ยุทธศาสตร์ 'คีนัน' ปี 2549 เข้มองค์ความรู้เพาะเถ้าแก่พันธุ์กึ๋น


ผู้จัดการายสัปดาห์(19 ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

- กางตำรายุทธศาสตร์ "คีนัน" ปี 2549
- เดินหน้าเข้มองค์ความรู้สดใหม่ สร้างเถ้าแก่อุดมกึ๋นภายใต้ปีกศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ
- ยกเครื่องความคิด ปรับมุมมองธุรกิจสอดรับสถานการณ์ FTA
- ชี้หลายปัจจัยสะท้อน SMEs ไทยยังอ่อนหัด

"สถาบันคีนันแห่งเอเซีย" ก้าวกระโดดยุทธศาสตร์บ่มเพาะองค์ความรู้ แตกหน่อความคิดรากหญ้า อัพเกรด SMEs รุ่นใหม่ให้เข้ากระแสกับการเปลี่ยนแปลงของโลก หลากความคิดของคีนัน กับการตบเท้าของ FTA : Free Trade Area, มาตรฐานแรงงาน, ลอจิสติกส์ สนามบินสุวรรณภูมิ มีหลายบทเรียนที่ผู้ประกอบการพลาดไม่ได้

ปรับสมดุลรากหญ้า-SMEs

ดร.สายสวรรค์ วัฒนพานิช ผู้อำนวยการ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ถึงยุทธศาสตร์ปี 2549 ว่า จะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพความสามารถของ SMEs ให้พร้อมรับการแข่งขัน และพัฒนาองค์ความรู้ให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ปรัชญาความเชื่อของคีนันที่มุ่งสร้างความสมดุลและความยั่งยืน ในระบบการศึกษา-สังคม เศรษฐกิจ-ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายหลัก

"สิ่งที่เราให้กับสังคมไทยคือ พยายามเอาความรู้ที่มีอยู่ และสามารถดึงจากที่อื่นได้มาช่วยพัฒนาประเทศ โดยส่วนใหญ่เราไม่ได้เอาเงินไปให้เฉยๆ แต่เป็นการดึงเอาความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ มาจัดเป็นโครงการ เป็นกิจกรรมมากกว่า"

คีนันพยายามวางแนวทางพัฒนาผู้ประกอบการแต่ละระดับ เฉพาะเจาะจงในแต่ละเรื่องมากขึ้น จากการมองว่าหลายปีที่ผ่านมาสังคมไทยเน้นการอุปถัมภ์ค้ำชูมากกว่าเคี่ยวกรำให้ยืนได้ด้วยตัวเอง โดยแนวทางที่ไปจะเน้นพัฒนารากหญ้าที่เป็นกลุ่มชาวบ้านจริงๆ กับกลุ่ม SMEs

"ในบางกลุ่มเราไม่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง เพราะอุ้มกันอยู่ตลอดเวลา คีนันก็เลยมองปรัชญาที่ว่า จะไม่อุ้มชูอย่างที่แล้วมา แต่จะให้เครื่องมือไปทำมาหากิน หลายกรณีที่ทำ อย่างเช่น สอนการทำลูกปัดในพื้นที่ประสบภัยภาคใต้ ชาวบ้านจะบอกว่า ถ้าอยากให้มาเรียนต้องให้ค่ารถด้วย เพราะรัฐบาลก็ให้อยู่แล้วในช่วงที่เกิดประสบภัย

ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการสร้างความเคยชินในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ หลายครอบครัวมีข้าวของเครื่องใช้ครบหลายอย่าง ซึ่งจากเดิมไม่เคยมีมาเลย ประเด็นคือ คนประสบภัยไม่มีความรู้พอที่จะกลับมายืนอีกครั้ง ต้องทำอย่างไรดี? สิ่งเหล่านี้คีนันเข้าไปเสริมว่า ต้องวิเคราะห์ตลาดให้ได้ก่อนว่าควรทำอะไรดี?"

โครงการของคีนันพยายามเน้นการเกาให้ถูกที่ ด้วยการเปิดโครงการสอนอาชีพ ให้ชาวบ้านฝึกคิดว่า ในตลาดต้องการอะไร? ทำอะไรแล้วสามารถขายได้ บางคนก็นึกถึงผ้าคลุมศีรษะของอิสลาม ซึ่งหลายจังหวัดไม่มีขาย หรือลูกปัดที่สามารถพัฒนาต่อยอดได้

"บางแนวคิดที่ทำอย่างเช่น ถ้าเป็นสินค้าที่ระลึกจะต้องสะท้อนถึงเมืองนั้นๆ ออกมาจริงๆ บางแห่งสอนทำบาติคก็ทำกันทั้งหมู่บ้าน จนไม่รู้จะไปขายใคร ไม่เป็นประโยชน์ เสียเวลา ต้องไปคุย ไปวิเคราะห์ตลาดก่อน และติดตามผลอย่างต่อเนื่อง"

ดร.สายสวรรค์กล่าวต่อว่า เวลาวางแผนทำงานคีนันจะนึกถึงสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ อย่างเช่น FTA บางคนบอกว่า FTA เกิดมาแล้วทำให้ประเทศไทยตาย แต่คีนันมองว่าถ้าบริหารจัดการได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์

ที่ผ่านมามีหลายโครงการที่เกี่ยวข้องกับ FTA ทางอเมริกาก็จะให้คีนันพิจารณาว่า ถ้าเป็นปัญหาและเป็นความต้องการที่จะศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมของเมืองไทย คีนันก็น่าจะเข้าไปช่วยเหลือและประสานงานโครงการ อย่างเช่น มาตรฐานแรงงานสากล ถ้าทำแล้วพอ FTA เข้ามาก็จะเกิดประโยชน์ในการผลิตสินค้า สามารถส่งไปขายยังอเมริกาหรือยุโรป ผู้ประกอบการไทยก็จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องระเบียบและมาตรฐานแรงงานสากล สามารถแข่งขันกับแรงงานต่างชาติได้

หรือหลัง FTA เข้ามาแล้ว ไทยเราต้องการให้ต่างชาติซื้อสินค้าของไทยด้วย ก็ต้องมาดูว่าบรรดา SMEs ควรจะเข้มแข็งขึ้นมาในด้านไหนบ้าง? ซึ่งจุดยืนของคีนันที่ตรงกับนโยบายภาครัฐก็คือ เรื่องของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ

หรือเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของอีคอมเมิร์ซ และแนวบริหารการเงินของ SMEs เช่นว่า หลังจากเหตุการณ์สึนามิผ่านมาขวบปี ยังมีหลายเรื่องที่กระทบกับการกู้เงินของบรรดา SMEs หน้าที่ของคีนันก็คือการดึงเอาวิทยากรจากอเมริกามาให้ความรู้ว่า เวลาเกิดภัยพิบัติในอเมริกา มีการช่วยเหลือในการให้กู้เงินกับ SMEs อย่างไรบ้าง? ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่อยู่ในกระแส ต้องนำมาขยายความรู้ต่อให้กับผู้ประกอบการไทยและทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์บ่มเพาะทัพหน้า

ดร.สายสวรรค์กล่าวว่า ปีหน้าไม่ว่าคีนันจะเน้นพัฒนาเรื่องอะไรก็ตาม เป้าหมายหลักจะมุ่งสู่ความยั่งยืนให้ได้ คือให้อะไรไปแล้วต้องมีการติดตามดูแล ซึ่งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจของคีนันจะช่วยได้มาก เพราะเป็นแนวทางบริหารจัดการครบวงจร

"เราให้ความสำคัญมากกับงานทางด้านผู้ประกอบการและศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ เพราะเราเป็นผู้นำทางด้านนี้ และนำมาเผยแพร่อย่างกว้างขวางในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โครงการพัฒนาผู้ประกอบการที่เราทำมีหลายระดับ โดยร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา"

ก่อนหน้านี้คีนันเคยดึงเอาหลักสูตร REAL Entrepreneurship action learning จากอเมริกามาเสริมการเรียนการสอนให้กับอาจารย์วิทยาลัยชุมชน เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อกับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย จากการมองว่าหลักสูตรการศึกษาจะต้องปรับตลอดเวลาเพื่อให้ทันสมัย

ขณะที่ปีนี้อาชีวศึกษามีแผนจะเปิดศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเพิ่มขึ้นอีกกว่า 10 แห่ง ทางสถาบันคีนันได้เข้าไปช่วยวางแผนธุรกิจ เน้นกลุ่มเป้าหมายนักศึกษาในวิทยาลัยอาชีวะ ซึ่งต้องไปคัดเลือกกันอีกครั้งหนึ่งว่า เรียนจบแล้วมีนักศึกษาที่อยากจะเป็นผู้ประกอบการจริงๆ เท่าไหร่? แล้วก็เอามาเข้าเรียนรู้ต่อกับศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ

"เราเน้นว่าถ้าจะเป็นศูนย์บ่มเพาะในมหาวิทยาลัย อาจารย์จะต้องมีที่ปรึกษาทางธุรกิจเข้ามาเสริมด้วย ถือเป็นการพัฒนาทักษะเฉพาะทาง อย่างเช่น การตลาด ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้ทางธุรกิจจริงๆ"

คนไทยอ่อนเชิงการตลาด

เธอย้ำว่า เมืองไทยมีโอกาสอีกมากในการพัฒนาคนและประเทศให้มีขีดความสามารถ แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ขณะที่ต่างชาติเองก็ยังให้ความสนใจอยากมาลงทุน เพราะคนไทยมีความสามารถในการเรียนรู้ได้ โดยเฉพาะแรงงานมีทักษะ แต่สิ่งที่เราไปไม่ถึงไหนคือ ไม่เก่งในเรื่องชั้นเชิงการตลาด

"ที่ผ่านมาบ้านเราไปส่งเสริมสินค้าที่ทำการตลาดยาก เราใช้เงินกับสิ่งเหล่านี้มากเกินไป อย่างการทำสินค้าที่ระลึกต้องทำให้ต่างประเทศอยากมาซื้อที่แหล่งของไทยเรา ไม่ใช่ส่งออกไปขายต่างประเทศ อย่างนี้ก็จะไม่ได้เรียกว่าเป็นสินค้าที่ระลึก

คำว่าโอทอปของเมืองนอกแปลว่า การผลิตสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละตำบล ถ้าใครอยากได้ต้องไปที่ตำบลนั้นเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยว สิ่งที่เราน่าจะทำได้ขณะนี้คือ คนไทยพัฒนาได้ พร้อมเรียนรู้ แต่สิ่งที่ขาดคือ การตลาดยาก ต้องใช้เงิน อเมริกาเองยังต้องทำวิจัยเยอะ ว่าคนจะซื้อสินค้าโดยมีปัจจัยอะไรที่มากระตุ้น การดีไซน์แปลกใหม่ทำให้จับตลาดได้อย่างไร?

คนไทยเรียบร้อยฝีมือดี แต่ต้องสนับสนุนเรื่องการตลาดให้มาก หน่วยงานวิจัยก็ต้องมีข้อมูลให้มาก สามารถเอาข้อมูลทำการตลาดส่งออกได้ทันที SMEs เล็กๆ ไม่มีปัญญาซื้อข้อมูลเหล่านี้หรอก ก็ต้องกลับมาดูว่าจะช่วยอะไรได้บ้าง ข้อมูลหลายหน่วยงานไม่เป็นข้อมูลเชิงกลยุทธ์ที่เอาไปแข่งขันได้ ส่วนมากเหมือนเป็นทำเนียบธุรกิจมากกว่า มีแต่รูปสวยๆ แต่ไม่มีข้อมูลเพื่อการส่งออก พอใครคิดขยับจะทำอะไรคนอื่นก็แห่ทำตาม"

ระดมสมองสุวรรณภูมิ

ในเดือนก.พ. ปีหน้านี้ คีนันเตรียมจัดงานสัมมนาวิชาการประจำปีครั้งที่ 5 ภายใต้หัวข้อเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสนามบินสุวรรณภูมิ และถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของการระดมองค์ความรู้ใหม่ๆ จากที่เคยปลูกความคิดในมุมมองของดีทรอย ออฟ เอเชีย ครัวไทยสู่โลก หรือลอจิสติกส์มาแล้ว

"ปีหน้าเราเน้นเรื่องสนามบินสุวรรณภูมิ จากการมองว่าการเปิดสุวรรณภูมิ ไทยเราพร้อมแค่ไหน? สำหรับการเป็นฮับ การเป็นศูนย์ท่องเที่ยว เราเน้นว่าสนามบินสุวรรณภูมิสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้ ควรจะต้องมีการวางแผนที่ถูกต้อง ด้วยการเรียนรู้

ประสบการณ์จากประเทศที่ผ่านสิ่งเหล่านี้มาแล้ว อย่างเช่น อเมริกา ยุโรป ซึ่งมีการพัฒนาพื้นที่รอบสนามบิน ทำให้ธุรกิจเกิดขึ้นรอบด้าน ก็มองว่าน่าจะมีธุรกิจอะไรบ้างที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงกับการเกิดสนามบิน ซึ่งจะต้องพัฒนาและวางแผนให้ดี รวมถึงภาครัฐประกาศนโยบายการสร้างเป็นนครสุวรรณภูมิ ก็เลยมีการเชิญภาครัฐมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์กับวิทยากรต่างชาติ ว่ามีความสอดคล้องกันไหม? ถือป็นมุมมองในการให้ประสบการณ์การบริหารจัดการสนามบิน เป็นบทเรียนกับประเทศไทยที่กำลังจะเปิดสนามบินใหม่ และฟังว่าภาครัฐเองมองอะไรบ้าง? เอกชนคิดอย่างไร? และการพัฒนาอะไรก็ตาม สิ่งที่ไม่ควรละเลยก็คือ เรื่องของสิ่งแวดล้อมชุมชน ก็จะเห็นทั้งโอกาสการพัฒนาทั้งทางธุรกิจและสิ่งแวดล้อม"

ทั้งหมดนี้คือ การก้าวกระโดดยุทธศาสตร์บ่มเพาะองค์ความรู้ของสถาบันคีนันแห่งเอเซียในปีหน้า เพื่อแตกทุกหน่อความคิดรากหญ้า และอัพเกรด SMEs รุ่นใหม่ให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมอุดมปัญญา พร้อมสำหรับการเปิดเกมรุกกับทุกกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.