|

ออมสินขึ้นแท่นกู้บ้านดบ.ต่ำ ธอส.อ่วมสนองรัฐต้นทุนพุ่ง
ผู้จัดการายสัปดาห์(19 ธันวาคม 543)
กลับสู่หน้าหลัก
ธอส. รับเละสนองนโยบายอสังหาฯ ภาครัฐกว่าล้านหน่วย แบงก์ออมสินแย้มออกสลากให้แต่ต้องไม่เข้าเนื้อ ผู้ประกอบการแนะดอกเบี้ยอาคารสงเคราะห์อาจไม่เหมาะกับบุคคลทั่วไปที่ไม่มีสวัสดิการ
ระยะนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเพิ่มขึ้น เห็นได้จากความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอย่าง ธนาคารออมสินกับธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ภายใต้การนำของทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้ธนาคารออมสินไปศึกษารูปแบบการออกสลากอายุ 5 ปี เพื่อนำมาให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามโครงการเมกะโปรเจกต์ จำนวน 9 แสนหน่วย ในอีก 4 ปีข้างหน้า ที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะดำเนินการในโครงการบ้านมั่นคง บ้านเอื้ออาทรและบ้านสำเร็จรูป นอกจากนี้ ธอส.ยังต้องสนองนโยบายรัฐบาลปล่อยกู้ในโครงการบ้านธนารักษ์อีกกว่าแสนหน่วย
ขณะเดียวกันไชยยศ สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยังได้เพิ่มช่องทางการทำธุรกรรมให้แก่ ธอส. ด้วยการแก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ ให้สามารถบริการสินเชื่อเพื่อซื้ออุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง ดอกเบี้ยต่ำกว่านอนแบงก์ รวมถึงจะพิจารณาให้ ธอส.สามารถรับรีไฟแนนซ์เงินกู้ซื้อเฟอร์นิเจอร์จากนอนแบงก์ได้
การสนองตอบต่อนโยบายของรัฐบาลของ ธอส. ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องใหม่นัก เพราะที่ผ่านมา ธอส.เป็นธนาคารของรัฐที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือทางการเงินให้กับประชาชน ได้มีที่อยู่อาศัยตามสมควรแก่อัตภาพ หลายโครงการเช่น บ้านการเคหะแห่งชาติ บ้านเอื้ออาทร ธอส.ต้องเข้ามารับหน้าเสื่อช่วยเหลือทั้งสิ้น
แต่ครั้งนี้นโยบายของรัฐที่มอบให้ ธอส.สนองตอบนั้นถือว่ายิ่งใหญ่มาก ด้วยโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของรัฐบาลอีกกว่า 1 ล้านหน่วย หากจะปล่อยให้ ธอส.ระดมเงินเองคงไม่เพียงพอต่อการรับมือในโครงการเหล่านี้ จึงกลายเป็นที่มาด้วยการดึงธนาคารออมสินเข้ามาช่วย และเปิดช่องทางให้ ธอส.ปล่อยสินเชื่อได้หลากหลายขึ้น
ไม่ขอเข้าเนื้อ
แหล่งข่าวจากธนาคารออมสินกล่าวว่า เรื่องรูปแบบในการออกสลากออมสินอายุ 5 ปี ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่แน่นอนว่าต้นทุนในการออกสลากหรือการจัดหาเงินกู้ให้กับ ธอส.นั้น คงไม่เข้าเนื้อเราแน่ อย่างน้อยต้องมีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยบ้าง ขึ้นอยู่กับรูปแบบในการออกสลากว่าจะได้เงินมาในต้นทุนเท่าใด
จากนั้นก็เป็นเรื่องของรัฐบาลกับธอส.ว่าจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมกับผู้ซื้อในโครงการต่าง ๆ ที่อัตราใด เพราะเราหมดหน้าที่แล้ว
ไม่เพียงแค่เงินที่ได้จากการออกสลากโดยผ่านธนาคารออมสินเท่านั้น ธอส. ยังพยายามระดมทุนด้วยตนเองเช่นกัน เห็นได้จากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อยู่ 0.25% โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษที่ให้ดอกเบี้ยสูงถึง 3% สูงกล่าวฝากออมทรัพย์พิเศษของธนาคารออมสินถึงเท่าตัว
หากเทียบดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยระหว่างธอส.กับธนาคารออมสิน เทียบในเงื่อนไขเดียวกันที่เปิดให้บริการคือแบบคงที่ 2 ปี พบว่าออมสินคิดปีแรก 3.75% ปีที่ 2 คิด 4.75% และอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอยู่ 6.25% ขณะที่เทียบกับคงที่ 2 ปีของ ธอส. ปีแรกคิด 4.5% ปีที่ 2 คิด 4.75% และอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอยู่ที่ 7% ถือเป็นอัตราที่สูงที่สุดในระบบ
ก่อนหน้านี้ในช่วงที่ธนาคารออมสินได้ขยายธุรกรรมในการให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัย ออมสินเสนออัตราดอกเบี้ยที่จูงใจมาก ลูกค้า ธอส.หลายรายได้รีไฟแนนซ์มาใช้บริการของธนาคารออมสินในจำนวนไม่น้อย ซึ่ง ธอส.ก็ไม่พอใจกับเหตุการณ์ในครั้งนั้น
ธอส.แค่ภาพในอดีต
เจ้าของธุรกิจบ้านจัดสรรรายหนึ่งกล่าวว่า โครงการที่เปิดขายอยู่ส่วนใหญ่เป็นทาวเฮ้าส์ราคาไม่สูงนัก ลูกค้าส่วนใหญ่มักจะเลือกขอสินเชื่อกับ ธอส.เป็นหลัก ทั้ง ๆ ที่ก็มีธนาคารพาณิชย์อื่นมาเปิดให้บริการเช่นกัน
ส่วนหนึ่งลูกค้ากลุ่มนี้เชื่อว่าธอส.เป็นธนาคารของรัฐมีความมั่นคง ในอดีตคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าแบงก์อื่นภาพนี้ยังอยู่ในความทรงจำของลูกค้า แม้บางรายจะรู้ว่าอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารอื่นก็ตาม สำหรับเรานั้นถือเป็นสิทธิของลูกค้าที่จะเลือกใช้บริการ เพราะบางรายมีสวัสดิการระหว่างหน่วยงานที่สังกัดกับ ธอส.
เมื่อพิจารณาต้นทุนทางการเงินของ ธอส.แล้ว ไม่ว่าจากการระดมทุนในอดีตและปัจจุบัน คงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ขอสินเชื่อบุคคลทั่วไปจะได้ดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่ต่ำเหมือนก่อน เว้นแต่ผู้ที่ขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามโครงการของรัฐบาลเท่านั้น
ถึงวันนี้ธอส.คงไม่ใช่ธนาคารที่คิดดอกเบี้ยเงินกู้บ้านที่ถูกกว่าสถาบันการเงินอื่นเหมือนในอดีต โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้สิทธิพิเศษในการลดหย่อนดอกเบี้ย ถ้าพิจารณาจากข้อมูลที่มีอยู่ในเวลานี้ถือว่าธนาคารที่คิดดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้านต่ำในเวลานี้ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย
ดังนั้นความเชื่อเรื่องการใช้สถาบันการเงินของรัฐในการขอสินเชื่อ เพื่อจะได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าแบงก์ทั่วไปนั้น วันนี้ความเชื่อดังกล่าวอาจจะไม่ถูกต้องอีกต่อไป ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นใคร ตรงกับเงื่อนไขที่ ธอส.กำหนดไว้หรือไม่
ส่วนลูกค้าของ ธอส.ที่ผ่านช่วงอัตราดอกเบี้ยคงที่ไปแล้ว คงต้องทบทวนว่าจะเลือกใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวหรือกลับมาเลือกแบบคงที่อีกครั้ง ซึ่งมีให้เลือกแบบคงที่ 3 ปีเฉลี่ยที่ 6% หรือคงที่ 5 ปีที่ 6% หรือคงที่ 10 ปีเฉลี่ยที่ 6.75% การเลือกใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่อีกครั้งหนึ่งนั้นธนาคารเปิดให้สิทธิได้เพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นต้องใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว ดังนั้นผู้กู้ต้องคำนวณและประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ดี เพราะทิศทางอัตราดอกเบี้ยแม้จะอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ก็ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าจะขึ้นไปแค่ไหน หรือนานเพียงใด
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|