|
บุญชัยเปิดบ.เศรษฐกิจร่วมด้วยช่วยกัน ใช้ 200 ล้านสร้างบริการ 3G รากหญ้า
ผู้จัดการรายวัน(20 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"บุญชัย" เปิดบริษัท เศรษฐกิจร่วมด้วยช่วยกัน ใช้เงิน 200 ล้านบาทสร้างศักยภาพเชิงธุรกิจให้กลุ่มเกษตรกร รวมตัวกันสร้างเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศ วางแผนขอไลเซนส์บริการ 3G ระดับรากหญ้า เปิดภาพยนตร์สั้นเรื่องใหม่ความร่วมมือโครงการสำนึกรักบ้านเกิดกับ ดีแทค ที่เน้นแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง สนองพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียง
นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวว่า ได้ตั้งบริษัทใหม่ชื่อบริษัท เศรษฐกิจร่วมด้วยช่วยกัน ทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 ล้านบาท และเงินลงทุนเบื้องต้นทั้งหมด 200 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจให้เกษตรกร ซึ่งเป็น ชนชั้นผู้ผลิตที่อยู่ในระดับล่างสุดของระบบเศรษฐกิจ โดยจะเป็นการชักชวนหาพาร์ตเนอร์เกษตรกรในแต่ละจังหวัด มาร่วมทำวิทยุชุมชน และเรียนรู้ในการค้าขาย
"ผมตั้งใจทำทั่วประเทศ ซึ่งหากมีคนเข้าร่วมผมจะนำบริษัทนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯโดยเกษตรกรทุกจังหวัดจะเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยการแลกหุ้นระหว่างบริษัทเศรษฐกิจร่วมด้วยช่วยกันกับบริษัท หรือสหกรณ์ของแต่ละจังหวัดที่เข้าร่วม"
เขามองว่าในช่วง 2 ปีแรกของบริษัท จะไม่มองผลตอบแทนกลับมา แต่มุ่งผลระยะยาวมากกว่า เพราะการรวมกลุ่มของเกษตรซึ่งปัจจุบันมีกว่า 5,000 สหกรณ์ทั่วประเทศ ถ้าสามารถเชื่อมโยงผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ จะมีพลังทางธุรกิจมหาศาล นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้สูง ที่บริษัท เศรษฐกิจร่วมด้วยช่วยกัน จะขอไลเซนส์ให้บริการ 3G ประเภท 1 คือไม่มีโครงการของตัวเอง แต่จะเป็นการพัฒนาแอปพลิเคชันต่อยอดให้บริการมากกว่า ซึ่ง 3G ประเภทนี้น่าจะตอบสนองความตั้งใจของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่ต้องการเห็นบริการลงไปถึงประชาชน มากกว่าการใช้เฉพาะกลุ่มคนเมือง
"ผมจะทำ 3G ในแนวทางของผม ซึ่งการซื้อคืน 4 ธุรกิจจากยูคอม ก็เหมือนการหักล้างถางพงรองรับ 3G ในเมื่อดีแทคถูกจำกัดไม่สามารถให้บริการได้ เพราะสัญญาที่ผูกพันอยู่"
สำหรับ 4 บริษัทที่บุญชัยขอซื้อคืนจาก ยูคอมประกอบด้วย UD, UIH, UBT และ UTEL รวมทั้งตึกของยูคอม โดยเป้าหมายของบุญชัยต้องการให้บริษัท UTEL ทำธุรกิจรับติดตั้งเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในระดับภูมิภาคโดยอยู่ระหว่างการหาพาร์ตเนอร์ ในขณะที่ด้านบรอด แบนด์ และคอนเทนต์ต่างๆ ที่รองรับ 3G จะเป็นหน้าที่ของวิชัย เบญจรงคกุล รับผิดชอบ
นอกจากนี้ มูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิดร่วมกับดีแทคเปิดตัวภาพยนตร์สั้นเรื่องที่ 10 แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง โดยเน้นแนวคิดตามพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อทำให้ชีวิตมีความสุข และรู้จักเกื้อกูลคนอื่น
ด้านนายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค กล่าวว่า ภายหลังจากที่เทเลนอร์ทำ คำเสนอซื้อ (tender offer) หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งหมดของยูคอม ปรากฏว่าได้หุ้นเพิ่มอีก 93 ล้านหุ้นในราคา 53 บาทต่อหุ้นรวมมูลค่า 492.9 ล้านบาท โดยที่ก่อนหน้านี้เทเลนอร์ เทกโอเวอร์ยูคอมด้วยการซื้อหุ้นจำนวน 173 ล้านหุ้นราคาหุ้นละ 53 บาทหรือประมาณ 9,200 ล้านบาท ซึ่ง ทำให้เทเลนอร์ถือหุ้นในยูคอมทั้งทางตรง และทาง อ้อมรวม 75% แบ่งเป็นทางตรง 24.9% และทางอ้อมผ่าน Thai Telco Holding 61% ทั้งนี้ Thai Telco Holding ถือหุ้นโดยเทเลนอร์ 49% บุญชัย 10% ฟินันซ่า10% และที่เหลือเป็นบริษัทตัวแทนหรือ nominee of Telenor ส่วน ดีแทค ซึ่งจดทะเบียนในตลาดสิงโปร์จะเสร็จสิ้น กระบวน การ tender offer วันที่ 22 ธ.ค.นี้ โดยทำการเสนอซื้อด้วยราคา 3.154 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น
แหล่งข่าวในวงการกล่าวว่า มีความเป็นไปที่เทเลนอร์จะขาย 4 ธุรกิจออกไป เพราะต้องการมุ่งไวร์เลส บรอดแบนด์ มากกว่าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่าน ADSL ที่ปัจจุบันบริษัท ยูนี่ ในส่วนของ UD ให้บริการอยู่ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการแข่งขันราคาสูงและทำกำไรได้น้อย ส่วนเรื่องการนำหุ้นยูคอมออกจากตลาดหลักทรัพยฯหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบอร์ดในวันนี้ (20 ธ.ค.)
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|