"นิวยอร์คไลฟ์"ออกแรงผลัก"FTA" หลบเจ้าถิ่นยุโรปปักหลักเป่าเบี้ยเอเชีย


ผู้จัดการายสัปดาห์(19 ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"นายใหญ่" นิวยอร์คไลฟ์ อินชัวรันส์ อเมริกา ใช้เวลาช่วงบินมาเยี่ยมเยือน "ขุนคลัง"เพียง 2 วัน เร่งหาข้อสรุปรายละเอียดข้อตกลงการเปิดเสรีทวิภาคี(FTA) ให้ทันปี 2549 ที่ว่ากันว่า บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติเดียวกัน ก็พยายามดิ้นรนจะเปิดพรมแดนเงื่อนไขที่ล็อคไว้เสียแน่น จนขยับตัวหรือขยายฐานรายได้ไม่เต็มที่ ยอมรับตลาดยุโรปเจ้าถิ่นคลุมเสียอยู่หมัด จึงต้องเบนความสนใจมาที่เอเชียและแอฟริกา....

ถึงแม้ ซาย สเตนเบอร์ก ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ นิวยอร์คไลฟ์ อินชัวรันส์ บอกเป็นนัยว่า การเข้าพบรมต.กระทรวงการคลังเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และทำให้การเจรจา FTA ระหว่างไทย-อเมริกา บรรลุผลได้อย่างเร็ววัน จะไม่กระทบกับการดำเนินธุรกิจ เพียงแต่ต้องการให้การเจรจาเป็นไปอย่างราบรื่น แต่อย่างน้อยผู้คนในวงการก็รับรู้กันว่า หากผลการเจรจาไม่สะดุดหรือยืดไปนานนัก กลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากงานนี้ไปเนื้อๆ อาจจะไม่ใช่นิวยอร์คไลฟ์ที่จะกอบโกยไปเต็มเม็ดเต็มหน่วย

เพราะนอกจากข้อตกลงจะเปิดทางให้ธุรกิจจากดินแดนเสรี "อเมริกา" ได้ดำเนินการได้ตามอำเภอใจระดับหนึ่ง ผลลัพธ์ของมันก็จะช่วยขยายพื้นที่ทำกินให้กับสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อย่าง "AIG" บริษัทแม่ AIA มากเป็นพิเศษอีกด้วย

" นิวยอร์คไลฟ์มีพันธมิตรคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่มีอายุยาวนานพอๆกัน แต่เอไอเอ มีสถานภาพเป็นเพียงสาขา แต่ถึงอย่างนั้นนิวยอร์คไลฟ์และเอไอเอก็ถือเป็นคู่แข่งขันในทุกที่ทั่วโลก"

สเตนเบอร์ก ให้ข้อมูลการแข่งขันในบ้านเกิดค่อนข้างสูง ขณะที่ตลาดยุโรป ส่วนใหญ่ก็มักถูกยึดครองพื้นที่โดยเจ้าถิ่น จนยากจะเจาะเข้าถึงได้ง่ายๆ ไม่ว่า ฝรั่งเศสที่มีแอ็กซ่า หรือ อิตาลีซึ่งมี เจนเนอราวลีเป็นผู้นำในตลาด ต่างจากย่านเอเชียที่ผลการดำเนินงานขยายตัวปีละ 15% ในทุกแห่งที่นิวยอร์คไลฟ์เข้าไปลงหลักปักฐาน

"การเจรจาข้อตกลง FTA เป็นสำนึกทางการเมืองมากกว่าจะพูดคุยแบบลงรายละเอียดเป็นการเฉพาะ" สเตนเบอร์ก ขยายความหลังถูกรุกให้ชี้แจงรายละเอียดในวงสนทนาเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าว โดยเฉพาะเอเชียที่ถูกมองเป็นขนมหวาน และตกเป็นพื้นที่เป้าหมายที่ทั้ง AIG หรือแม้แต่นิวยอร์คไลฟ์ รวมถึงชาติตะวันตกต่างก็หมายตาเอาไว้

หากวัดการขยายตัวในตลาดต่างประเทศของนิวยอร์คไลฟ์จะยืนยันได้ดีจาก จากตัวเลขการเติบโตใน จีน อินเดีย สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ไทย อาร์เจนติน่า หรือแม้แต่ เม็กซิโก ที่จัดเป็นตลาดขนาดใหญ่สุด กลุ่มนี้จึงกลายเป็น แหล่งทำรายได้สำคัญ เพราะมีการขายตัวไม่มีที่สิ้นสุด ขณะที่ผู้คนในประเทศยังถือครองกรมธรรม์ไม่มากนัก

ปีที่ผ่านมา บริษัทมียอดขายประกันชีวิตในอเมริกาและทั่วโลก สูงถึง 2,112 พันล้านดอลลาร์ ยืนแท่นเบอร์หนึ่งเบี้ยปีแรกในอเมริกาติดๆกัน 4 ปีซ้อน มีรายได้เพิ่มขึ้น 27.2 พันล้านดอลลาร์ มีกำไรจากการดำเนินงานขยับขึ้น 1,020 พันล้านดอลลาร์ โดยเล็งเป้าหมายในปี 2550 ยอดขายในตลาดต่างประเทศจะขยายตัว 30%

" อีก 2-3 เดือนเราก็จะได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจในเวียดนาม คาดจะเริ่มดำเนินการในปี 2550"

สำคัญกว่านั้น คือ นิวยอร์คไลฟ์ได้วางตำแหน่งให้ ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต ก้าวขึ้นมาแทนเม็กซิโก ด้วยตัวแปรหลักคือ กำลังซื้อในตลาดของชนชั้นกลางยังมีอยู่มาก สภาพเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย และอาณาบริเวณที่ยังไม่ถูกยึดครองมีมากมายมหาศาล

สเตนเบอร์ก ย้ำถึงผลกำไรจากตลาดต่างประเทศ นับจากนี้จะหลั่งไหลเข้ามาจากการเติบโตของชนชั้นกลางและภาวะเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันนิวยอร์คไลฟ์ก็เดินมาถูกทางแล้ว คือ ไม่ไปทางลัด ไม่สุกเอาเผากิน ไม่ทำในสิ่งที่ทำไม่ได้หรือไม่ทำสิ่งที่ทำให้ยุ่งยากซับซ้อน แต่จะตรงไปตรงมาและมุ่งสร้างระบบงานในระยะยาว

โดนอลด์ คาร์ดีน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต ให้ตัวเลขผลดำเนินงาน 10 เดือนล่าสุด บริษัทมีเบี้ยปีแรก 4,083 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% ติดอันดับ 3 มีส่วนแบ่งตลาด 10.9% มีเบี้ยรับรวม 7,201 ล้านบาท ขยายตัว 51.38%

ปริมาณเบี้ยปีแรก ส่วนใหญ่มาจากช่องทางหลักคือ แบงก์แอสชัวรันส์ 3,444 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% คิดเป็น 47% ของตลาด เครดิตไลฟ์ เพิ่มขึ้น 86% สายงานตัวแทน ขยายตัว 22%

ตัวเลขเบี้ยที่ถูกเป่าให้พองตัวในเวลาอันรวดเร็วของตลาดที่นิวยอร์คไลฟ์เข้าไปจับจองในแต่ละพื้นที่ จึงน่าจะอธิบายได้ถึงความสำคัญของการเปิดพรมแดนการค้าระหว่างคู่ค้า ที่จะช่วยหนุนให้เงื่อนไขการขยายตลาดที่ขาดพละกำลังเดินไปได้ราบรื่น

...พอๆกับรายได้และผลกำไรที่จะไหลทะลักกลับบ้านเกิด...ซึ่งจะไปสอดรับกับความคิดของสเตนเบอร์กที่บอกเอาไว้ว่า "ในอนาคต ตลาดต่างประเทศจะช่วยเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่อันรุ่งโรจน์ให้กับนิวยอร์คไลฟ์"....


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.