หลายปีก่อน องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย มีผู้อำนวยการที่ชื่อ ไพบูลย์
ลิมปพยอม ผู้ซึ่งกลายเป็นข่าวอื้อฉาวของวงการโทรคมนาคม ด้วยการถูกระบุว่ามีส่วนพัวพันกับการอนุมัติโครงการโทรศัพท์
3 ล้านเลขหมายให้กับบริษัท ซีพี เทเลคอม จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ยักษ์ใหญ่ด้านผลิตภัณฑ์การเกษตรของไทย
ถึงวันนี้ เรื่องทุกอย่างจางหายไปจากความคิดของหลายคนเพราะไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องรื้อฟื้นกลับมาเล่าใหม่
ปล่อยให้เป็นประวัติศาสตร์ของกิจการโทรคมนาคมของไทยกว่าสมัยหนึ่ง เมื่อองค์การโทรศัพท์ฯต้องการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนขยายการติดตั้งโทรศัพท์ที่ผูกขาดมานานนั้น
มีความยุ่งยากซับซ้อนวุ่นวายแค่ไหน เพราะปัจจัยหลักคือมีเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
และด้วยโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมายนี้ กลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้ถึงกับมีการยึดอำนาจทางการเมืองโดยกองทัพ
ด้วยการแจ้งข้อหาว่ารัฐบาลซึ่งเห็นชอบกับโครงการใหญ่ขนาดแสนล้านบาทนี้ รับผลได้จากโครงการ
ซึ่งแม้จะไม่มี "ใบเสร็จ" แต่อดีตผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์ฯ
ก็ถูกพ่วงเข้าไปอยู่ในกลุ่มของผู้รับสนองผลประโยชน์ด้วย
ปัจจุบันนี้ ไพบูลย์ ลิมปพยอม สวมบทประธานกรรมการของกลุ่มบริษัท ชินวัตร
คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด สลัดภาพลักษณ์ของผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ
มาสู่ฟอร์มของผู้บริหารระดับสูงบริษัทเอกชนเต็มตัว และคงเหมือนอีกหลายคนที่หลุดไปจากแวดวงคนของรัฐก็คือ
สบายมากขึ้น เพราะไม่ต้องรับสนองนโยบายจากนักการเมืองคนใดอีก
ที่สำคัญผลตอบแทนการทำงานในเชิงธุรกิจที่มีตัวเลขไม่ต่ำกว่า 6 หลักก็คงมากพอที่จะไม่สร้างข้อครหาใดๆ
จากการทำงานได้อีก เพราะเป็นการทำงานจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง
ไพบูลย์ ระบุถึงหน้าที่หลักในกลุ่มชินวัตรนั้นแต่เพียงว่ารับให้คำปรึกษาในเรื่องที่สำคัญบางเรื่อง
ตลอดจนเข้าร่วมแก้ปัญหาในบางกรณีหากทางฝ่ายชินวัตรฯ ต้องการ เจ้าตัวเองไม่ได้ระบุหรือเจาะจงว่างานไหน
ส่วนที่เหลือนอกนั้นคงว่างเสียส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมานั่งทำงานที่สำนักงานใหญ่ริมถนนพหลโยธินทุกวัน
และคงออกงานในฐานะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ เท่าที่สำคัญ เพราะหากงานไม่ใหญ่จริง
คงไม่ได้เจอหน้าดอกเตอร์ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าผู้นี้แน่
สมัยที่ชินวัตรฯทำท่าเป็นดาวรุ่ง เพราะทักษิณ ชินวัตรไปนั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีอยู่ในรัฐบาลนั้น
บทบาทของไพบูลย์ก็ไม่ได้ปรากฏออกมาให้เห็นต่อสายตาสาธารณชน เพราะขนาดผู้บริหารของชินวัตรทุกคนที่ล้วนมีฝีมือในตัวเองอยู่แล้ว
ก็ไม่ค่อยยอมออกกิจกรรมมากนัก เพราะความไม่สะดวกในการทำงานเนื่องจากเจ้าของบริษัทไปมีตำแหน่งใหญ่ทางการเมืองที่กำลังถูกจับตามอง
หน้าที่กิตติมศักดิ์ของไพบูลย์ จึงยิ่งเลือนไปมากยิ่งขึ้นอีก
มาถึงคราวที่ ชินวัตรหันกลับมาฟื้นสภาพเพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านโทรคมนาคมที่เสียศูนย์ไป
และด้วยแม่ทัพใหญ่คืนถิ่น บทบาทของไพบูลย์ก็อาจไม่มีใครพูดถึงอีกเช่นกัน
เพราะเจ้าตัว และผู้นำองค์กรเองไม่ต้องการ
แต่อย่าลืมว่า บทบาทในฐานะเคยเป็นถึงผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์ ความรู้ระดับปริญญาเอก
และความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องการผลักดันให้เกิดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในตลาดสื่อสารไทยนั้น
คงไม่ทำให้หลายคนลืมทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของชินวัตรผู้นี้ไปได้
เพราะการนั่งเป็นประธานในชินวัตรนั้นไม่ได้เพียงแค่การทดแทนบุญคุณอย่างเดียว
อย่างที่หลายคนเข้าใจ
ด้วยความสามารถที่สั่งสมมาย่อมส่งผลกับงานที่ชินวัตรฯมุ่งพัฒนาในอนาคต กับเครือข่ายโทรคมนาคมที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็น
โทรศัพท์เคลื่อนที่ 900 เมกะเฮิรตซ์ และจีเอสเอ็ม 1900 เมกะเฮิรตซ์ภายใต้บริษัทแอดวานซ์อินโฟ
เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เพื่อเตรียมพร้อมกับการเกิดโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหม่
ซึ่งกระทรวงคมนาคมกำลังจะหาทางอนุมัติให้เอกชนรายอื่นในเวลาอีกไม่นานนี้
เป้าหมายชินวัตรนั้นมุ่งเน้นไปที่กิจการที่มีอยู่ในมือและมีความเชี่ยวชาญไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่
หรือดาวเทียมไทยคม อันจะเป็นตัวชูโรงที่ทำให้ค่ายนี้เคลื่อนกระบวนไปเบื้องหน้าได้โดยไม่ด้อยกว่าคู่แข่ง
แม้จะเสียดุลไปให้กลุ่มยูคอมบ้างแล้วก็ตาม
เพื่อให้สิ่งที่มีอยู่มีประสิทธิภาพ และพัฒนามากขึ้นให้สมกับเป็นสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงของโลก
บทบาทของไพบูลย์ คงมีอยู่ในการใช้ความสามารถทางเทคนิคเข้าไปช่วยเหลือไม่มากก็น้อย
การกระตุ้นให้ธุรกิจโทรคมนาคมกลับมาฟื้นตัวให้ตื่นขึ้นได้ใหม่อีกนั้น นอกจากจะอาศัยคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดก้าวหน้า
และสร้างสรรค์แล้ว ยังต้องอาศัยคนที่เชี่ยวชาญด้วยประสบการณ์นานปีเข้ามาเสริมด้วยเช่นกัน
ประสบการณ์ของไพบูลย์คงสามารถบ่งบอกให้เห็นสถานการณ์ด้านกิจการโทรคมนาคมได้เป็นอย่างดี
เพราะเคยทำให้องค์การโทรศัพท์มีบริการใหม่ๆ ด้วยการให้สัมปทานกับเอกชน ทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่
เพจเจอร์ หรือกระทั่งข่ายเคเบิลใยแก้ว และดาวเทียม
สมัยที่ไพบูลย์เป็นผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์ฯนั้น หน่วยงานแห่งนี้ถูกร้องเรียนอย่างมากว่า
เลขหมายโทรศัพท์ที่ให้บริการประชาชนขาดแคลนยอดผู้รอคิวนับพันรายทั้งในกรุงเทพฯ
และต่างจังหวัด ประมาณได้ว่ามีคนรอคิวยาวนานเป็นเวลามากกว่า 5 ปีถึง 10 ปีก็มี
จึงสมเหตุผลหากจะให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนขยายการติดตั้งโทรศัพท์ให้ทันกับความต้องการ
แต่จะเป็นตัวเลขจริงจังตรงตามสถานการณ์แค่ไหนไม่มีใครรับรองได้จนถึงปัจจุบันนี้
แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความชอบธรรมในการอนุมัติโครงการมูลค่าสูงได้
ถึงตอนนี้ เลขหมายที่ว่าเคยขาดแคลน กลับล้นปรี่ด้วยบริษัทเอกชนได้ทำการขยายและติดตั้งพร้อมส่งมอบให้องค์การโทรศัพท์ฯ
เมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2539 แต่ปรากฏว่า ยอดรายได้ที่ควรจะได้รับของบริษัท
เอกชนอย่างทีเอ หรือบริษัท เทเลคอม เอเชีย จำกัด (มหาชน) ผู้ติดตั้งโทรศัพท์
2.6 ล้านเลขหมายในเขตกรุงเทพฯ กับบริษัท ไทย เทเลโฟน แอนด์ เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์
จำกัด หรือ ทีทีแอนด์ที ผู้ขยายโทรศัพท์ 1.5 ล้านเลขหมาย ในต่างจังหวัดก็ไม่เข้าเป้าที่วางไว้
เพราะโทรศัพท์ขายไม่ออก ด้วยสาเหตุใดนั้น ก็มีผู้วิเคราะห์ให้ฟังไว้แล้วหลายท่าน
ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจที่ทรุดลงจนทำให้โครงการต่างๆ ด้านอสังหาริมทรัพย์
อาคารสำนักงาน หรือ บ้านพักอาศัย ชะงักงัน เลยไม่มีใครต้องการโทรศัพท์ไว้ใช้งาน
หรือกระทั่งการขยายเลขหมาย โดยทุ่มไปลงในพื้นที่ ซึ่งมีเลขหมายล้นเหลืออยู่แล้ว
ทำให้ยอดความต้องการโทรศัพท์กับการติดตั้งเป็นภาพลวง
แม้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างทีเอ จะพยายามทุกวิถีทางในการสร้างบริการเสริมบนเครือข่ายโทรศัพท์
ตั้งแต่ระบบทีวีบอกรับสมาชิกโดยผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสงจากการใช้คู่สายโทรศัพท์ตามบ้านเป็นตัวสื่อ
หรือบริการอื่นๆ ที่ต้องใช้โทรศัพท์เครือข่ายของทีเอเพื่อเพิ่มพูนรายได้จากค่าใช้บริการสื่อสัญญาณโทรศัพท์
ก็ยังไม่ได้ทำให้สถานะทางการเงินของทีเอดีขึ้นอันดูได้จากตัวเลขผลการดำเนินการในปี
2539 ทีเอยังมียอดขาดทุนอยู่ประมาณ 1,924 ล้านบาท
ขณะที่สภาพการดำเนินงานของทีทีแอนด์ทีนั้นก็ไม่ได้มีกำไรเหมือนกับทีเอเช่นกัน
อาศัยที่ทีเอมีสายป่านยาวด้านกิจการค้าอื่นๆ ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่ยังพอพยุงให้บริษัทสามารถยืนอยู่ได้เพื่อรอคอยการเติบโตในอนาคต
การดำเนินงานของเอกชนผู้รับขยายติดตั้งโทรศัพท์รายแรกของประเทศไทยนั้น อดีตผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์ฯ
ให้ความเห็นว่าอีกสาเหตุหนึ่งที่เห็นได้ชัดในเรื่องคู่สายซึ่งมีความจำเป็นในการติดต่อสื่อสารของประชาชน
ก็เพราะองค์การโทรศัพท์ฯ เองซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเรื่องการติดต่อกับผู้ใช้โทรศัพท์ตามบ้านยังไม่เก่งในเชิงพาณิชย์คือยังขายเบอร์โทรศัพท์ไม่เป็นนั่นเอง
หากโครงการขยายการติดตั้งโทรศัพท์ 6 ล้านเลขหมายไม่ถูกระงับไว้ก่อน และชินวัตรได้มีส่วนในการเข้าไปร่วมลงทุนจำนวนหนึ่งนั้น
คนอย่างไพบูลย์คงเข้าไปมีส่วนช่วยกระตุ้นยอดผู้ใช้ให้มีเพิ่มมากขึ้นได้เหมือนกัน