|
ตลท.ส่งซิกบล.บลจ.เพิมทุน โบรกฯ/กองทุนชี้ยังไม่จำเป็น
ผู้จัดการรายวัน(22 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ตลท.ตอกย้ำ บล.-บลจ. ควรเพิ่มทุนจดทะเบียนรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหลังหารือ ก.ล.ต. สมาคมโบรกเกอร์ เห็นด้วยในเบื้องต้น หวังเห็นให้นำเข้าแผนพัฒนา ตลาดทุนไทย ย้ำโบรกเกอร์เร่งสร้างความพร้อมไม่ใช่มองแค่เรื่องหั่นราคาเท่านั้น ด้านผู้บริหาร บล.-บลจ.มองสวนทางยังไม่เห็นความจำเป็นต้องเพิ่มทุน ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทฯ
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปริมาณธุรกิจในอนาคตในส่วนของตลาดทุนจะเพิ่มขึ้น มูลค่าตลาด รวม(มาร์เกตแคป) จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยในช่วง 5 ปีข้างหน้า การเติบโตของตลาดตราสารหนี้ การเพิ่มของจำนวนตราสารหนี้ ทั้งในภาคเอกชนและรัฐบาลจะสูงขึ้น
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ได้มีการหารือในแนวทางเพื่อรองรับความเสี่ยงของธุรกิจในอนาคต โดยในเบื้องต้นมีแนวคิดในทิศทางเดียว กัน คือ ควรที่จะให้บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จัด การกองทุนเพิ่มขนาดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำให้สูงขึ้น โดยปัจจุบันทุนจดทะเบียนขั้นต่ำของบริษัทหลักทรัพย์(บล.)อยู่ที่ 200 ล้านบาท และทุนจดทะเบียนขั้นต่ำของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยู่ที่ 100 ล้านบาท
"เป็นการเสนอแนวทางเบื้องต้นเท่านั้น ที่โบรกเกอร์ควรจะมีทุน จดทะเบียนเพิ่มขึ้น และผมหวังว่าเรื่องนี้จะถูกดันเข้าในแผนพัฒนาตลาดทุนไทย" นายกิตติรัตน์กล่าว
ในส่วนของการเสนอในเรื่องดังกล่าวหวังว่าจะมีการนำเรื่องนี้เสนอเข้าไปในแผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 2 ที่จะมีการใช้ในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยขณะนี้การจัดทำแผนพัฒนาตลาดทนไทยอยู่ระหว่างการศึกษา และรวบรวมผลการศึกษาซึ่งจะออกเป็นแผนเพื่อที่จะให้มีผลเริ่มใช้ทันในต้นปี 2549
สำหรับแนวทางในการกำหนดขั้นต่ำของทุน จดทะเบียน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ที่จะดำเนินธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งอาจจะมีการกำหนดที่ระดับสูงกว่าขั้นต่ำเดิม ขณะที่หากจะดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรการกำหนดอัตราขั้นต่ำก็จะเป็นอีก ระดับ ซึ่งการปรับที่จะเห็นผลกับการเปลี่ยน แปลงในอนาคต คือ การปรับที่สูงกว่าระดับที่คาดว่าจะมีการเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องดังกล่าวอาจจะมีบริษัทบางแห่งที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเนื่องจากบางบริษัทมีขนาดเล็ก การกำหนดมาตรการบางอย่างออกมาจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัท
นายกิตติรัตน์ กล่าวอีกว่า ในความคิดเห็น ส่วนตัว หากเป็นผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ ในตอนนี้จะเริ่มคิดแล้วว่าจะดำเนินการในเรื่องการเพิ่มทุนของบริษัทอย่างไร อาจจะเป็นการเข้าระดม ทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือจะต้องควบรวมกิจการระหว่างกิจการ โดยจะต้องมีการทบทวนความพร้อมและศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของบริษัทแต่ละแห่งด้วย
ทั้งนี้ ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะประเภทใดก็จะมีความเสี่ยงที่ต่างกัน เช่นในธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากการชำระราคา การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน การเป็นแกนนำรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้น เป็นต้น การสร้างความน่าเชื่อถือในภาพลักษณ์ของบริษัทถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ส่วนทุนที่เพิ่มมากขึ้น และความเข้มแข็งในธุรกิจจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น
"โบรกเกอร์ควรเตรียมความพร้อมกับปริมาณธุรกิจที่จะเพิ่มมาขึ้นในอนาคต อย่ามัวเตรียมการที่จะหั่นราคาค่าธรรมเนียมเท่านั้น" นายกิตติรัตน์กล่าว
นอกจากนี้ เรื่องการเพิ่มเงินลงทุนของบริษัท หลักทรัพย์เพื่อเพิ่มและอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนเป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น เช่น การเพิ่ม จำนวนจุดให้บริการในสถานที่สำคัญต่างๆ
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าตลาดทุนไทยไม่ได้อยู่ ในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นที่จำนวนบริษัทหลักทรัพย์จะต้องมีจำนวนลดลง เนื่องจากปริมาณธุรกิจที่จะมากขึ้นในอนาคต
นายเกษมสิทธิ์ ปฐมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด เปิดเผยว่า การเพิ่มทุนของบริษัทหลักทรัพย์นั้น ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละบริษัท เพราะบางบริษัทเป็นบริษัทหลักทรัพย์ขนาดเล็ก และเป็นโบรกเกอร์ในลักษณะดิสเคานต์์โบรกเกอร์ มีกลุ่มลูกค้าเป้า หมายที่ชัดเจน ดังนั้นบริษัทหลักทรัพย์เหล่านี้ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุน เพราะถ้ามีการ เพิ่มทุนจำนวนมาก ก็อาจจะทำให้บริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าว อาจจะส่งผลทำให้มีเงินทุนที่มาก เกินไป และทำให้บริษัทหลักทรัพย์ต้องพยายามหาทางบริหารเงินเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี โดยไปทำธุรกิจที่มีความเสี่ยงมากขึ้นก็ได้
ปัจจุบันนี้ บริษัทหลักทรัพย์จะถูกควบคุมให้มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(NCR)ให้ได้ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ได้กำหนดไว้ ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่ดีอยู่แล้ว
นายสรรเสริญ นิลรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บีที จำกัดเปิดเผยว่า ขึ้นอยู่กับแผนการขยายงานของบริษัทหลักทรัพย์บางราย ซึ่งถ้าเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่มีแผนจะขยายธุรกิจอย่างมากในอนาคต เช่นในธุรกิจตลาดอนุพันธ์,ตราสารหนี้และเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้จัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายหุ้นขนาดใหญ่หลายบริษัท อาจจะจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนให้มากขึ้นเพื่อมา รองรับ แต่ถ้าเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ไม่ได้มุ่งขยายงานเพิ่มขึ้นมากนั้น ก็อาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนก็ได้
แหล่งข่าวจากบริษัทจัดการกองทุนรายหนึ่ง เปิดเผยว่า บลจ.คงยังไม่มีความจำเป็นในการเพิ่มทุนในขณะนี้ เนื่องจากบลจ.ไม่ใช่ธุรกิจที่ต้อง การใส่เงินทุนเข้าไป แต่เป็นธุรกิจที่ใช้เงินมากกว่า ซึ่งขณะนี้ในเรื่องของคนก็ไม่ได้ขาดแคลนจนถึงขั้นต้องเพิ่มทุนเพื่อหาคนเข้ามาเพิ่ม และจากผลกำไรที่เกิดขึ้นก็เพียงพอแล้ว นอกจากนี้ การดำเนินธุรกิจของบลจ. เงินของผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ได้อยู่ที่ตัวบลจ. แต่อยู่ที่ผู้รับฝากทรัพย์สินที่เป็นธนาคารพาณิชย์ จะดีหรือไม่ดีก็เงินก็อยู่ตรง นั้น บลจ.เข้าไปแตะไม่ได้ ในขณะที่บลจ.เอง ก็มี การทำประกันในกรณีเกิดความผิดผลาดขึ้นด้วย
นายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวคงต้องพิจารณาจากความต้องการของแต่ละบริษัทมากกว่า ซึ่งในส่วนของบลจ.เอง มองว่ายังไม่มีความจำเป็น โดยสำนักงานก.ล.ต.ก็มีการกำหนด ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ทั้งนี้ธุรกิจ บลจ.เป็นธุรกิจที่ไม่ต้องใช้เงินในการลงทุน มากนัก แต่เป็นธุรกิจที่ใช้คนมากกว่า ซึ่งในการบริหารจัดการบางแห่งก็มีการประกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย
"ถ้าต้องเพิ่มทุน คงต้องดูว่าเรามีความต้อง การแค่ไหน เพราะถ้าไม่มีความจำเป็นในการใช้เงิน หากเพิ่มทุนขึ้นมาก็ไม่มีประโยชน์อะไร ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจบลจ.เอง ก็มีกำไรจากการดำเนินธุรกิจติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง เราเองก็เพิ่มทุน ไปแล้วในช่วงกลางปีจาก 100 ล้านบาทเป็น 200 ล้านบาท" นายมาริษกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|