"ส่งออกอัญมณีไทย รุ่งหรือดับ!?"

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ครั้งหนึ่งนานมาแล้วการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยส่องแสงสว่างไปทั่วโลก ถือว่าเป็นยุคเบ่งบานของอุตสาหกรรมนี้ แต่ปัจจุบันแสงสว่างค่อยๆ ดับลง อะไรคือปัญหาสำคัญของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย แนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งจากภาครัฐและเอกชนมีมากน้อยแค่ไหน การส่งออกของอุตสาหกรรมนี้จะมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ ประเด็นเหล่านี้น่าจับตามองอย่างยิ่ง!

มรสุมทางเศรษฐกิจที่พัดกระหน่ำประเทศไทยในรอบปีที่ผ่านมานับว่าได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ระหว่างการปรับตัวให้สอดคล้องกับกลไกการค้าเสรีของโลกให้เกิดการชะงักงัน หลายปัจจัยอันเป็นเหตุแห่งการเจ็บป่วยทางเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นบทเรียนประการหนึ่งแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินบทบาททางเศรษฐกิจของประเทศต้องทบทวนก่อนที่จะวางกลยุทธ์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคตอย่างระมัดระวัง

ความบอบช้ำทางเศรษฐกิจไทยตลอดปี 2539 ปรากฏว่าแทบทุกภาคธุรกิจมีการชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2539 อยู่ที่ระดับ 6.6% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 10 ปี

เป็นที่ทราบกันดีว่าปี 2539 เป็นปีที่ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการส่งออกซึ่งเป็นเสมือนลางบอกเหตุที่ทำให้สามารถพยากรณ์ถึงอนาคตทางเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดีว่าหากไม่ปรับกลยุทธ์ เพื่อแก้ไขปัญหาการส่งออกแล้วจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมาก จากตัวเลขการส่งออกปี 2539 ปรากฏว่ามีมูลค่าทั้งสิ้น 1,412,111 ล้านบาท เทียบกับปี 2538 ที่มีมูลค่าการส่งออก 1,406,310 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวเพียง 0.41% เท่านั้น ในขณะที่ปี 2538 มีอัตราการขยายตัวสูงถึง 23.62% ทั้งนี้เนื่องมาจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นทำให้เสถียรภาพการแข่งขันในตลาดโลกลดลง อีกทั้งสินค้าประสบปัญหากับนโยบายการปกป้องทางการค้าจากประเทศคู่ค้าทำให้ช่องทางการส่งออกตีบตันลง ขณะเดียวกันกลไกต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมการส่งออกยังเป็นตัวหน่วงเหนี่ยวไม่ให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกเป็นไปตามเป้า

จากปัญหาดังกล่าวทำให้ภาครัฐบาลพยายามอย่างยิ่งที่จะหาหนทางแก้สถานการณ์ การส่งออกให้ฟื้นตัวกลับมาให้เร็วที่สุดโดยด้านภาคการส่งออกได้นำมาตรการระยะสั้นให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (Exim Bank) สนับสนุนด้านสินเชื่อในการจำหน่ายสินค้ากับประเทศที่จะเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพในการส่งออก ปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล การเร่งคืนภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออก

ส่วนแผนการระยะยาวให้กรมส่งเสริมการส่งออกวางแผนตลาดในเอเชียและกลุ่มประเทศเอเปก รวมไปถึงประเทศในแถบตะวันออกกลาง ยุโรปตะวันออกและแอฟริกาใต้ ที่สำคัญได้มีแผนการกำหนดแผนแม่บทการส่งออกแห่งชาติระยะเวลา 20 ปี (2540-2549) ขึ้น

แผนการดังกล่าวนี้เป็นแนวคิดเพื่อผลักดันให้การส่งออกของประเทศไทยมีมูลค่าสูงขึ้นรวมทั้งโอกาสที่จะเจาะตลาดใหม่ให้มีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมบางอย่างได้เริ่มเคลื่อนไหวและวางกลยุทธ์ไว้แล้ว อาทิ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

อัญมณีและเครื่องประดับในยุคถดถอย

10 ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นยุคทองของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย โดยเฉพาะในช่วงปี 2529-2534 ถือว่าเป็นยุคทองของอุตสาหกรรมนี้โดยแท้จริง โดยที่มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ย 17% ต่อปี แต่หลังจากนั้นนับจากปี 2535-2539 อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับก็เริ่มซบเซาลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียง 7.3% ต่อปีเท่านั้น ล่าสุดปี 2539 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับมีเพียง 54,272.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2538 เพียง 3.4% เท่านั้น

หากดูกันอย่างเผินๆ แล้วการชะลอตัวของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับเกิดจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่กำลังซบเซา แต่ถ้ามองกันอย่างลึกๆ แล้วผลกระทบจะเกิดจากการความไม่ชัดเจนทั้งผู้วางนโยบายและผู้ปฏิบัติ

"อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยค่อนข้างจะอ่อนไหวตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งจริงๆ แล้วอุตสาหกรรมนี้มีศักยภาพสูงแต่เนื่องจากความไม่คล่องตัวในการดำเนินการและรัฐบาลไม่ให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง" ธนันญช์ มาลีศรีประเสริฐ ผู้จัดการสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับลดลง


ปัญหารุมเร้า ทุกอย่างมีทางแก้

สาเหตุประการแรกที่ทำให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับซบเซา ได้แก่ความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับการขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สังเกตได้จากหลังจากรัฐบาลนำระบบภาษีนี้เข้ามาใช้ในปี 2535 มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับลดลงทันที เนื่องจากระบบการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และจะขอคืนได้ต่อเมื่อมีการส่งออกแล้ว แต่การขอคืนจะค่อนข้างช้า มีผลทำให้ผู้ประกอบการประสบภาวะการขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียนในการพัฒนาอุตสาหกรรมของตัวเอง

"นี้คือปัญหาเพราะเสียภาษีไปแล้ว เราขอคืนได้ช้ามาก ในช่วง 2-3 ปีหลังๆ มานี้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ค้างเรามีหลายพันล้านบาท ดังนั้นจะมีแต่ผู้ประกอบรายใหญ่ๆ ที่มีเงินทุนมากจึงจะอยู่ได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กๆ ประกอบกับเศรษฐกิจซบเซาอย่างนี้ผู้ที่อยู่ในวงการอัญมณีค่อนข้างมีปัญหาในเรื่องนี้" ธนันญช์ กล่าว

ด้านปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานกรรมการ บมจ. แพรนด้า จิวเวลรี่ (PRANDA) กล่าวถึงปัญหาภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีต่ออุตสาหกรรมอัญมณีว่าผลกระทบที่จะตามมาคือศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดโลกจะลดลงตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) เพราะจะต้องมีภาษีที่เหมือนกัน ไม่เช่นนั้นแล้วจะเกิดผลเสียต่อผู้ประกอบการไทยได้ในเรื่องศักยภาพในการแข่งขัน

"เมื่อเราเข้า AFTA ไปแล้วระบบภาษีจะต้องเหมือนประเทศอื่น ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการไทยจะมีปัญหาหลายๆ ด้าน เช่น เราอาจจะไม่สามารถขายสินค้าได้"

เขายังกล่าวต่อไปว่านอกจากปัญหาดังกล่าวแล้วปัจจุบันมีผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับอยู่นอกระบบกันมากเพราะไม่ต้องการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังนั้นการลักลอบวัตถุดิบเข้ามาเพื่อผลิต เช่น ทองคำแท่ง ซึ่งสามารถลักลอบเข้ามาได้ง่ายจึงมีสูง

"ที่จับทองกันได้ในปัจจุบันมีแค่ 1% เท่านั้น เรื่องอะไรเขาจะยอมเสียภาษี VAT ถึง 7% ดังนั้น VAT คือสิ่งที่บั่นทอนศักยภาพของผู้ประกอบการในไทยประการหนึ่งเพราะจะต้องคอยหลบเลี่ยงภาษีตลอดเวลา" ปรีดาเล่า

ดังนั้นทางออกสำหรับปัญหาภาษี VAT ซึ่งผู้ที่อยู่ในวงการนี้เห็นพ้องต้องกัน คือรัฐบาลควรปรับปรุงวิธีการเก็บภาษี VAT หรือลด หรือยกเลิกสำหรับการส่งออก

"รัฐควรยกเลิกภาษี VAT ได้แล้ว หรือไม่ก็เร่งแก้ไขให้มีการคืนภาษีให้เร็วขึ้นเพราะผู้ประกอบการที่อยู่นอกระบบจะได้เข้ามาในระบบ ไม่ต้องคอยหลบเลี่ยงภาษีตลอดเวลา และจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ด้วย" ปรีดา กล่าว

แต่ความเป็นไปได้ในการที่รัฐบาลจะยกเลิกภาษี VAT ให้นั้นคงจะเป็นไปได้ยาก เพราะถ้ายกเลิก VAT ของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับได้ อุตสาหกรรมอื่นจะต้องได้รับการยกเลิกเช่นกัน เพราะจะเกิดความไม่ยุติธรรมต่อวงการอุตสาหกรรม

"เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐควรจะเข้มงวดในเรื่องการคืนภาษี VAT ให้ได้ตามที่กำหนดและควรมีบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับผู้โกงภาษี ซึ่งจะเป็นการยุติธรรมต่อผู้ประกอบการที่ทำถูกกฎหมาย" ธนันญช์ กล่าว

ประการที่ 2 ที่ทำให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีปัญหา คือขาดแคลนบุลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญซึ่งก่อให้เกิดปัญหาแก่วงการนี้เป็นอย่างมากในเรื่องของการซื้อตัวบุคลากรที่มีความสามารถ ซึ่งมีจำนวนไม่เพียงพออยู่ในขณะนี้ วิธีเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อวงการนี้เพราะไม่ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ตรงข้ามกลับเป็นการเพิ่มปัญหาให้แก่วงการเข้าไปอีก สุดท้ายวงการนี้ก็ยังขาดแคลนบุคลากรอยู่ดี

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร หรือ มศว. ได้ทำการเปิดสอนสาขาวิชาอัญมณีศาสตร์ขึ้น เพื่อบรรเทาความขาดแคลนของบุคลากรในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งสามารถช่วยได้ในระดับหนึ่งดังนั้นผู้ประกอบการเองจึงหันมารร่วมมือกันส่งเสริมในการพัฒนาคนให้มีความรัความสามารถให้มีมากขึ้น

นอกจากนี้อัตราค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบที่ตามมา คือทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงกว่าคู่แข่ง ผู้นำเข้าต่างประเทศหันไปสั่งสินค้าจากประเทศอื่น เช่น เวียดนาม อินเดีย สุดท้ายผู้ประกอบการจำต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงที่ถูกกว่า

"สาเหตุที่เราย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามเพราะค่าแรงถูกกว่าในไทยประมาณ 30-40% และถ้าไม่ย้ายไปจะทำให้เราอยู่ไม่ได้" ปรีดา กล่าวถึงสาเหตุที่ไปเปิดโรงงานผลิตในเวียดนาม

ส่วนปัญหาภายนอกประเทศ คือปริมาณวัตถุดิบจากแหล่งผลิตภายในประเทศที่มีแนวโน้มลดลงต้องนำเข้าจากต่างประเทศและประเทศซึ่งเป็นแหล่งผลิตอัญมณีโดยเฉพาะ ศรีลังกา ออสเตรเลีย พม่า เวียดนาม มีนโยบายสงวนวัตถุดิบของตนเองไว้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศมากกว่าการส่งออกและปัจจุบันประเทศเหล่านี้เปลี่ยนสถานภาพมาเป็นผู้ผลิตและส่งออกเพื่อแข่งกับไทย

ดูเหมือนว่าปัญหาเรื่องวัตถุดิบจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมนี้ แต่ผู้ประกอบการเองยังมองว่าสถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นเลวร้าย เพราะตราบใดที่ยังมีการผลิตอยู่วัตถุดิบยังคงมีเสมอ

"อย่าคิดว่าเป็นปัญหาถ้าเรารู้จักและจัดการให้ดี ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความคล่องตัวของเราเองและความสนใจของรัฐบางส่วน เช่น วัตถุดิบที่อยากได้เข้ามาผลิต ก็ติดเรื่อง VAT บ้าง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อต้นทุน" พรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล ประธานบริหาร บริษัท บิวตี้เจมส์ กรุ๊ป จำกัด กล่าว

ด้านธนันญช์กล่าวเสริมว่า "เราไม่ห่วงเรื่องวัตถุดิบแต่เราห่วงเรื่องภาษีนำเข้าวัตถุดิบและความชัดเจนของภาครัฐเพราะเวลานี้เอกชนเขาพร้อมที่จะเดินหน้าอยู่แล้ว มีคนถามว่าถ้าวัตถุดิบในไทยหมดจะทำอย่างไร เราก็ตอบว่าในญี่ปุ่นถ้าเขาขุดเหล็กมาผลิตรถยนต์ขายทั่วโลกป่านนี้เกาะญี่ปุ่นหายไปหมดแล้ว นั่นก็หมายความว่าวัตถุดิบสำหรับผลิตอัญมณีที่มีอยู่ทั่วโลกเราสามารถนำเข้ามาผลิตได้ถ้ารัฐบาลสนับสนุนอย่างจริงจัง"

ปัญหาด้านวัตถุดิบ ภาษี คุณภาพ ช่างออกแบบ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ต้องแก้ไขเพื่อให้สามารถสนับสนุนการขยายตัวของการค้าและการลงทุนอุตสาหกรรมนี้ที่มีแนวโน้มการขยายตัวได้ดีในอนาคต ว่ากันว่าหากดำเนินการขจัดปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัดการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ออก ประเทศไทยจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางอัญมณีแห่งใหม่ของโลกได้

หาตลาดใหม่ สร้างโอกาสการส่งออก

ในอดีตที่ผ่านมาตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยส่วนมากจะกระจุกตัวอยู่แค่ไม่กี่ตลาดเท่านั้น ตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ สหภาพยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญของไทยมาตลอด มีอัตราส่วนแบ่งตลาดประมาณ 23.8% ซึ่งตั้งแต่ปี 2535-2538 มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 10% ส่วนในช่วง 4 เดือนแรกปี 2539 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันในปี 2538 ส่งออกลดลง 1.7%

ตลาดอเมริกาเป็นตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรงมากที่สุดซึ่งเป็นปัญหาต่อการส่งออกของไทยมาก สังเกตได้จากมีอัตราการขยายตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2536 ขยายตัวเทียบกับปีก่อนหน้าคิดเป็นสัดส่วน 5.5% ปี 2537 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.9% แต่ปรากฏว่าในปี 2538 อัตราการส่งออกกลับติดลบถึง 4.4% และในช่วง 4 เดือนแรกปี 2539 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2538 ยังอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วงเพราะอัตราการขยายตัวการส่งออกลดลง 3.6%

ส่วนตลาดญี่ปุ่นนั้นนับว่ายังมีศักยภาพพอสมควร แม้ว่าอัตราการขยายตัวไม่โตขึ้นเท่าที่ควร โดยในปี 2536 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2535 ในระดับ 6.9% ปี 2537 ขยายตัว 7.7% แต่ในปี 2538 ขยายตัวเหลือเพียง 6.2% ส่วนในช่วง 4 เดือนแรกปี 2539 ไทยสามารถเจาะตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นได้ถึง 24.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2538

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้การส่งออกของไทยไปยังยุโรปและอเมริกาอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทั้งยุโรปและอเมริกายังไม่ฟื้นตัวดีและประสบปัญหาการแข่งขันรุนแรงขึ้น โดยตลาดยุโรปเจอคู่แข่งอิสราเอลและอินเดียมาแย่งส่วนแบ่งไป ส่วนอเมริกาเจอแคนาดา เม็กซิโก โคลัมเบียและอินเดีย โดยเฉพาะอินเดียถือว่าเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวมากเพราะปีที่ผ่านมาอินเดียมีอัตราการส่งออกขยายตัวในอเมริกาสูงถึง 20% และที่สำคัญได้รับสิทธิพิเศษ GSP ในขณะที่ไทยโดนตัด GSP ส่วนตลาดญี่ปุ่นนั้นแม้ว่าการส่งออกไทยไม่โดนกระทบเท่าไหร่แต่ในอนาคตคาดว่าจะโดยกระทบพอสมควร

"การตัด GSP ในยุโรปไม่มีผลกระทบต่อเราเพราะภาษีอยู่ในระดับต่ำมาก คือ 2.9% และการตัดเขาจะตัด 50% ก่อนแทนที่เราจะเสียเต็มแต่จะเสียแค่ 1.45% ก่อน ที่เราเป็นห่วง คือ GSP ของอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งอเมริกาจะเก็บภาษี 6.5% ส่วนญี่ปุ่นเก็บ 6.6% ทำให้เราสูญเสียโอกาสในการส่งออกมาก เพราะเราเคยพูดกันเล่นๆ ว่าถ้าภาษีต่ำกว่า 5% จะไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกเราเลย" ปรีดา เล่า

อย่างไรก็ตามความหวังการส่งออกในปีนี้ก็ยังไม่ตีบตันแม้ว่าจะลำบากมากขึ้นโดยในปี 2540 คาดว่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับจะมีมูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 10% จากปี 2539 ซึ่งความหวังก็อยู่ที่ตลาดยุโรป อเมริกาและญี่ปุ่นเป็นหลัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจประเทศเหล่านี้กำลังฟื้นตัว

"เราจะเน้นตลาดยุโรปมากขึ้นและในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มส่วนแบ่งได้ 26% ส่วนตลาดอเมริกาและญี่ปุ่นเราจะพยายามให้มีส่วนแบ่งมากขึ้น" ธนันญช์ กล่าว

สาเหตุที่เน้นไปตลาดยุโรป เนื่องจากการรวมประเทศในยุโรปเป็นกลุ่มการค้าหรืออียู ทำให้ประเทศที่เป็นสมาชิกและเป็นคู่ค้ากับสมาชิกของยุโรปสามารถที่จะส่งสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ในกลุ่มอียูได้ ซึ่งเป็นการขยายตลาดของไทยได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้หลังจากกลุ่มยุโรปรวมตัวกันเป็นตลาดเดียวกันแล้วขั้นต่อไป คือการรวมตัวกันในเรื่องการใช้เงินสกุลเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้จะต้องตกลงกันในเรื่องวินัยทางการคลังว่า แต่ละประเทศจะต้องไม่ใช้จ่ายเงินเกินบัญชีเดินสะพัด 3% และคาดว่าการรวมตัวกันนี้จะสำเร็จในปี 2542

"ฉะนั้นตอนนี้รัฐบาลในประเทศยุโรป สามารปรับหรือลดดอกเบี้ยต่างๆ เพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นและในขณะนี้สัญญาณก็ดีขึ้นแล้ว เราจึงมองว่าต่อไปนี้ตลาดยุโรปจะดีวันดีคืนและมั่นใจว่าจะเป็นปีทองของยุโรป" ปรีดา กล่าว

ส่วนตลาดในอเมริกาแม้ว่าจะยังมีอนาคตแต่การส่งออกเข้าไปจำหน่ายคงจะไม่โตอย่างหวือหวาเหมือนในอดีต เพราะตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในอเมริกาเริ่มถึงจุดอิ่มตัว ส่วนตลาดในญี่ปุ่นจะมีปัญหาเรื่องการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศมากเกินไป

"จุดที่เรามองญี่ปุ่น คือเขามีปัญหาคล้ายๆ ประเทศไทย เช่นสถาบันการเงินอ่อนแอ รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ดีและปัญหาทางการเมือง" ปรีดา กล่าว

ดังนั้นหนทางออกที่จะสามารถสร้างโอกาสในการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในอนาคต คือ การแสวงหาตลาดใหม่เพราะการพึ่งพาตลาดหลักเพียงตลาดเดียวนั้นย่อมไม่เป็นผลดีต่อการส่งออกอย่างแน่นอน และอาจจะทำให้การส่งออกในปีนี้หรือปีต่อๆ ไปมีสภาพเหมือนปีที่ผ่านมา ตลาดที่มีศักยภาพที่ดีพอที่จะเป็นตลาดหลักเช่นเดียวกับตลาดอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น คือ ยุโรปตะวันออก ซึ่งประเทศเหล่านี้ผู้ประกอบการไทยยังไม่เคยเข้าไปเจาะตลาดส่วนตลาดเอเชีย-แปซิฟิกก็จะมีจีน เกาหลี ไต้หวัน เนื่องจากยังเป็นตลาดเล็กและผู้บริโภคเพิ่งมีกำลังซื้อสูง ดังนั้นการเติบโตของตลาดนี้จึงมีแนวโน้มจะโตได้ดีในอนาคต

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการจะละเลยไม่ได้ในการเตรียมการรองรับสำหรับการแข่งขันในยุคโลกไร้พรมแดน คือ การเร่งพัฒนาระดับสินค้าให้มากยิ่งขึ้นเพื่อหนีคู่แข่งรายใหม่และเป็นการขยายฐานการตลาดจากที่เคยมีแต่ตลาดระดับล่างไปสู่ตลาดระดับบน

"เราแก้ไขได้ด้วยการนำเครื่องจักรมาช่วยเสริมการผลิตให้รวดเร็วขึ้นและได้คุณภาพมาตรฐาน นอกจากนี้ควรปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารการจัดการในองค์กร ซึ่งจะเป็นหนทางลดต้นทุนการผลิตและได้ผลงานที่ดีขึ้น" พรสิทธิ์ กล่าว

แม้ว่าไทยจะมีสินค้าแต่ยังไม่ค่อยมีการส่งเสริมและการพัฒนาสินค้าที่แท้จริง เพราะในอนาคตการแข่งขันด้านคุณภาพจะเป็นหัวใจสำคัญ ดังนั้นถ้าไม่รีบแก้ไขอัญมณีและเครื่องประดับไทยในตลาดโลกเห็นทีจะไปไม่รอดและโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางอัญมณีโลกก็จะเลือนลางไปด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.