|
ATCคงเป้ารายได้6หมื่นล. เหตุหยุดซ่อมโรงงาน30วัน
ผู้จัดการรายวัน(20 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
อะโรเมติกส์ฯ ตั้งเป้าปีหน้าโกยรายได้ 6 หมื่นล้านใกล้เคียงปีนี้ เนื่องจากรายได้หด เหตุต้องหยุดซ่อมโรงงานประจำปี และต่อเชื่อมหน่วยกลั่นแยกวัตถุดิบเป็นเวลา 30 วัน แต่จะมีรายได้เข้ามาเพิ่มในครึ่งปีหลังจากการผลิตอะโรเมติกส์เพิ่ม อีก 1.5 หมื่นตัน/วัน และโรงงานไซโครเฮกเซน เผยการศึกษา Synergy ระหว่าง ATC-RRC คาดว่าข้อสรุปต้นปี 49 ล่าสุดเซ็น สัญญาขายผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ หน่วยที่ 2 ให้มิตซุย เคมิคัล อิงค์ และ สยามมิตซุยพีทีเอ
นายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ATC เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ในปี 2549 จะใกล้เคียงปีนี้ที่มีรายได้ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากในปีหน้า เอทีซีจะมีการหยุดซ่อมบำรุงประจำปีโรงอะโรเมติกส์ หน่วยที่ 1 ในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค. 2549 ระยะเวลา 30 วันและเชื่อมต่อหน่วยกลั่นแยกวัตถุดิบคอนเดนเสต ทำให้รายได้หายไป 1 เดือนแต่จะมีรายได้เข้ามาชดเชยในช่วงกลางปี 2549 หลังจากหน่วยกลั่นแยกวัตถุดิบคอนเดนเสตของโรงอะโรเมติกส์หน่วย 1 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 5 หมื่นตัน/วัน เป็น 6.5 หมื่นตัน/วัน และโรงงานไซโครเฮกเซนเริ่มเดินเครื่องผลิต โดยมีมาร์จิ้นสูงกว่าเบนซีน 200 เหรียญสหรัฐ/ตัน
นอกจากนี้ ประเมินว่าราคาพาราไซลีนและเบนซีนในปีหน้าจะใกล้เคียงปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 800 และ 700 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้อะโรเมติกส์ในภูมิภาคยังเพิ่มสูงขึ้น แต่การผลิตอะโรเมติกส์ในภูมิภาคนี้คงที่ ทำให้เพียงพอที่จะสนองความต้องการใช้ในตลาดภูมิภาคนี้
นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวถึงส่วนความคืบหน้าการ Synergy กับบมจ.โรงกลั่นน้ำมันระยอง (RRC)ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษา ซึ่งพบว่าสามารถ Synergy ได้หลายจุดเพื่อลดต้นทุนโครงการอะโรเมติกส์หน่วยที่ 2 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้ง 2 บริษัท ดังนี้คือ 1. ปริมาณคอนเดนเสต เรสซิดูที่เป็นผลพลอยได้ในขบวนการผลิตของเอทีซีนั้น ทาง RRC สามารถนำไปผลิตเป็นน้ำมันดีเซลได้ โดยจำเป็น ต้องมีการติดตั้งหน่วยผลิตบางตัว และ 2. ไฮโดรเจนที่เหลือจากโรงอะโรเมติกส์หน่วยที่ 2 สามารถป้อนให้ RCC ได้ ช่วยลดต้นทุนให้ RRC ขณะเดียวกันเรฟเฟอร์เมตของ RRC นำมาป้อนเข้าสู่โรงอะโรเมติกส์หน่วยที่ 2
"เมื่อควบรวม 2 บริษัทแล้ว ทาง RRC จะทำหน้าที่ป้อนวัตถุดิบ คือ รีฟอร์เมตให้ ATC เพื่อผลิตอะโรเมติกส์ ทั้งนี้ คาดว่าผลสรุปการศึกษาน่าจะเสร็จหลังจาก RRC เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงไตรมาส 1/2549 โดยจะมีตัวเลขแน่ชัดว่า จะสามารถประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ ได้เท่าไร"
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทฯยืนยันว่าสัญญา ขายคอนเดนเสต เรสซิดูที่ทำไว้กับบมจ.ระยองเพียวริฟายเออร์นั้น บริษัทฯยังปฏิบัติตามสัญญาโดยจะป้อนขายให้ตามที่ระบุไว้จนกว่าจะสิ้นสุดสัญญาในอีก 7-8 ปีข้างหน้า แม้ว่าสัญญา ซื้อขายระบุว่าบริษัทฯจะยุติสัญญาได้ถ้านำไปใช้เองก็ตาม
นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯได้ลงนามสัญญาขายผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์หน่วย 2 เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยแบ่งออกเป็น สัญญาขายผลิตภัณฑ์เบนซีนในปริมาณ 1.5 แสนตันต่อปี มูลค่าสัญญา 500 ล้านเหรียญสหรัฐ กับ บริษัท มิตซุย เคมิคัล อิงค์ จากประเทศญี่ปุ่น และสัญญาขายผลิตภัณฑ์พาราไซลีนในปริมาณ 2.7 แสนตันต่อปี มูลค่าสัญญา 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ กับบริษัท สยาม มิตซุยพีทีเอ จำกัดซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเครือซิเมนต์ไทย และบริษัท มิตซุย เคมิคัล อิงค์ ทั้ง 2 สัญญามีอายุสัญญา 5 ปี โดยสยาม มิตซุยพีทีเอ จำกัด มีความต้องการผลิตภัณฑ์พาราไซลีนประมาณ 1 ล้านตันต่อปี เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานผลิตสารพีทีเอ
ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์พาราไซลีนประมาณ 1.8 ล้านตันต่อปี โดยมีผู้ผลิตในประเทศรวมกันประมาณ 1.3 ล้านตันต่อปี ที่เหลือเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ โรงงานอะโรเมติกส์หน่วยที่ 2 มีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 3/2551 โดยจะมีกำลังการผลิตเบนซีน 3.63 แสนตันต่อปี และพาราไซลีน 6.16 แสนตันต่อปี ทั้งนี้จะส่งผลให้ ATC มีกำลังการผลิตสารเบนซีนและพาราไซลีนทั้ง 2 โรงรวมกันในปริมาณ 8.30 แสนตันต่อปี และ 1.11 ล้านตันต่อปี ตามลำดับ ทำให้ ATC ก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตสารอะโรเมติกส์รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ PTTCH หยุดซ่อมโรงงาน 2 แห่ง
ด้านนายอดิเทพ พิศาลบุตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหา-ชน) หรือ PTTCH ซึ่งมีบริษัท ปตท. จำกัด (มหา-ชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เช่นเดียวกับ ATC กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทมีแผนจะหยุดโรงงานโอเลฟินส์ 2 (โรงงานสาขาถนน I-4) เพื่อการซ่อมบำรุงตาม แผนในไตรมาส 4 ปี 2549 และหยุดโรงงานโอเลฟินส์ 1 (โรงงานสาขาถนน I-4) เพื่อการเชื่อม ต่อกับโครงการเพิ่มกำลังการผลิตโรงโอเลฟินส์ 1 หรือโครงการ Plant 1 Debottleneck ในไตร-มาส 4/2549 เนื่องจากต้องดำเนินการเชื่อมต่อบางส่วนที่สัมพันธ์กับโรงงานโอเลฟินส์ 2
ดังนั้น บริษัทจึงได้ปรับกำหนดแล้วเสร็จของโครงการ Plant I Debottleneck ในส่วนที่เหลือ ซึ่งมีกำลังการผลิตเอทิลีน 130,000 ตันต่อปี และโพรพิลีน 60,000 ตันต่อปีเป็นต้นปี 2550 หลังการหยุดโรงงานเพื่อเชื่อมต่อตามโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ การปรับกำหนดการดังกล่าวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินงานของบริษัท และไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัทโดยรวม ในส่วนของเงินลงทุนโครงการ Plant 1 Debottleneck คาดว่าจะลดลงจากเดิมที่ 140 ล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ 15%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|