|
ฟันธงขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า1.5-2%
ผู้จัดการรายวัน(20 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงเกอร์ฟันธงดอกเบี้ย ปีหน้าปรับขึ้น 1.5-2% ไร้เงาสินเชื่อคงที่ คาด สินเชื่อบ้านทั้งระบบ 3 แสนล้านบาท จับตาแบงก์ใหม่ออกแคมเปญดึงลูกค้า ด้านกสิกรไทย เชื่ออสังหาฯ ปีหน้าโต 12% หรือ 83,000 ยูนิต
วานนี้ (19 ธ.ค.) สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยจัดงานสัมมนา เรื่อง "ทิศทางสินเชื่อที่อยู่อาศัย ปี 2549 และอสังหาริมทรัพย์" โดยนางชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อสังหาฯ ในปี 2549 จะมีการเติบโตตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่จะมีการเติบโต 4-5% แต่ยังมีปัจจัยลบที่จะเข้ามาส่งผลกระทบให้ตลาดมีการชะลอตัวลงบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องของแนวโน้ม อัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้น รวมถึง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายปรับดอกเบี้ยตาม โดยคาดว่านับจากไตรมาส 1-3 อัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นทุกไตรมาส และจะไปชะลอในช่วงไตรมาส 4 ซึ่งเชื่อว่าปี 2549 จะปรับขึ้นประมาณ 1.50-2.0%
ส่วนการขยายตัวของสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในปีหน้าเฉลี่ยประมาณ 6.6-7% ส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโต บวก-ลบ 5% และจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเชื่อว่าในปีหน้าจะไม่มีโปรแกรมสินเชื่อคงที่ ยกเว้นเป็นโครงการ พิเศษ หรือธนาคารใหม่ที่เปิดตัวจะออกแคมเปญเพื่อดึงลูกค้า ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของ แต่ละธนาคาร แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดมากนัก เนื่องจากเป็นธนาคารใหม่ ฐานลูกค้าน้อย และมีข้อจำกัดในหลายประการ ทั้งเงินทุน เจ้าหน้าที่ สาขา
ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสินเชื่อผู้บริโภค ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2549 คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้น 1% ซึ่ง จะส่งผลให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยจะมีการเติบโตประมาณ 14% ในปีหน้า ส่วนธุรกิจอสังหาฯจะยังคงเติบโตประมาณ 14% ในปี 2548 หรือประมาณ 75,000 หน่วย และ 2549 โต 12% หรือประมาณ 83,000 หน่วย โดยในไตรมาส 3 ปี 2548 มีจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จและจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลรวม 53,476 ยูนิต เพิ่มขึ้น 13.82% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ คาดว่า ณ สิ้นปี 2548 ตลาดที่อยู่อาศัยที่สร้างโดยผู้ประกอบการจะมียอดขายรวมประมาณ 100,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 14% จากปี 2547 ส่วนเหตุผลที่เชื่อว่าอสังหาฯจะมีการเติบโตในระดับดังกล่าวมาจากตลาด ที่อยู่อาศัยที่สร้างโดยผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด สูงถึง 75% ของยอดขายที่อยู่อาศัยที่สร้างโดยผู้ประกอบการ โดยคาดว่าในปีนี้มียอดขายประมาณ 75,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 25% จากปี 2547
นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการ ผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า ทิศทางสินเชื่อที่อยู่อาศัยปี 2549 ยังคงมีการขยายตัวของตลาดที่อยู่อาศัยประมาณ 10-20% โดยเฉพาะใน Segment ราคาต่ำ-ปานกลาง ไม่เกิน 5 ล้านบาท แม้อัตราดอกเบี้ยจะขยับตัวสูงขึ้นซึ่งคาดว่าอีกไม่น้อยกว่า 1% ในปี 2549 แต่ยังอยู่ในระดับที่ผู้ซื้อบ้านรับได้ การนำนวัตกรรมทางการเงินเพื่อที่อยู่อาศัยสมัยใหม่ เช่น MI และ Securitization มาใช้ทำให้ต้นทุน ทางการเงินถูกลง และมีอัตราคงที่มากขึ้นนโยบายบ้านมือสองจะส่งผลต่อตลาดสินเชื่อชัดเจนในปี 2549
สำหรับตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปี 2549 น่าจะมีขนาดตลาดสินเชื่อที่อยู่ปล่อยใหม่ ประมาณ 300,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีขนาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงเหลือทั้งระบบ ประมาณกว่า 1.25 ล้านล้านบาท ธอส. น่าจะมีส่วนแบ่งตลาดไม่น้อยกว่า 35% ทั้งสินเชื่อปล่อยใหม่ และสินเชื่อคงเหลือ
ทั้งนี้ ปัจจัยบวกที่จะส่งผลต่อสินเชื่อที่อยู่ อาศัยได้แก่ เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะดีขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา ภาวการณ์ขยายตัวโดยรวมของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น GDP ไตรมาส 3 อยู่ที่ระดับ 5.3% คาดว่าทั้งปี 4.25-4.75% และ 2549 ประมาณ 5% เกิดการขยายตัวของตลาดบ้านมือสอง โดยรัฐให้การส่งเสริม ด้านมาตรการภาษีจำนวนผู้ที่ยังไม่มีบ้านเป็นของตนเองมีสัดส่วนถึง 50% หรือยังมีอุปสงค์ที่อยู่อาศัยอีกมากในตลาด เกิดโครงการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่โดยภาครัฐจำนวนมาก
ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูงและอยู่ในช่วงขาขึ้น ภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงโดยเฉลี่ยปี 2548 ทั้งปีอยู่ที่ระดับ 4.5% แต่คาดว่าปี 2549 จะลดลงเหลือ 5.0% อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นครึ่งปีหลังขึ้น 1% คาดว่าปี 2549 จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งปีอีกประมาณ 1% เช่นกัน ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจาก ต้นทุนทางการเงิน และราคาวัสดุก่อสร้างประชาชนอาจหันมาลงทุนในทองคำมากกว่าอสังหาริมทรัพย์
สินเชื่อปล่อยใหม่ทั้งระบบ ระหว่าง ม.ค.-ก.ย. 48 มีจำนวน 203,924 ล้านบาท ซึ่งลดลงจาก ช่วงเดียวกันของปี 2547 ร้อยละ 4.0 (213,281 ล้านบาท) คาดว่า ปี 2548 ทั้งปี จะมีจำนวนถึง 291,090 ล้านบาท ส่วนสินเชื่อคงเหลือทั้งระบบ ระหว่าง ม.ค.-ก.ย. 48 จำนวน 1,176,858 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากช่วงเดียวกันของปี 2547 ร้อยละ 7.6 (1,094,132 ล้านบาท)
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|