|
ทีทีแอนด์ทีบุกตลาดโทร.พื้นฐานกทม. ไลเซนส์ใหม่พร้อมบริการบรอดแบนด์
ผู้จัดการรายวัน(21 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ทีทีแอนด์ทีใช้บริษัท Triple T broadband ขอไลเซนส์บริการโทรศัพท์พื้นฐานและ บรอดแบนด์ กทช. จำนวน 5 แสนเลขหมาย หวังบุกตลาดกรุงเทพฯ ต่อยอดเครือข่ายที่ครอบคลุมไม่ถึง และสนองตลาดบรอดแบนด์ที่เติบโตสูง โดยใช้เงิน 2 พันล้านลงทุนขยายบริการ
นายประจวบ ตันตินนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีทีแอนด์ที กล่าวว่า ได้ยื่นขอใบอนุญาต ให้บริการโทรคมนาคมประเภท 3 หรือมีโครงข่ายเป็น ของตัวเองภายใต้ชื่อบริษัท Triple T broadband ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เพื่อให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน จำนวนเบื้องต้นประมาณ 5 แสนเลขหมาย บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ โดย มีแผนจะให้บริการในกรุงเทพฯ ด้วยเทคโนโลยี NGN หรือ Next Generation Network ซึ่งคาดว่าคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) จะพิจารณาออกใบอนุญาตให้เดือนม.ค.2549
"บริษัทนี้ไม่จำเป็นต้องมีพาร์ตเนอร์ไม่ว่าจะเพื่อเทคโนโลยีหรือเพื่อเงินทุน เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนต่อเลขหมายในระบบ NGN ลดลงมาก"
นอกจากนี้ ทีทีแอนด์ที ยังจัดตั้งบริษัท Triple T Global เพื่อเตรียมยื่นขอใบอนุญาตให้บริการอินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ ซึ่งสามารถให้บริการทั้งวอยซ์และดาต้า หรือบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศและบริการด้านอินเทอร์เน็ต รวมทั้งบริษัทยังจัดตั้งบริษัท Triple Telecom เพื่อทำธุรกิจด้านการให้บริการ System Integration
เป้าหมายของทีทีแอนด์ทีในปีหน้า คือมุ่งเน้นให้บริการบรอดแบนด์ โดยมีแผนที่จะลงทุน 2 พันล้านบาทและหวังที่จะมีลูกค้าประมาณ 3 แสนพอร์ต จากปัจจุบันที่มีลูกค้าใช้บริการประมาณ 7-8 หมื่นรายโดยเป็นลูกค้าของแม็กซ์เน็ตภายใต้บริษัท TT&T Subscriber service ที่เป็นบริษัทลูกของทีทีแอนด์ที และได้ไลเซนส์ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ประเภทที่ 1 หรือไม่มีโครงข่ายเป็นของตัวเอง ประมาณ 5 หมื่นราย ที่เหลือเป็นไอเอสพีอื่นๆที่มาใช้โครงข่ายทีทีแอนด์ที
"ลูกค้า 5 หมื่นรายของเราใช้เวลาแค่ 6 เดือนเท่านั้น ซึ่งตลาดยังมีโอกาสอีกมาก โดยปีหน้าเราคาดว่ารายได้จากบรอดแบนด์จะอยู่ในระดับพันล้านบาทหรือประมาณ 15% ของรายได้รวมทีทีแอนด์ทีที่เฉลี่ยประมาณ 7 พันล้านบาท"
สำหรับแผนการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน 5 แสนเลขหมายใหม่นั้น Triple T Broadband มีแผนที่จะให้บริการในกรุงเทพฯ ในสัดส่วนเบื้องต้น 30/70 คือยังให้ความสำคัญตลาดต่างจังหวัดมากกว่า ในกรุงเทพฯ เนื่องจากเป็นฐานธุรกิจของทีทีแอนด์ที นอกจากนี้ ค่าบริการของบริษัทใหม่ยังน่าจะจูงใจมากกว่า เพราะต้นทุนในเรื่องใบอนุญาตต่ำกว่าทีทีแอนด์ทีที่สูงถึง 43.1%
นายประจวบกล่าวว่า Triple T Broadband หากเสียค่าธรรมเนียมตามไลเซนส์ใหม่ของกทช.จะตกประมาณไม่เกิน 10% ของรายได้ โดยเสียค่าใบอนุญาต 3% ค่า USO 4% และค่าเลขหมายปีละ 12 บาท ซึ่งคิดอย่างไรก็ยังต่ำกว่าทีทีแอนด์ทีอยู่ดี ซึ่งในอนาคตหากลูกค้าจะไหลมายังบริษัทดังกล่าว เนื่องจากค่าบริการจูงใจหรือมีบริการที่หลากหลายก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทต้องพยายามไม่ให้มีผลกระทบกับบริษัท ทีโอที ซึ่งเป็นคู่สัญญาร่วมการงาน
สำหรับต้นทุนค่าธรรมเนียม กทช.ของ Triple T Broadband ยังขึ้นอยู่กับแผนธุรกิจของบริษัทด้วย หากต้องการหาฐานลูกค้าจำนวนมากก็อาจต้องจ่าย ค่า USO เต็ม 4% แต่หากเลือกลงทุนให้บริการในพื้นที่ซึ่ง กทช.กำหนดเป็น USO ก็สามารถนำมาหักลดหย่อนค่าธรรมเนียมลงให้ต่ำกว่า 4% ได้อีก อย่างเช่น ในภาคเหนือที่บริษัทพร้อมลงทุนให้บริการในพื้นที่เป็น USO นอกจากนี้ในกรุงเทพฯ บางพื้นที่ยังถือเป็น USO ด้วยเนื่องจากไม่มีบริการพื้นฐานเข้าถึง
ส่วนความคืบหน้าในการทดสอบบริการ Wi-Max ยังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของ กทช. เนื่องจาก กทช.เกรงว่าหากให้ Wi-Max ทดสอบแล้วบริการ 3G ก็ควรให้ทดสอบเช่นเดียวกัน เนื่องจากทั้ง 2 บริการต้องอาศัยความถี่เหมือนกัน เพียงแต่ Wi-Max ใช้ย่านความถี่ 2.4 กิกะเฮิรตซ์ ที่ได้มีการกันย่านความถี่นี้ไว้แล้ว น่าจะมีปัญหาน้อยกว่า 3G โดยที่ความคาดหวังของการทดสอบ Wi-Max ก็เพื่อต้องการให้รู้ถึงข้อบกพร่องของเทคโนโลยีนี้ที่สามารถให้บริการได้ทั้งบรอดแบนด์ และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยี Wi-Max ยังไม่นิ่งและยังไม่มีการให้บริการเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้บริษัทจะทดสอบ Wi-Max ใน 3 พื้นที่คือภาคใต้ ภาคตะวันตกและภาคเหนือ
"หาก Wi-Max ทำงานได้ดีจริงในประเด็น Mobility ก็จะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับโอเปอเรเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แต่ยังต้องใช้เวลารอให้เทคโนโลยีนิ่งเสียก่อน แต่ปีหน้าสิ่งที่จะเห็นชัดเชิงพาณิชย์คือบรอดแบนด์ที่เราบุกต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ ทันทีที่ได้ไลเซนส์จากกทช."
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|