงเทพฯกล่าวว่า ในวันนี้ (23 ธ.ค.) พนักงานที่สำนักงานกรุงเทพฯจำนวน 41 คนจะเข้าพบนายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี ซีอีโอ NFC เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้บริษัทจ่ายเงินค่าชดเชยเท่ากับที่จ่ายให้พนักงานโรงงานที่มาบตาพุด โดยจะไม่ยอมรับเช็คที่จะจ่ายเพียง 50% ตามกฎหมายของการเลิกจ้าง เนื่องจากที่ผ่านมา พนักงานไม่ทราบว่าบริษัทจะมีการปิดโรงงานปุ๋ย เคมี เพียงแต่บริษัทฯจะย้ายสำนักงานจากเดิมที่อาคารเล่าเป้งง้วน เป็นอาคารเอสซี ที่บางนาในต้น ปี 2549 ทำให้มีพนักงานกึ่งหนึ่งตัดสินใจยอมเซ็น สัญญาการเลิกจ้าง โดยยอมรับเงินเดือนตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือสูงสุดเพียง 5 เดือนเท่านั้น
"พนักงานในกรุงเทพฯถูกหลอกให้เซ็นสัญญาเลิกจ้างภายใต้เงื่อนไขย้ายสำนักงานเมื่อปลายพ.ย.ที่ผ่านมา โดยไม่รู้ว่าจะมีการปิดโรงงาน ปุ๋ย ซึ่งตามกฎหมายการเลิกจ้างจะต้องจ่ายเงินเดือนขั้นต่ำ 10 เดือน แต่พนักงานกรุงเทพฯได้เงินเดือนชดเชยสูงสุดเพียงแค่ 50% ของการเลิก จ้าง ซึ่งเรายอมรับไม่ได้ ดังนั้น จะไม่มีการยอม รับเช็คสั่งจ่ายในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ แต่จะขอเงื่อนไข เดียวกับพนักงานโรงงานตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์ลี รีไทร์) เพราะเป็นพนักงานในบริษัทฯเหมือนกัน ไม่ใช่เลือกปฏิบัติ"
NFC แจ้งกรรมการลาออก
นางบงกช รัศมีไพศา ผู้อำนวยการสำนักประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NFC กล่าวว่า นาย ยงยศ ปาละนิติเสนา และนายวันชัย ผโลทัยถเกิง กรรมการและกรรมการบริหารบริษัทได้ขอลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากติดภารกิจอื่นไม่มีเวลาเพียงพอที่จะอุทิศให้บริษัทได้ ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2548 เป็นต้นไป คณะกรรมการจะดำเนินการคัดสรรและแต่งตั้งกรรมการทดแทนต่อไป
ปิดตำนานปุ๋ยNFC
โครงการปุ๋ยแห่งชาติ (บมจ.ปุ๋ยเอ็นเอฟซี) เป็นโครงการริเริ่มมาตั้งแต่สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2525 ที่ต้องการเสริมสร้างความแข็งของธุรกิจปุ๋ยเคมีทดแทนการนำเข้า เพื่อให้เกษตรกรไทยใช้ปุ๋ยราคาถูก โดยจัดตั้งเป็นบริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ ขึ้นมาแต่ช่วงนั้นยังไม่ค่อยเป็นรูปเป็นร่างเท่าไหร่ จนกระทั่งปี 2535 โครงการนี้ได้ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาอีกครั้ง โดยมี บมจ.ผาแดงอินดัสทรี (PDI) เข้ามาถือหุ้นใหญ่ และได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 185 ล้านบาท เป็น 650 ล้านบาท
ในปี 2537 ปุ๋ยแห่งชาติได้ทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 4,000 ล้านบาท และกลุ่มผู้ถือหุ้นได้เปลี่ยนแปลงไป หลังจากผาแดงฯตัดสินใจ ลดการถือหุ้น โดยมีการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ถือหุ้นใหญ่จำนวน 25% และปีถัดไป บริษัทฯตัดสินใจสร้างโรงงานปุ๋ยเคมีแห่งแรกของ ไทย ด้วยเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท โดยใช้เงินกู้ 6 พันล้านบาทที่เหลือเป็นส่วนของผู้ถือหุ้น จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ทำให้กลุ่มธนาคารผู้ให้กู้ระงับการเบิกถอนเงินกู้งวดสุดท้ายจำนวน 530 ล้านบาท
หลังจากนั้นได้มีความพยายามที่จะปรับโครงสร้างทางการเงิน โดยเจรจากับเจ้าหนี้ รวมทั้งจัดประมูลหาผู้ร่วมทุนใหม่ พบว่ากลุ่มไทยพีคอนและกลุ่มซิหยางจากจีนชนะการประมูล แต่เนื่องจากกลุ่มผู้ชนะประมูลไม่สามารถที่เพิ่มทุนได้ตามกำหนด เป็นผลจากกลุ่มซิหยางถอนตัวไป ทางไทยพีคอนจึงได้ดึงกลุ่มเอสซี (นายณัฐภพ) ที่มีประสบการณ์ด้านลอจิสติกส์ เข้ามาร่วมทุนแทน ในช่วงปี 2547
จากแนวทางการบริหารงานระหว่างกลุ่มไทยพีคอน กับกลุ่มณัฐภพ แตกต่างกัน ทำให้นาย ณัฐภพ ไล่ซื้อหุ้น NFC และทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ สุดท้ายกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แทนกลุ่มไทยพีคอน และเข้ามาบริหารจัดการบริษัท โดยเปลี่ยนชื่อเป็นบมจ.ปุ๋ยเอ็นเอฟซีในปี 2547 จนกระทั่งสั่งปิดโรงงานปุ๋ยเคมีในที่สุด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|