|
"โต้ง" ไฟเขียว "ตัน"เปิดชื่อผู้ซื้อ20ม.ค.
ผู้จัดการรายวัน(19 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
กิตติรัตน์ ระบุเป็นสิทธิที่ "โออิชิ" ยังไม่เปิดเผย รายชื่อผู้ซื้อหุ้นได้ เผยเกือบ 100% ในการทำสัญญาร่วมลงทุนจะมีการทำสัญญารักษาข้อมูลลับก่อนทำสัญญาจริง พร้อมแนะคนใกล้ชิด ที่รู้ข้อมูลอย่าใช้เพื่อสร้างประโยชน์กับตนเอง ย้ำ ตลท.ไม่ละเลยการ ตรวจสอบแต่ระบุหุ้นที่ผันผวนไม่ใช่การปั่นเสมอไป
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่นายตัน ภาสกรนที ประธานกรรมการบริษัท บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ OISHI (ในฐานะผู้ขาย) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับ Mr.Ma Wah Yan (ในฐานะผู้ซื้อ) โดยระบุว่าจะขายหุ้นที่ตนถืออยู่ในบริษัทและรวบรวม หุ้นของบริษัทจากผู้ถือหุ้นอื่นเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 103,125,000 หุ้น หรือ 55% ของหุ้นที่จำหน่ายทั้งหมดของบริษัท
ทั้งนี้ ในกรณีดังกล่าวการตกลงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายอาจจะมีการทำสัญญาที่ให้มีการรักษาข้อมูลบางอย่างไว้เป็นความลับก่อนวันที่จะทำสัญญาจริง ซึ่งก็ทำให้นายตัน ภาสกรนที มีสิทธิที่จะไม่เปิด เผยข้อมูลดังกล่าวให้กับตลาดหลักทรัพย์ได้แม้ว่าจะได้มีการสั่งให้มีการชี้แจง แต่ทั้งนี้การดูแลที่จะไม่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนในการ ซื้อหุ้นของบริษัทในช่วงเวลาดังกล่าวเนื่องจากรับรู้ข้อมูลมากกว่านักลงทุนก็ถือว่าเป็นเรื่องที่จะต้องปฏิบัติ
ในส่วนของนักลงทุนแม้ว่าจะยังสามารถซื้อขายหุ้นของบริษัทได้ตามปกติแต่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเนื่องจากยังไม่มีข้อมูลในการตัดสินใจที่ครบถ้วน
"ผมมั่นใจคุณตันก็รู้ว่าผู้ซื้อคือใคร แต่ก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ที่จะยังไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับก่อนการทำสัญญาจริง แต่คนที่รู้ข้อมูลก็จะต้องวางตัวในเรื่องดังกล่าวให้ดี ไม่นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เพื่อให้ก่อประโยชน์กับตัวเอง" นายกิตติรัตน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องดังกล่าวนักลงทุนให้ ความสนใจเป็นจำนวนมาก ตลาดหลักทรัพย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ก็จะเข้ามาดูแลการซื้อขายที่อาจจะมีพฤติกรรมไปในทางที่เป็นการใช้ข้อมูลภายในหรือไม่ ซึ่งในหลายครั้งการที่หุ้นบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่งแห่งใดมีปรับขึ้นในลักษณะที่อาจจะแสดงให้เห็นความมีการสร้างราคาหรือปั่นหุ้น แต่สุดท้ายการตรวจสอบก็ไม่พบความผิดปกติเนื่องจากเป็นไปตามพฤติกรรม ของนักลงทุนเอง
"ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ละเลยเรื่องการตรวจสอบอย่างแน่นอน นักลงทุนเองก็จะต้องพิจารณาข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนให้ดี และก็อย่าคิดเพียงว่าหุ้นใดมีการความผันผวนจะกลายเป็นหุ้นที่ปั่น หรือสร้างราคา เพราะหลายครั้งที่มีการตรวจสอบไม่พบความผิดปกติ" นายกิตติรัตน์กล่าว
สำหรับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทเป็น การสร้างความชัดเจนให้กับนักลงทุนให้มากที่สุดก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ทั้งต่อบริษัทและต่อนักลงทุน
นายกิตติรัตน์ กล่าวอีกว่า ปกติการเข้ามาร่วมทุนทางธุรกิจระหว่างบริษัทต่างๆ เกือบ 100% จะมีการทำสัญญาที่ไม่ให้มีการเปิดเผยข้อมูลก่อนที่จะมีการเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ ช่วงที่อยู่ระหว่างการเข้าไปตรวจสอบกิจการ(ดิวดิลิเจนซ์) การเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในเรื่องการทำสัญญาซึ่งอาจจะเป็นไปหรือไม่เป็นไปตามที่มีการกำหนดไว้ก่อนหน้า รวมถึงเรื่องราคาที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนักลงทุนจะต้องติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพราะจะส่งผลต่อราคาหุ้นบริษัทโดยตรง
ทั้งนี้ นายตัน ได้ระบุว่าจะมีการลงนามซื้อขายกันจริงในวันที่ 20 ม.ค.
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|