แคปปิตอลโอเคขอครองแชมป์ ปล่อยกู้ราชาเงินผ่อนต่างจังหวัด


ผู้จัดการรายวัน(19 ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้บริหารแคปปิตอล โอเค เผยปีหน้าลูกค้าเพิ่มเป็น 1.3 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้น 6.9 แสนราย วางแผนเพิ่มอีก 6 สาขา มั่นใจปีหน้ามีกำไรเร็วกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งจุดคุ้มทุนภายใน ส.ค.ปี 2550 ประกาศเป็นแชมป์เจ้าหนี้รายใหญ่ของราชาเงินผ่อนตามต่างจังหวัด แนะ ปปง.อย่าบีบนอนแบงก์ เหตุการเก็บดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเหมาะสมแล้ว

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทแคปปิตอลโอเค ในฐานะตัวแทนผู้ถือหุ้น กลุ่มชินวัตร เปิดเผยว่า ภายในปี 2549 บริษัทจะสามารถมีผลการดำเนินงานเป็นกำไร ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะถึงจุดคุ้มทุนในระยะเวลา 3 ปี หลังจากที่บริษัทเปิดประกอบการ ตั้งแต่เดือนส.ค. 2547 ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายในปีหน้าจะเพิ่มจำนวนลูกค้าอีก 690,000 ราย จากปัจจุบันมีอยู่แล้ว 600,000 ราย รวมลูกค้าสิ้นปี 49 จะอยู่ที่ ประมาณ 1.3 ล้านราย และปัจจุบันมีพอร์ตสินเชื่อคงค้าง 12,000 ล้านบาท และในสิ้นปีหน้าก็จะเพิ่มเป็น 20,000 ล้าน บาท

"ปกติแล้วสัดส่วนลูกค้าจะแบ่งเป็น ลูกค้าสินเชื่อบุคคล 60% สินเชื่อ เช่าซื้อ 30% และอีก 10% เป็นบัตรเครดิต แต่ในปีหน้าเป็นช่วงของการแข่งขันฟุตบอลโลก ซึ่งตามสถิติแล้ว ปีใดที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก ยอดสินเชื่อเช่าซื้อจะเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษ เพราะประชาชนจะไปซื้อโทรทัศน์ใหม่กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งผมเชื่อว่าใน ปีหน้าจะเหมือนกับอดีตทุกครั้ง ที่มีบอลโลก จึงได้เตรียม การเอาไว้ว่าจะปล่อยสินเชื่อ เช่าซื้อไว้แล้ว" นายอารักษ์ กล่าว

สำหรับสาขาในปีหน้าตั้งเป้าเพิ่มอีก 6 สาขา จากปัจจุบันมีอยู่ 10 สาขา รวมสิ้นปีจะมี 16 สาขา ทั้งนี้สาขาที่เปิดใหม่ทั้งหมดจะเน้น ในต่างจังหวัดเพื่อขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น โดยมั่นใจว่าตัวเลข 16 สาขา ไม่ใช่ตัวเลขที่น้อยเกินไป เพราะบริษัทยังมีช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านร้านเทเลวิซ ร้านเจมาร์ท โดยบริษัทได้วางเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ รายใหญ่ของบรรดา ราชาเงินผ่อน ในเขตต่างจังหวัด หลังจากที่ได้แซงคู่แข่งไปแล้วในบางจังหวัด ซึ่งการมีฐานลูกค้าต่างจังหหวัดเพิ่ม ทำให้มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ กว่า ลูกค้าในเขตกรุงเทพฯ เพราะ ฐานลูกค้าต่างจังหวัดมีจำนวนมากกว่าในกรุงเทพฯ และในกรุงเทพฯ มีการแข่งขันกันสูง

กรณีที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เรียกร้องให้สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ หรือ นอนแบงก์ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมกับค่าธรรมเนียมเหลือ 20% นั้น นายอารักษ์ กล่าวว่า หากรวม ค่าธรรมเนียม แล้วเหลือ 15% ผู้ประกอบการทุกรายต้องปิดกิจการ ทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการอยู่รอดได้ ดังนั้น เรื่องนี้ต้องแยกให้ชัดเจนระหว่างนอนแบงก์ที่ถูกต้องตามกฎหมายกับนอนแบงก์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่ง ในปัจจุบันนอนแบงก์ที่ถูกกฎหมายได้ปฏิบัติตามกฎของธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่มีรายใดคิดดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมาย กำหนด และไม่มีการทวงหนี้ที่รุนแรง

"จากกระแสข่าวในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาทำให้ประชาชนเข้าใจระบบการคิดดอกเบี้ยของนอนแบงก์มากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการแยกว่า อันไหนเป็นนอนแบงก์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และอันไหนที่ เป็นผู้ประกอบการใต้ดิน และ ผิดกฎหมาย ซึ่งลูกค้าจะได้รับ ประโยชน์จากตรงนี้ เชื่อว่าอนาคต ลูกค้าจะเพิ่มขึ้น" นายอารักษ์ กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.