ในที่สุดโครงการวิทยุผู้จัดการก็ถึงคราวต้องปิดฉากลง หลังจากที่เคยเพียรพยายามต่อลมหายใจมาแล้วหลายครั้ง
โครงการวิทยุผู้จัดการเป็นหนึ่งใน "สถานีข่าวสาร" ที่ถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงที่คลื่นข่าวกลายเป็นแนวรบด้านใหม่บนหน้าปัดวิทยุ
อันเนื่องมาจากความตื่นตัวของข่าวสารที่กระตุ้นให้สถานีเพลงทุกค่ายต้องมีรายงานข่าวลงไปในสถานี
กลุ่มผู้จัดการเข้าสู่สื่อวิทยุเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เริ่มต้นด้วยการร่วมมือกับบริษัทยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่นอินดัสตรีส์
จำกัด (ยูคอม) ที่ได้สัมปทานเช่าคลื่น 97.5 เมกะเฮิรตซ์มาจากองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย
(อ.ส.ม.ท.) หลังจากกลุ่มยูคอมถอนตัวออกไป กลุ่มผู้จัดการจึงเข้ามาเป็นคู่สัญญากับ
(อ.ส.ม.ท.) แทน
รู่งมณี เมฆโสภณ ศิษย์เก่าวิทยุบีบีซีแห่งลอนดอน ต้องการสร้างให้คลื่น 97.5
เมกะเฮิรตซ์ให้เทียบเท่าวิทยุบีบีซีที่เน้นคุณภาพมากกว่าการนำเสนอข่าวแบบร้อนแรงตามกระแสตลาด
แต่เมื่อคุณภาพสวนทางกับความต้องการของตลาด ผลลัพธ์ในเชิงธุรกิจจึงออกมาเป็นศูนย์
เพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอดจากปัญหาการขาดทุนสะสม ในช่วงต้นปีโครงการวิทยุผู้จัดการยอมแปรสภาพจากสถานีข่าวสารและสาระมาเป็นสถานีเพลงผสมข่าว
โดยการลดเวลาการนำเสนอข่าวจาก 24 ชั่วโมง เหลืออยู่เพียงแค่ 4 ชั่วโมง และนำเวลาอีก
20 ชั่วโมงที่เหลือให้ "วิทยุสยาม" ภายใต้การนำของไชยยงค์ นนทสุทร
และกุลพงษ์ บุนนาค และบรรดาพนักงานของสยามเรดิโอเข้ามาดำเนินรายการ
ผลจากการ "ตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต" ใช่จะสิ้นสุดลง กลุ่มวิทยุสยามต้องประสบปัญหาในเรื่องรายได้ไม่สามารถหาโฆษณาได้ตามเป้าหมาย
ทำให้บริษัทออนป้าซึ่งเป็นนายทุนหลังกลุ่มวิทยุสยามตัดสินใจถอนตัวออกไป วิทยุผู้จัดการจึงต้องวิ่งหาพันธมิตรอีกครั้ง
ที่ผ่านมาวิทยุผู้จัดการเดินหน้าเจรจากับกลุ่มทุนหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเจเอสแอล
กลุ่มสยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น แต่ในที่สุดก็มาลงเอยที่สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น
ที่มีกลุ่มยูคอมเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
"เคยคุยกันแค่ 2 ครั้ง ครั้งสุดท้ายไปนั่งกินข้าวคุยกับคุณรุ่งมณีแค่
2 ชั่วโมงก็ตกลงใจ" สนธิญาน หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น
เล่าให้ "ผู้จัดการรายเดือน" ฟังถึงเบื้องหลังการเข้าเสียบในคลื่น
97.5 เมกะเฮิรตซ์ของไอเอ็นเอ็นที่ใช้เวลาสั้นๆ
ผลจากการตกลงในครั้งนั้น คลื่น 97.5 เมกะเฮิรตซ์ก็ถูกพลิกโฉมหน้าอีกครั้ง
กลายเป็น "สถานีคลื่นชุมชน" หรือ ซิตี้เรดิโอ เพื่อชาวกรุงเทพฯ
ซึ่งเป็นรูปแบบรายการเดิมที่ไอเอ็นเอ็นเคยออกอากาศมาแล้วเมื่อครั้งยังทำคลื่นข่าว
24 ชั่วโมงอยู่บนคลื่น 102.5 เมกะเฮิรตซ์ช่วงเวลาตั้งแต่ 10.00 น.ถึง 5.00
น. แต่ในครั้งนี้สถานีคลื่นชุมชนจะออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง
การดำเนินงานจึงออกมาเป็นการร่วมมือกัน 4 ฝ่าย ระหว่างสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น
กลุ่มผู้จัดการ อ.ส.ม.ท.และกรุงเทพมหานคร (กทม.)
"ไอเอ็นเอ็นจะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องการบริหาร กลุ่มผู้จัดการยังเป็นคู่สัญญากับทางอ.ส.ม.ท.อยู่
พี่รุ่งมณียังคงเป็นหนึ่งในทีมงานของเรา และจะรับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา ส่วนการที่ดึงกทม.เข้ามานั้นเพราะเราต้องการให้คลื่นนี้เป็นของคนกรุงเทพฯ"
สนธิญานชี้แจง
รูปแบบรายการจะมุ่งเน้นไปที่ปัญหาของคนกรุงเทพฯโดยเฉพาะ ด้วยการเปิดสายให้ประชาชนในเขตกรุงเทพฯ
และปริมณฑลที่ได้รับความเดือดร้อนโทรศัพท์เข้ามาในรายการ และเจ้าหน้าที่จะต่อสายไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบทันที
โดยเฉพาะ กทม. ซึ่งรายงานผลการปฏิบัติงานจะออนไลน์ผ่านคอมพิวเตอร์ไปยังผู้ว่ากทม.ที่จะรับรู้ได้ตลอดเวลา
สนธิญานเชื่อว่า คลื่นชุมชน 97.5 จะแตกต่างไปจากคลื่นสังคมไทย 96.0 ของค่ายมีเดียพลัสซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรง
และปัญหาที่เกิดขึ้นของคลื่นในลักษณะนี้ก็คือ ไม่สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้
"คอนเซ็ปต์ของเราชัดเจนจะเป็นเรื่องราวและปัญหาใกล้ตัวของทุกคนที่เกิดขึ้นของคนกรุงเทพฯ
เราจะติดตามปัญหาที่โทรเข้ามาตลอด พอกทม.รับเรื่องไปแล้ว เราจะส่งทีมข่าวไปตามเรื่องราวมานำเสนอ
เช่น กรณีโกดังเก็บสารเคมีที่ทำให้คนในกทม.จะมีการนำมาเสนอ ซึ่งจะเป็นการนำเสนอข่าวในอีกรูปแบบหนึ่ง
ความร้อนแรงของคลื่นจะอยู่ตรงนี้" สนธิญานชี้แจง
ผลตอบแทนในเชิงธุรกิจที่สนธิญานมองเห็นจากการทำคลื่นชุมชน คือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายขนาดใหญ่ในเขตกรุงเทพฯ
ที่ประสบปัญหาร่วมกันดังเช่นที่จส.100 เคยทำสำเร็จมาแล้วกับคลื่นข่าวจราจร
ที่คนในกรุงเทพฯประสบปัญหาจราจรร่วมกัน จนกลายเป็นรายการยอดฮิตที่มียอดผู้ฟังและยอดโฆษณาเป็นอันดับหนึ่ง
เป้าหมายที่สนธิญานวางไว้คือ คลื่นชุมชน 97.5 จะติดอันดับ 1 ของคลื่นข่าวภายใน
6 เดือน
นอกจากนี้สนธิญานยังมีแนวคิดจะมีการตั้งมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อใช้ในการบริจาคให้กับผู้เดือดร้อน
ซึ่งเงินก้อนแรกจะมาจากไอเอ็นเอ็น และหลังจากนั้นจะเปิดรับบริจาค ซึ่งแน่นอนว่าไอเอ็นเอ็นต้องได้รับชื่อเสียงกลับมา
เรียกว่าได้ทั้งเงินทั้งกล่อง !
จะว่าไปแล้วการพลิกโฉมคลื่น 97.5 เป็นสถานีชุมชนจึงเท่ากับเป็นการปิดฉากของวิทยุผู้จัดการลงอย่างสิ้นเชิง
แม้ว่ากลุ่มผู้จัดการจะยังคงมีชื่อร่วมอยู่ แต่ก็เป็นเพียงแค่คู่สัญญากับทางอ.ส.ม.ท.เท่านั้น
ซึ่งสัญญาจะหมดลงในปลายปี 2541 เพราะการบริหารงาน การผลิตรายการ รวมทั้งทีมงาน
20 กว่าคนของวิทยุผู้จัดการได้ถูกโอนย้ายให้เป็นภาระหน้าที่ของไอเอ็นเอ็น
ส่วนงานทางด้านเทคนิคและสื่อสารจะดูแลโดยกลุ่มยูคอม
ในทางตรงกันข้ามเท่ากับเป็นการแจ้งเกิดของไอเอ็นเอ็นบนหน้าปัดวิทยุอย่างเต็มตัวอีกครั้ง
หลังจากต้องเจอกับมรสุมครั้งใหญ่เมื่อกองทัพอากาศไม่ยอมต่อสัญญาบนคลื่น 102.5
เมกะเฮิรตซ์จนต้องปิดกิจการไป หากไม่บังเอิญได้กลุ่มยูคอมมาเป็นหุ้นส่วนใหญ่
แม้ว่าไอเอ็นเอ็นจะยังคงมีสถานีข่าวเศรษฐกิจ คลื่นเอฟเอ็ม 96.5 เมกะเฮิรตซ์
แต่ก็เป็นการร่วมทุน 3 ฝ่าย ระหว่างหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และฟาติมา บรอดคาสติ้ง
การกลับมาบนคลื่น 97.5 ของไอเอ็นเอ็นในครั้งนี้ย่อมไม่ธรรมดา เพราะเป้าหมายในเวลานี้ของยูคอม
คือการรุกขยายไปยังธุรกิจมีเดีย และบรอดคาสติ้ง ซึ่งการคว้าสัมปทานสถานีเอเอ็มสเตริโอ
40 สถานี 44 คลื่นความถี่ในมือสะท้อนถึงเจตนารมณ์ในธุรกิจนี้ได้เป็นอย่างนี้
ขณะเดียวกันก็เป็นการ "คืนสู่เหย้า" ของกลุ่มยูคอมบนคลื่น 97.5
เมกะเฮิรตซ์ อีกครั้ง
แน่นอนว่าเป้าหมายของไอเอ็นเอ็น และยูคอมย่อมไม่ได้หยุดเพียงแค่นี้ !
สมวงศ์ พงศ์สถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัทเวิลด์ เคเบิล เน็ตเวิร์ค จำกัด
(WCN) กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า การที่เลือกทำเป็น "คลื่นชุมชน"
แทนที่จะเป็นคลื่นข่าว เนื่องจากคลื่น 97.5 เมกะเฮิรตซ์นั้นครอบคลุมเพียงแค่กรุงเทพฯ
และปริมณฑลเท่านั้น และพอดีกับได้คลื่นเอเอ็ม 873 ของกทม.มาด้วย
สำหรับคลื่นข่าวด่วน 24 ชั่วโมงที่เคยสร้างความโด่งดังให้กับไอเอ็นเอ็นจะต้องหาคลื่นที่สามารถส่งสัญญาณครอบคลุมได้ทั้งประเทศ
ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับกรมประชาสัมพันธ์ หากตกลงกันได้ในไม่ช้าคลื่นข่าวของไอเอ็นเอ็นจะกลับมาอีกครั้ง
สนธิญาน เล่าว่า เป้าหมายข้างหน้าของไอเอ็นเอ็นก็คือ การมีคลื่นที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย
5 กลุ่ม คือคลื่นชุมชน คลื่นข่าวเศรษฐกิจ คลื่นข่าวทั่วไป คลื่นกีฬา และคลื่นข่าวพัฒนาชนบท
ซึ่ง 3 คลื่นหลังนั้นไอเอ็นเอ็นจะแพร่สัญญาณไปทั่วประเทศผ่านคลื่นเอเอ็มสเตอริโอ
ที่จะนำมาออกอากาศภาคละ 2-3 คลื่น และเมื่อถึงวันนั้นไอเอ็นเอ็นจะมีคลื่นครอบคลุมไปยังกลุ่มเป้าหมายเกือบทุกกลุ่ม
แน่นอนว่าหากคลื่นชุมชนไปได้ตามเป้าหมาย การกลับมาของไอเอ็นเอ็นย่อมไม่ธรรมดา
!