ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา กลุ่มบงล.ศรีมิตร บงล.นวธนกิจ และบงล.ไทยเม็กซ์
ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการควบกิจการกับสถาบันการเงินอื่นๆ อีก 5 แห่งเพื่อขอใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ตามนโยบายของแบงก์ชาติ
ที่ต้องการให้สถาบันการเงินต่างๆ รวมตัวกันเพื่อให้มีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น
รองรับการเปิดเสรีทางการเงินในอนาคต
หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสถาบันการเงินทั้ง
8 แห่งดังกล่าว มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาประมาณ 9 ชุด เพื่อพิจารณาแนวทางในการรวมตัวกัน
และได้จัดตั้งที่ปรึกษาทางการเงินขึ้นเพื่อเป็นตัวกลางในการประเมินราคาหุ้นของแต่ละบริษัทในการแลกเปลี่ยนกัน
ทุกอย่างกำลังดำเนินไปด้วยดี และค่อนข้างแน่นอนว่าจะได้รับใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ในเวลาต่อมา
เนื่องจากทุกอย่างเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่แบงก์ชาติกำหนด
และนี่เองคือสัญญาณการควบกิจการสถาบัติการเงินอีกหลายแห่งที่กำลังจะตามมา
ไม่ผิดอะไรกับการควบกิจการของบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาหรือในญี่ปุ่น
ทั่วโลกกำลังเชื่อในทฤษฎีที่ว่าถ้าจะใหญ่ต้องใหญ่แบบมโหฬารจึงจะอยู่รอด หรือถ้าจะเล็กก็คือเล็กจิ๋ว
ไม่ใช่เป็นบริษัทขนาดกลางๆ เพราะพวกนี้จะตายก่อน เนื่องจากไม่เหมาะสมในเชิงการแข่งขัน
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาแบงก์ชาติมีนโยบายที่จะให้บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (บค.)
ได้มีการควบกิจการกันเอง หรือควบกิจการกับสถาบันการเงินอื่น ด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อความมั่นคงของสถาบันการเงิน
และรองรับการเปิดเสรีทางการเงินในอนาคต
ณฐกร วรอุไร กรรมการผู้ช่วย กรรมการผู้จัดการ บค.ส่งเสริมออมทรัพย์ไทย จำกัด
ให้ความเห็นว่า "การไปควบกิจการ สำหรับบค.แล้วก็เหมือนกับไปขายธุรกิจให้เขามากกว่า"
สิ่งที่เขาอยากเห็นก็คือความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาอย่างจริงจังว่า
บค.ควรจะเดินไปทางไหน เพราะทุกวันนี้ธุรกิจมันคาบเกี่ยวกันอยู่ บค.ก็คือใบอนุญาตหนึ่งของบริษัทเงินทุน
ในส่วนของสินเชื่อเพื่อการเคหะ ในขณะที่บริษัทเงินทุนมีช่องทางในการระดมเงินมากกว่า
ทุกวันนี้บค.ที่เหลืออยู่ 11 แห่งยังพยายามที่จะหาทางรอดและขยายธุรกิจออกไป
ขณะที่บค. 10 แห่งเลิกกิจการโดยถูกเพิกถอนใบอนุญาต อีก 11 แห่งส่งคืนใบอนุญาตเนื่องจากการควบกิจการและอีก
1 แห่งล่าสุดคือ บค.ไทยเคหะกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อควบกิจการ (พิจารณาตาราง)
ไมใช่เพราะบค.เหล่านี้ต้องการควบกับกิจการอื่น แต่เป็นเพราะมันไม่ได้มีทางเลือกมากนัก
ปัญหาหลักที่ทำให้ธุรกิจนี้ไม่สามารถแข่งขันได้ก็คือเรื่องของการระดมเงินฝากจากประชาชนได้ในสัดส่วนที่น้อย
และมีต้นทุนทางการเงินสูง
บค.จะรับฝากเงินเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน 1 ปี ไถ่ถอนก่อนครบกำหนดไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนที่จะมาฝากก็ต้องแน่ใจว่าจะไม่ใช้เงินจำนวนนี้เลยทั้งปี
ดังนั้นเงินที่จะนำมาฝากจึงไม่มีมากนัก หรือนำมาฝากแค่ส่วนเดียว เงินที่เหลืออาจจะนำไปฝากออมทรัพย์
หรือฝากตั๋วสัญญาใช้เงินแบบ 3 เดือนกับบริษัทเงินทุน ซึ่งสามารถไถ่ถอนก่อนครบกำหนดได้
"ตรงนี้มีทังข้อดีข้อเสีย คือ เมื่อฝากครบปีแล้วเขาก็จะไม่ค่อยไถ่ถอนเพราะไม่รู้จะเอาไปทำอะไร
มันเป็นเงินเย็นจริงๆ ฉะนั้นฐานเงินฝากของเราจะค่อนข้างมั่นคงแต่มีปริมาณน้อย
พอจะไปปล่อยสินเชื่อก็ปล่อยได้น้อยด้วย ส่วนแบ่งตลาดเราก็เลยเล็ก" ณฐกร
อธิบาย
ปัจจุบันบค.ทั้งระบบคือ 12 แห่งมีทรัพย์สินรวมกันประมาณ 10,000 ล้านบาท
และมีการปล่อยสินเชื่อทั้งระบบประมาณ 8,000 ล้านบาท ซึ่งน้อยมาก ทั้งระบบรวมกันยอดทรัพย์สินและการปล่อยสินเชื่อยังน้อยกว่าบริษัทเงินทุนขนาดเล็กเพียงแห่งเดียวเสียอีก
ณฐกร กล่าวว่า "แนวคิดเริ่มแรกของการก่อตั้ง บค.ขึ้นมาคือการให้ระดมเงินโดยการออกหุ้นกู้
และเอาหุ้นกู้นั้นไปลงทุนทำโครงการของบค.เอง แล้วให้เช่าซื้อกับประชาชน แต่ไปๆมาๆธุรกิจก็ผิดเพี้ยนไป
เราออกหุ้นกู้ไม่ได้เพราะติดกฎหมายของก.ล.ต. ตามพ.ร.บ.ควรจะออกได้แต่ไปติดกฎหมายฉบับอื่น"
นี่เองคือสาเหตุที่ทำให้ บค.ไม่สามารถหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำมาแข่งขันกับสถาบันการเงินอื่นๆ
ได้ ประกอบกับธุรกิจของ บค.ก็จำกัดอยู่เพียงแค่การให้สินเชื่อเพื่อการเคหะ
และสินเชื่อเพื่อธุรกิจจัดสรรเท่านั้น ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ทั้งธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนก็สามารถทำได้เช่นกัน
ทั้งยังทำได้ดีกว่าเนื่องจากมีต้นทุนการเงินต่ำกว่าก็สามารถปล่อยกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า
และมีปริมาณเงินให้กู้อย่างเพียงพอ
ณฐกร อธิบายว่า "เราต้องสู้ดอกเบี้ยในอัตราที่สูง ปัจจุบันรับกันที่
12.5% ถ้ารายใหญ่จริงๆ ก็ 13% แล้วอย่างนี้จะไปปล่อยที่ไหน ปริมาณปล่อยก็น้อย
ค่าใช้จ่ายคงที่ก็สูง ค่าดำเนินงานในระบบธนาคารจะประมาณ 1% แต่ของบค.อาจจะ
2-3% ไปบวกกับต้นทุนก็เข้าไป 15-16% แล้ว นี่ยังไม่บวกกำไรเลย แค่ดอกเบี้ยก็
15-16% เอาไปปล่อยสินเชื่อเคหะก็คงไม่มีใครรับ เพราะฉะนั้นสินเชื่อเคหะเราสู้ตลาดไม่ได้"
สิ่งที่ช่วยให้อยู่รอดได้ก็คือสินเชื่อเพื่อธุรกิจจัดสรร ซึ่งก็จะเป็นโครงการขนาดเล็ก
แม้ บค. จะคิดอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง แต่เนื่องจาก บค.มีขนาดเล็กมีเวลาในการบริหารสินเชื่อมาก
บริการลูกค้าอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ
"เราเข้าไปช่วยลูกค้าถึงขนาดที่ว่าพิจารณาในการยื่นขอจัดสรรที่ดินลูกค้าเวลาติดปัญหาบางเรื่องเราจะเข้าไปช่วยแก้ไข
พอดูแลใกล้ชิดมีปัญหาเราแก้ไขทันที ปัญหามันก็น้อย" ณฐกรกล่าว
เหตุที่ บค.ไม่สามารถปล่อยกู้โครงการขนาดใหญ่ได้เนื่องจาก บค.ไม่มีเงินมากพอที่จะมาปล่อยกู้
และยังติดปัญหาคือ บค.ไม่สามารถออกตั๋วอาวัลให้แก่ผู้ประกอบการได้ ลูกค้าจำเป็นต้องเบิกเป็นเงินสดซึ่งทำให้ลูกค้ามีภาระดอกเบี้ย
ความซ้ำซ้อนทางธุรกิจ และความเสียเปรียบนานาประการเหล่านี้ ไม่เคยได้รับการแก้ไขมาตั้งแต่อดีตและในอนาคต
อันใกล้ก็ยังไม่มีวี่แววที่จะได้รับการแก้ไขสิ่งที่แบงก์ชาติเล็งเห็นก็คือธุรกิจนี้ยากที่จะเยียวยาเสียแล้ว
ปรารถนาดีที่หยิบยื่นให้ในขณะนี้จึงมีแต่เพียงคำแนะนำให้ควบกับกิจการอื่น
ในอดีตสมัยที่ สุรเกียรติ์ เสถียรไทยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แบงก์ชาติเคยมีนโยบายที่จะให้บค.
ควบกิจการระหว่างกัน เช่น 5 แห่งรวมกัน แล้วจะพิจารณาใบอนุญาตประกอบกิจการเงินทุนให้ทำให้
บค.ทั้งหลายมีความหวังกันขึ้นมา แต่ประเด็นนี้ก็ยังไม่สรุปจนเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลนโยบายนี้ก็ไม่มีการสานต่อ
"ผมตั้งคำถามว่าต้องการให้รวมกันเพราะอะไร แน่นอนก็คือความมั่งคงยกตัวอย่างการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่
ผู้ที่เข้ามาขอใบอนุญาตไม่เคยทำธนาคารมาก่อน ความมั่นคงมันกำหนดกันได้ คุณสมบัติขั้นต่ำ
ทุนจดทะเบียน 7,5000 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นใหญ่รวมกัน 25% และอื่นๆ จริง ๆ แล้วมันขึ้นอยู่กับนโยบายตรงนี้มากกว่า
ผมเชื่อว่า บค. หลายแห่งรวมกันก็ไม่ทำให้แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ แต่ถ้ากำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำมาเลยว่า
บค. 1 แห่งสามารถที่จะเป็นผู้นำในการจัดตั้งบริษัทเงินทุนแห่งใหม่ได้ โดย
บง. แห่งใหม่ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ทุนจดทะเบียนเท่าไหร่" ณฐกรกล่าว
เขาคิดว่านั่นคือหนทางหนึ่งที่จะอยู่รอดได้โดยไม่ต้องถูกกลืนด้วยการควบกับบริษัทขนาดใหญ่
อย่างไรก็ตามสมาคมการค้าผู้ประกอบการกิจการเครดิตฟองซิเอร์ได้ร่วมกันผลิตงานวิจัยเชิงวิชาการขึ้นมา
โดยได้รับความร่วมมือจากอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคาดว่างานวิจัยนี้จะเสร็จภายใน
2 เดือน
"รายงานนี้จะชี้ให้เห็นภาพของบค. อย่างชัดเจน ในมุมมองของนักวิชาการและข้อเสนอที่ว่าบค.จะมีทิศทางไปทางไหนได้บ้าง
เอกสารนี้คงจะเสนอทางการซึ่งอาจจะเป็นแนวทางในการพัฒนาบค.ต่อไปได้ แต่ทางการจะรับข้อมูลตรงนั้นไปศึกษาเพิ่มเติมหรือไม่ก็อยู่ที่ทางการ"ณฐกรกล่าวสรุป
นั่นคืออีกหนึ่งความหวังของธุรกิจ บค. และทั้งหมดขึ้นอยู่กับความกรุณาของแบงก์ชาติ
!!!