หนึ่งเดียวในเอเชีย ผู้กล้าขอคุมระบบการเงินโลก

โดย รุ่งมณี เมฆโสภณ
นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ในจำนวนผู้ที่เสนอตัวเข้าชิงตำแหน่งกรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF - International Monetary Fund) สืบแทน นายมิเชล กองเดอซูส์ (Michel Camdessus) ที่ลาออกไป ปรากฏว่ามีคนเอเชียอยู่เพียงคนเดียว คือ นายเอซุเกะ ซะกะกิบะระ (Eisuke Sakakibara) อดีตรัฐมนตรีช่วยคลังรับผิดชอบด้านกิจการระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งรู้จักกันดีในนามมิสเตอร์เยน (Mr.Yen)

การเสนอชื่อนายซ ะกะกิบะระเป็นกรรมการจัดการของไอเอ็มเอฟคนต่อไป ไม่ได้เป็นการเสนอชื่อโดยลำพังของรัฐบาลญี่ปุ่น แต่เป็นมติร่วมกันของ อาเซียน ญี่ปุ่น รวมทั้งจีน และเกาหลีใต้ ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ อาเซียน ที่กรุง มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏการณ์นี้นับว่าน่าสนใจยิ่งในแง่บทบาทของเอเชีย และนับเป็น อีกก้าวหนึ่งของเอเชียในวงการการเงินโลกโดยผ่านไอเอ็มเอฟ โดยเฉพาะหลังวิกฤติใหญ่ทางการเงิน และเศรษฐกิจในเอเชีย ที่หลายประเทศในเอเชีย ได้วิจารณ์การดำเนินนโยบาย เพื่อแก้ไขวิกฤติของไอเอ็มเอฟ ว่าเดินตามนโยบาย ที่มีอคติของสหรัฐอเมริกา

และนับเป็นอีกก้าวหนึ่ง ที่มีความหมายของญี่ปุ่นเองในเวทีระหว่างประเทศ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้มีเสียงถาม ไถ่ถึงนายซะกะกิบะระกันมากว่าเขาผู้นี้เป็นใคร มีความเป็นมาอย่างไร เขาเหมาะสมกับตำแหน่งหมายเลขหนึ่งขององค์กรการเงินระหว่างประเทศแห่งนี้มากน้อยแค่ไหน

นายซะกะกิบะระวัย 58 ปีได้รับการขนานนามว่าเป็น "มิสเตอร์เยน" ก็ เพราะว่าเขาเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงิน และมีอิทธิพล ต่อการขึ้นลงของค่าเงินเยนญี่ปุ่นในตลาดการเงินโลกอย่างมากนานนับ 10 ปี นอกจากนั้น เขายังมีบุคลิก ที่แตกต่างจากข้าราชการหรือนักการเมือง ญี่ปุ่นโดยทั่วไป โดยเฉพาะพร้อม ที่จะให้ข่าวกับสื่อมวลชนแบบอ้างอิงได้ตลอดเวลา

มิสเตอร์เยนพ้น จากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยคลังของญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมานี่เอง ในการปรับคณะรัฐมนตรีตามปกติ หลังจาก ที่อยู่ในตำแหน่งดังกล่าวมานานเกือบสองเท่า ของวาระปกติ ซึ่งวาระปกติจะอยู่ในตำแหน่งคราวละประมาณ 2 ปี รวมเวลา ที่เขาทำงานรับใช้กระทรวงการ คลังญี่ปุ่นนานทั้งสิ้นถึง 34 ปี หลังจากนั้น นายซะกะกิบะระได้ไปรับ ตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเคโอะ (Keio University) ซึ่งเป็น มหาวิทยาลัยเอกชนในวันที่ 1 ตุลาคม และเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ก็มีรายงานข่าวว่านายซะกะกิบะระได้รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของ Salomon Smith Barney Holdings Inc. ในเครือของซิตี้กรุ๊ป (Citigroup) ซึ่ง เป็นบริษัทหลักทรัพย์ ที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นชาวญี่ปุ่นคน แรก ที่ได้รับเกียรติดังกล่าว

ผู้ที่สนใจข่าวสารทางด้านการเงิน การคลังระหว่างประเทศ อาจจะพอนึกออกว่า นายโรเบิร์ต รูบิน อดีตรัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งมาเมื่อไม่นานนี้ ก็ได้รับการเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการบริหารของซิตี้กรุ๊ปเช่นกันเมื่อปลายเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา

อิทธิพลของนายซะกะกิบะระในระหว่าง ที่อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยคลังของญี่ปุ่น และหลังจากนั้น ส่วนหนึ่งเห็นจะมาจากคำพูดของเขา ที่อ้างว่าเขาโทรศัพท์คุยกับนายลอเรนซ์ ซัมเมอร์ส รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ ทุกวัน!

สาเหตุที่ทำให้เขาสนิทสนมกับนายซัมเมอร์สเป็นพิเศษก็เพราะนายซะกะกิบะระเคยสอนอยู่ ที่ฮาร์วาร์ดช่วงสั้นๆ เช่นเดียวกับนายซัมเมอร์สนั่นเอง

มิสเตอร์เยนผู้นี้เกือบตลอดชีวิตการงานของเขาถือได้ว่า ผูกพันกับกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นมาโดยตลอด นับตั้งแต่จบปริญญาตรีทางด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตเกียว (Tokyo University) เช่นเดียวกับ บุคคลชั้นนำของสังคมญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ก่อนจะไปศึกษาต่อ และจบระดับ ปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (Michigan University) สหรัฐอเมริกา งานเขียนของเขา ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางคือ The Eurodollar and International Monetary Reform

ระหว่าง ที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยคลังของญี่ปุ่น อาจกล่าวได้ว่า นายซะกะกิบะระมีบทบาทอย่างสำคัญในการหารือเกี่ยวกับการปรับโครง สร้างระบบการเงินระหว่างประเทศ เขาได้เรียกร้องให้ประเทศอุตสาหกรรม หลักร่วมมือกันแก้ไขปัญหา รวมทั้งเสนอให้ประเทศต่างๆ ในเอเชีย ที่เผชิญกับวิกฤติการเงิน กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแบบตายตัวโดยให้ผูกกับตะกร้าเงินของประเทศ ที่พัฒนาแล้ว ขณะเดียวกันก็หาหนทางสนับสนุนช่วย เหลือเงินตราสกุล ที่อ่อนแอ โดยเขาถึงกับประกาศว่า...

"ถ้าไม่ทำเช่นนั้น , ศตวรรษ ที่ 21 จะกลายเป็นศตวรรษแห่งความโกลาหล อลหม่าน และการล่มสลายของระบบทุนนิยม"

ไม่เพียงแต่เท่านั้น นายซะกะกิบะระยังได้เคยวิพากษ์วิจารณ์ไอเอ็มเอฟไว้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชีย และโจมตี Washington Consensus เกี่ยวกับการปฏิรูประบบตลาดเสรี คงจำกันได้ ที่ช่วงนั้น เองสหรัฐฯ ได้ ปฏิเสธแนวทางของญี่ปุ่นในการเยียวยาวิกฤติเศรษฐกิจของเอเชีย

จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เอง ที่เชื่อว่า น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจส่งตัวแทนเข้าชิงตำแหน่งกรรมการจัดการของไอเอ็ม เอฟ ครั้งนี้ เพื่อประกาศถึงการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ ที่ 2 ของญี่ปุ่นในองค์กรนี้ ซึ่งญี่ปุ่นควร ที่จะมีบทบาทสำคัญเช่นกัน - ไม่ใช่ไม่อยู่ในสายตาเช่น ที่ผ่านมา และครั้งนี้ญี่ปุ่นก็มีผู้มีคุณสมบัติพร้อมสำหรับตำแหน่งดังกล่าว

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ดูเหมือนจะเป็นที่รับรู้กันของประชาคมโลกว่า ตำแหน่งสำคัญขององค์กรทางด้านการเงินระหว่างประเทศ มีการจัดสรรกันไว้เรียบร้อยแล้ว คือ หมายเลขหนึ่งของธนาคารโลกเก็บไว้ให้สหรัฐอเมริกา ส่วนตำแหน่งใหญ่ของไอเอ็มเอฟให้เป็นของยุโรป ส่วนญี่ปุ่นครองได้ก็เพียงตำแหน่งสูงสุดของธนาคาร เพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียหรือเอดีบีเท่านั้น

สำหรับคู่แข่งคนสำคัญ ที่มิสเตอร์ เยนจะต้องเผชิญในการแข่งขันชิงชัย ครั้งนี้ก็คือ ตัวแทนจากยุโรป นายไคโอ ค๊อค -เวเซอร์ (Caio Koch-Weser) รัฐมนตรีช่วยคลังของเยอรมนี

อีกไม่นานเราก็จะได้รู้กันว่า ตำแหน่งกรรมการจัดการของไอเอ็ม เอฟ เป็น "หวยล็อก" อย่างที่กล่าวขานกันหรือไม่ หรือถึงเวลาแล้ว ที่ญี่ปุ่นจะเป็น ตัวแทนของเอเชียผงาดขึ้นเป็นหมายเลขหนึ่งของไอเอ็มเอฟ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.