เบรกลูกกฟผ.ลุยIPP"เอ็กโก้-ราชบุรี"เสียว


ผู้จัดการรายวัน(23 ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

คณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้าหรือ Regulator เห็นชอบกำหนดให้บริษัทลูกกฟผ. ไม่มีสิทธิเข้าร่วมประมูลแข่งขันผลิตไฟฟ้ากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือ IPP เพื่อป้องกัน กฟผ. ผูกขาด โดยกำหนดให้ กฟผ.ได้สิทธิผลิต 50% ของความต้องการใหม่หลังปี 2553 เป็นต้นไป และ IPP 50% หลังหักการซื้อไฟจากเพื่อนบ้านแล้ว คาดเปิดประมูล IPP ได้ปลายปี 2549 เตรียมเสนอกระทรวง พลังงานชง"กพช." ชี้ขาดเป็นนโยบายเร็วๆ นี้ ด้านเอ็กโก้-ราชบุรี บริษัทลูก กฟผ.ต้องลุ้นระทึกมติ กพช.

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้าหรือ Regulator เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯได้เห็นชอบแนว ทางการกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าหลังปี 2553 เป็นต้นไป โดยมีข้อเสนอให้บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ได้สิทธิเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า จำนวน 50% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ดังกล่าว และเปิดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) 50% ซึ่งมีเงื่อนไขว่าการประมูลรับซื้อไฟในส่วนของ IPP บริษัทที่มี กฟผ.ถือหุ้นอยู่จะไม่สามารถประมูลได้ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ไม่เป็นระบบผูกขาดที่จะเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภคได้มีโอกาสใช้ไฟฟ้าในราคาที่ต่ำ

"บริษัทต่างชาติเองก็กังวลเรื่องนี้ เพราะ กฟผ.มีบริษัทลูกที่ถือหุ้นไขว้ หลายแห่ง หากกำหนดให้ กฟผ.ได้ผลิต 50% แล้วยังให้บริษัท กฟผ.ที่ถือหุ้นไขว้ประมูลได้อีก ในส่วนของ IPP ก็เท่ากับว่า กฟผ.จะผูกขาดเกินกว่า 50% เท่ากับไม่มีการแข่งขันอะไรก็จะไม่เกิดประโยชน์ โดยในส่วนของ 50% กฟผ.จะไปแบ่งบริษัทที่ถือหุ้นก็แล้วแต่ กฟผ.จะดำเนินการ และหากบริษัทลูก กฟผ.ต้องการประมูล IPP ก็ต้องไม่มีหุ้นกฟผ. เพราะการหารือครั้งนี้ก็ได้เชิญทางนายชัยอนันต์ สมุทวาณิช ประธานบอร์ด บมจ. กฟผ.มาหารือด้วยแล้ว" นายยงยุทธกล่าว

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะดังกล่าวยังถือว่าไม่ใช่ข้อ ยุติ เพราะต้องเสนอไปยังกระทรวงพลังงานแล้ว คาดว่าจะนำไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อีกครั้งเพื่อสรุป โดยคาดว่าการประมูล IPP จะสามารถดำเนินการได้ภายในปลายปี 2549 เพื่อป้อนความต้อง การช่วงปี 2554-2558 ซึ่งอาจจะแบ่งเป็นเฟสในการประมูลก็เป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ การประมูลนั้น บมจ.ปตท.สามารถประมูลได้เพราะ กฟผ.ไม่ได้ถือหุ้น ขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ไม่ได้ทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นเพียงผู้จำหน่าย

นายยงยุทธกล่าวว่า การเปิดประมูลจะเป็น จำนวนกี่เมกะวัตต์นั้นคงจะต้องดูรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง แต่ในหลักการแล้วจะคำนวณจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยในส่วนที่รับซื้อไฟฟ้า จากประเทศเพื่อนบ้านจะนำมาหักจากความต้อง การแล้วนำส่วนที่เหลือมาแบ่งเป็น 50% ให้ กฟผ. และ 50% เปิดประมูล อย่างไรก็ตาม เดิมมีการ ประเมินความต้องการในช่วง 15 ปี(ปี 2548-2563) ไว้ที่ระดับ 1.3 หมื่นเมกะวัตต์เหลือประมูล IPP ประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ ซึ่งล่าสุดคาดว่าตัวเลข ความต้องการคงจะลดลงไม่ถึง 1 หมื่นเมกะวัตต์ และต้องพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านก่อน จึงจะสรุปตัวเลขชัดเจนได้ แต่ก็ยอมรับว่าหากจำนวนเมกะวัตต์ต่ำไปการประมูลก็อาจจะไม่จูงใจ

สำหรับแนวทางการรับซื้อไฟจากประเทศเพื่อนบ้านคงจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบต่อไป เพราะหากพึ่งมากเกินก็จะมีความเสี่ยงเพราะเท่ากับยืมจมูกคนอื่นหายใจ ส่วนเชื้อเพลิงที่จะเปิดประมูลให้ IPP นั้นยอมรับว่าคงจะต้องเป็นก๊าซธรรมชาติเป็นหลักเพราะถ่านหินยังคงไม่เป็น ที่ยอมรับของประชาชน อย่างไรก็ตาม การพึ่งพิง ก๊าซฯมากไปก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงซึ่งระยะยาวคงต้องดูรายละเอียดของพลังงานทางเลือกอื่นๆ ประกอบด้วย

ยันรัฐดูแลค่าไฟเหตุไม่ใช่ธุรกิจ

นายยงยุทธกล่าวว่า ค่าไฟฟ้าปี 2549 มีแนว โน้มปรับขึ้นมากนั้นยืนยันว่ารัฐบาลคงจะดูแลประชาชนไม่ให้เดือดร้อนจนเกินไป เพราะกิจการ ไฟฟ้าไม่ใช่ธุรกิจ แต่เป็นบริการที่รัฐต้องดูแลซึ่งต่างจากน้ำมัน เพราะไฟฟ้ายังคงมีไฟสาธารณะจะคิดค่าไฟง่ายๆ ไม่ได้ต้องรอบคอบพอสมควร ดังนั้นจึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่จะเข้ามาดูแลค่าไฟฟ้าร่วมกับคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือ Ft ที่จะเป็นผู้พิจารณาค่าไฟฟ้าอยู่เช่นเดิม

เอ็กโก้-ราชบุรีแห้วประมูลIPP

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทที่ กฟผ.ถือหุ้นอยู่ได้แก่ บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) ซึ่งกฟผ.ถือหุ้นอยู่ที่ 25.41% และบริษัทราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) กฟผ.ถือหุ้น 45%

คาดศาลปกครองเริ่มพิจารณาคดีก.พ.

นายพิชัย จุลพงศธร รองกรรมการผู้ อำนวย การใหญ่บริหาร บริษัท กฟผ.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กฟผ.ส่งคำแก้ต่างกรณีที่ถูก มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคและพวกฟ้องร้องต่อศาลปกครองเรียบร้อยแล้ว เมื่อกลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ฟ้องร้องจะสามารถยื่นชี้แจงกลับมาที่ศาลปกครองอีก ตามเวลาต้องส่งภายในวันที่ 8 ม.ค. หลังจากนั้นน่าจะเริ่มพิจารณาคดีภายในเดือนก.พ. ส่วนจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่นั้นคงต้อง อยู่ที่การพิจารณาของศาล


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.