ธปท.-ทีดีอาร์ไอหนุนใช้บัตร รองรับ"ศก.-การเงิน"ซับซ้อน


ผู้จัดการรายวัน(22 ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติร่วมกับทีดีอาร์ไอ วิจัยโครงการผลักดันการ ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ แทนการใช้เงินสดและเช็ค เหตุมีความสะดวกรวดเร็ว เพื่อรองรับเศรษฐกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น ระบุต้นปี 2549 แบงก์พาณิชย์จะขึ้นค่าธรรมเนียมในการใช้เช็ค และลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็ม เผยอนาคตวางแผนจับมือกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนโอนเงินข้ามประเทศ

วานนี้ (21 ธ.ค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดสัมมนาระบบการชำระเงินประจำปี 2548 ในหัวข้อ "กลยุทธ์ส่งเสริมการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ทดแทนเช็คและเงินสด" ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ โดยมีนางสว่างจิตต์ จัยวัฒน์ รองผู้ว่าการด้านบริหาร ธปท. กล่าวเปิดงานสัมมนา

นางสว่างจิตต์ กล่าวว่า เงินสดและเช็คมีบทบาทสำคัญในฐานะสื่อกลางของการโอนเงินและการชำระเงินภายในประเทศมาก แต่สภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนไป เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีความ ซับซ้อนมากขึ้น การโอนเงินและชำระเงินจึงต้องมีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ดังนั้นกลยุทธ์ดังกล่าวจึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะช่วยพัฒนาระบบชำระเงินในประเทศให้มีประสิทธิภาพมาก ยิ่งขึ้น ซึ่งการชำระเงินด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นช่องทางหนึ่งที่มีความสะดวกรวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายในการให้บริการที่ต่ำกว่าซึ่งเป็นการลดต้นทุนของประเทศ

"ตอนนี้ยังมีบางกลุ่มที่นิยมใช้เงินสดและเช็คกันอยู่มาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีปัญหาการขาดเอกสารที่ใช้รองรับการทำธุรกรรม เช่น ใบเสร็จรับเงิน ปัญหาค่าบริการที่ถูกมองว่าสูงเกินไป และผู้ใช้บริการบางส่วนเห็น ว่าการบริการอิเล็กทรอนิกส์ยังขาด ความสะดวกในการใช้งาน และไม่ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้จริง รวมทั้งยังคุ้นเคยกับระบบการชำระเงินสดแบบเดิมๆ" นางสว่างจิตต์ กล่าว

ทั้งนี้การที่ ธปท.ต้องการส่งเสริมการใช้สื่อการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ทดแทนเงินสดและเช็ค จึงได้ร่วมกับสถาบันวิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำการวิจัยโครงการดังกล่าวขึ้นเพื่อนำมาวางแผนและผลักดันให้มีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น และเพื่อลดการใช้สื่อชำระเงินที่เป็นเช็คและเงินสดของประชาชน หน่วยธุรกิจ องค์กรภาครัฐ โดยสนับสนุนให้ใช้สื่ออื่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่า โดยเฉพาะสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งเป็น การพัฒนาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการใช้สื่อทดแทนเงินสดและเช็ค

นายสายัณห์ ปริวัตร ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายระบบชำระเงิน ธปท.กล่าวว่า ในช่วงต้นปี 2549 ธนาคารพาณิชย์จะประกาศขึ้นค่าธรรมเนียมการใช้เช็ค โดยปัจจุบันนี้ค่าธรรมเนียมในการใช้เช็คจะอยู่ที่ 5 บาทต่อฉบับ ซึ่งการปรับขึ้นค่าธรรมเนียม เพื่อลดการใช้เช็คให้น้อยลง และเป็นการลดต้นทุนในการใช้เช็ค ขณะเดียวกันก็จะมีการลดค่าธรรมเนียมสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น ลดค่าธรรมเนียมในการโอนเงินผ่านบัตรเอทีเอ็มระหว่างธนาคาร จากปัจจุบันนี้ที่ธนาคารพาณิชย์คิดค่าธรรมเนียมการโอนต่อรายการ 35 บาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บได้อีกเล็กน้อย

อีกทั้งจะมีการพัฒนา ระบบใหม่ที่เรียกว่า ITMX ในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2549 ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบมาจากระบบ ATM POOL เดิม เช่น การโอนเงินเดือน ซึ่งปัจจุบันจะต้องมีการเปิดบัญชีของธนาคารที่จะโอนเข้า แต่ต่อไปหากพัฒนาระบบนี้สำเร็จก็สามารถเปิดบัญชีกับธนาคารไหนก็ได้

นอกจากนี้ การพัฒนาระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในระยะต่อไป ประเทศไทยจะร่วมมือกับ ประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียน หรือ Asian Pay ในด้านการโอนเงินข้ามประเทศ ซึ่งช่วงแรกจะเริ่มจาก 4 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย โดยจะเริ่มใช้บัตร เอทีเอ็มโอนเงินข้ามประเทศ ส่วนประเทศแรกที่ไทยจะเริ่มทดลองในต้นปีหน้า คือ มาเลเซีย ซึ่งคนไทยสามารถกดเงินจากบัตรเอทีเอ็มที่ประเทศมาเลเซียได้เลยโดยเงินออกมาเป็นสกุลท้องถิ่นริงกิต และใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ ขณะนั้น แต่เวลาตัดบัญชีจะคิดเป็นเงินบาทของไทย ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ ระหว่างประเทศ และหากทดลอง ใช้แล้วไม่มีปัญหา ก็จะขยายไปยังประเทศสิงคโปร์ต่อไป
"ไม่ห่วงว่าปัญหาแก๊งโจรกรรม บัตรเครดิตในประเทศมาเลเซีย จะมีปัญหาทางด้านความปลอดภัย เพราะในปีหน้ามาเลเซียจะเปลี่ยน บัตรเครดิตเป็นชิปการ์ดใหม่หมด ส่วนของค่าธรรมเนียมโอนเงินระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นคงไม่แพง มากนัก ถ้าเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในการโอนเงินในประเทศเราเอง นายสายัณห์" กล่าว

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจาย รายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจและผู้บริโภคยังคงนิยมใช้เงินสดและเช็คในชำระเงินทำให้ต้นทุนการดำเนินการอยู่ในระดับสูง โดยข้อมูลการศึกษาการหักบัญชีเช็คระหว่างธนาคารในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่า การสั่งจ่ายเช็คจากบัญชีแต่ละรายการเฉลี่ยต่อวันมีทั้งสิ้น 585,507 ใบต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สูงมาก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.