วายุภักษ์โยกหมื่นล.ลงตราสารหนี้ ตลท.เล็งใช้แนวทางOECDหุ้นรสก.


ผู้จัดการรายวัน(21 ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

วายุภักษ์ โยกเงิน 1 หมื่นล้านที่เตรียมสำหรับลงหุ้นรัฐวิสาหกิจไปที่ตราสารหนี้แทน หลังจากรัฐวิสาหกิจดีเลย์เข้าตลาด หุ้น "คลัง" คาดกลางปีหน้าชัดเจน ทีโอที กสท เข้าตลาดหุ้น เหตุขณะนี้รอกทช. ส่วน กฟผ.รอศาลปกครอง ชี้ต้องเร่งแก้ความเข้าใจค่าไฟแพงหลังเข้า ตลท. ด้านตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมนำข้อปฏิบัติ โออีซีดี 5 ข้อ เป็นแนวทางปฏิบัติของรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนและกำลังเข้า เน้นแข่งขันเท่าเทียมกันและเปิดเผยข้อมูล

ดร.โอฬาร ไชยประวัติ กรรมการ กองทุนวายุภักษ์ 1 เปิดเผยว่า จากเดิมกองทุนวายุภักษ์ได้เตรียมเงินไว้ สำหรับลงทุนในหุ้นรัฐวิสาหกิจจำนวน 10,000 ล้านบาท แต่หุ้นของรัฐวิสาหกิจได้เลื่อนแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ออกไป ดังนั้น ทางกองทุนวายุภักษ์จึงนำเม็ด ดังกล่าวไปลงทุนในตราสารหนี้แทน

ทั้งนี้ สัดส่วนการลงทุนในหุ้นของ รัฐวิสาหกิจ ยังไม่ได้ระบุว่าจะมีสัดส่วน เท่าใด เนื่องจากยังไม่ได้วางแผนไว้ และไม่ทราบว่าจะมีหุ้นรัฐวิสาหกิจตัวไหนอีกที่เข้าจดทะเบียนใน ตลท. อย่างไรก็ตาม กองทุนวายุภักษ์ ได้จ่ายเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนของ บมจ. อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย (TPI) ไปแล้วส่วนหนึ่ง

"มีข่าวว่า เม็ดเงินที่เหลือในกองทุนวายุภักษ์หลังจากที่ลงทุน ใน TPI ไปแล้ว กองทุนวายุภักษ์จะนำเงินไปลงทุนในธนาคารกรุงไทย (KTB) และเอ็มเอฟซี คงไม่นำเม็ดเงินไปลงทุนทั้ง 2 บจ. เนื่องจากเอ็มเอฟซี และ KTB เป็นผู้จัดการกองทุนวายุภักษ์"นายโอฬารกล่าว

คาดรสก.สื่อสารเข้าปีหน้า

ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่าในปีหน้าจะเห็นธุรกิจสื่อสารเข้าจดทะเบียนใน ตลท. โดยเฉพาะบมจ. ทีโอที และบมจ.กสท โทรคมนาคม ซึ่งขณะนี้ยังติดปัญหาในเรื่องของความไม่ชัดเจนของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) อยู่

ทั้งนี้ เม็ดเงินระดมทุนของ บมจ. ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม จะหนุนทำให้มูลค่าตลาดหลักทรัพย์ (มาร์เกตแคป) เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.5-2 แสนล้านบาท

ในส่วนของกรณีการนำ บมจ. กฟผ. (EGAT) เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของกระบวนการศาล ซึ่งต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้ประชาชนที่กังวลว่าหลังเข้าตลาดฯแล้วค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้น

"ทีโอที และ กสท มีกระแสเงินสดเพียงพอต่อการลงทุน แต่ยังต้องรอความชัดเจนของ กทช. โดย คาดว่าประมาณกลางปีหน้าจะมีความ ชัดเจนมากขึ้น และคาดว่าจะเข้าตลาดหุ้นได้ตามแผนที่กำหนดไว้"ดร.อารีพงศ์ กล่าว

นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยในงาน เสวนา "Corporate Governance Roundtable" ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการสร้างความรู้ความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์การดำเนินงานเกี่ยวกับ Corporate Governance ในประเทศไทย ว่า มีการแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นที่จะนำข้อปฏิบัติของ องค์กรความร่วมมือเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) มาเป็นแนวทาง ในการปฏิบัติของบริษัทรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯและที่กำลังจะเข้าจดทะเบียน ซึ่งมี 5 ข้อ ดังนี้ คือ

1. รัฐวิสาหกิจควรที่จะมีการแข่งขันทางธุรกิจ การหาแหล่งเงินทุน ควรที่จะมีพื้นฐานเดียวกันกับบริษัท เอกชน และมีการแยกหน้าที่ในความเป็นเจ้าของกับการกำกับดูแลให้แยกออกจากกันให้ชัดเจน
2. ควรที่จะมีความชัดเจนในเรื่องนโยบายการเป็นเจ้าของ ในการ ใช้สิทธิการเป็นผู้ถือหุ้น
3. ควรกำหนด วัตถุประสงค์ในการดำเนินงานให้ชัดเจน ว่าอะไรเป็นวัตถุประสงค์หลัก และวัตถุประสงค์รอง เพราะการเป็น บริษัทจดทะเบียนจะต้องมีแนวทางที่จะแสวงหากำไรสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น แต่รัฐบาลไม่ควรที่จะใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบาย ในบางเรื่องเพื่อกระตุ้นทางเศรษฐกิจ
4.ความรับผิดชอบของกรรมการ ซึ่งกรรมการอิสระควรที่จะมีอิสระใน การตัดสินใจ
และ 5. การเปิดเผยข้อมูล ซึ่ง OECD ต้องการให้รัฐวิสาหกิจ ที่ยังไม่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯควรที่จะมีการเปิดเผยข้อมูลเหมือนกับบริษัทจดทะเบียน

ทั้งนี้บริษัทรัฐวิสาหกิจที่เข้ามาร่วมในงานเสวนาในครั้งนี้ก็เห็นด้วย ในเรื่องการแข่งขันที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานเดียวกับบริษัทเอกชนทั่วไป

"ขณะนี้มีบริษัทรัฐวิสาหกิจ จำนวน 60 แห่ง ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 6 แห่ง ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 4 ของมูลค่าตลาดรวม ซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพราะรัฐวิสาหกิจดำเนิน ธุรกิจในด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ" นางสาวโสภาวดีกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.