"ธาตรี งานนี้มีลุ้น"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

ธาตรี บุญดีเจริญ แห่งยูนิเวสท์แลนด์ กับอนันต์ กาญจนพาสน์ ค่ายบางกอกแลนด์นั้น จะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่เป็นเครือญาติที่สนิทชิดใกล้กัน เพราะเจริญ ผู้เป็นบิดาของธาตรีนั้นคือพี่ชายแท้ๆ ของศิริวรรณ มารดาของอนันต์ และธาตรีเองเมื่อตอนหนุ่มๆ ก็ได้เข้าไปช่วยงานในบริษัทบางกอกแลนด์มาโดยตลอด

จนปี 2523 สั่งสมวิทยายุทธ์ได้ระดับหนึ่งแล้ว ธาตรีโบยบินจากอาณาจักของตระกูลกาญจนพาสน์มาสร้างรัง บริษัทยูนิเวสท์ เป็นของตนเองร่วมกับโยธิน ผู้เป็นพี่ชาย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับจากนั้น ทั้งอนันต์และธาตรีต่างก็แผ่กระจายขยายอาณาจักรทางธุรกิจที่อยู่อาศัยอย่างรวดเร็ว เป็นยักษ์ใหญ่ในวงการอสังหาริมทรัพย์เมืองไทยที่น่ากลัว โดยที่ไม่มีใครคาดคิดว่าในยุคเศรษฐกิจถดถอยนั้นยักษ์ใหญ่ 2 ตนนี้ถึงกับเซและกำลังพยายามทุกวิถีทางไม่ให้ทรุดลงไปกองอยู่กับพื้นเหมือนกัน

เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาหุ้นของยูนิเวสท์บางส่วนที่ถูกนำไปจำนองไว้กับ UNITED OVERSEAS BANK ในประเทศสิงคโปร์ ถูกขายทอดตลาด ด้วยเหตุผลที่ธนาคารเจ้าหนี้บอกว่าธาตรีไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและจ่ายเงินต้นคืนจำนวนกว่า 200 ล้านบาทได้

ยูนิเวสท์แลนด์กำลังขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก คือความจริงที่เกิดอย่างไม่น่าเชื่อ สัดส่วนหุ้นที่ขายทอดตลาดครั้งนั้นมีจำนวน 13.26 ของบริษัทยูนิเวสท์ แต่ที่น่าตกใจก็คือ การขายทอดตลาดครั้งนั้นมีผู้สนใจร่วมประมูลเพียง 3 ราย และก็ถอนตัวไป 2 ราย เหลือเพียง 1 ราย จนธนาคารเจ้าหนี้ต้องนำมาประมูลกันใหม่เป็นรอบที่ 2 แล้วในที่สุดบริษัท ยูไนเต็ด คอสมอสโฮลดิ้ง จำกัด ก็ประมูลได้ไป ในราคาหุ้นละ 2.70 บาท ซึ่งทำให้ได้เงินมาใช้หนี้ทางแบงก์เจ้าหนี้ประมาณ 100 ล้านบาทเท่านั้น ที่เหลือแบงก์ต้องฟ้องเรียกหนี้เพิ่มคืนอีกประมาณ 100 ล้านบาท

และในวันที่ 4 เมษายน 2540 ที่ผ่านมานั้น เป็นวันครบกำหนดที่ยูนิเวสท์จะต้องชำระหนี้เงินกู้ต่างประเทศ จำนวน 30 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 750 ล้านบาท ซึ่งเงินกู้ดังกล่าวเป็นเงินกู้ระยะยาว 3 ปี ต่ออายุปีต่อปี และค้ำประกันโดย STAND BY L/C ผ่านทางแบงก์กรุงเทพในวงเงิน 60% ของวงเงินกู้ ซึ่งแหล่งข่าวจากธนาคารกรุงเทพให้ความเห็นว่า อย่างไรเสียยูนิเวสท์คงไม่มีเงินจ่ายและต้องขอผ่อนผันไปแน่นอน

หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยการเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทสยามนำโชคซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้วของกลุ่มซีพี ที่มีตระกูลเจียรวนนท์ถือหุ้นใหญ่ในปี 2533 นั้น มีผลทำให้ทรัพย์สินรวมของยูนิเวสท์แลนด์เพิ่มขึ้นเป็น 3 หมื่นล้านบาท จุดสำคัญอย่างหนึ่งก็คือสยามนำโชคเป็นกลุ่มที่มีที่ดินอยู่ในมือมากมาย ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน 20 ไร่ตรงหัวโค้งถนนอโศก ที่ตั้งของโครงการฟอร์จูนทาวน์ ที่ดิน 38 ไร่ ตรงข้ามสวนสนุกแดนเนรมิตที่กำลังก่อสร้างโครงการบางกอกโดมในปัจจุบัน ที่ดินที่บางปูอีก 300 ไร่ และที่ดินที่อำเภอวังน้อย อยุธยาอีก 1,400 ไร่ รวมทั้งโครงการฟอร์จูนทาวน์ 20 ไร่ บนถนนสาธุประดิษฐ์

ที่ดิน และโครงการต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ธาตรีเคยกระหยิ่มยิ้มย่อง หมายมั่นปั้นมือว่าจะทำโครงการที่สร้างกำไรมหาศาลให้กับบริษัท เวลาผ่านไปไม่กี่ปี ธาตรีต้องยอมรับว่าเขาคาดการณ์ผิด

ธาตรีกำลังมีปัญหาในการบริหารเพราะมีทรัพย์สินในมือมากไป นอกจากโครงการของสยามนำโชคที่ได้มาแล้ว โครงการของยูนิเวสท์เดิมเองก็มีมากมายหลายโครงการที่กำลังก่อสร้างและทำการขายเช่น โครงการเมืองเอกเดิมที่รังสิตซึ่งยังมีที่ดินเหลืออยู่ ยังพัฒนาไม่หมด โครงการเมืองเอกสุวินทวงศ์ที่ซื้อต่อมาจากพงศกร ญาณเบญจวงศ์ แห่งกลุ่มปลากทองกะรัต อีกพันกว่าไร่ และยังต้องบริหารศูนย์การค้าขนาดใหญ่อย่างฟิวเจอร์พาร์คแลนด์ รังสิต โรงแรมโซฟีเทลบางกอกริมแม่น้ำเจ้าพระยา และยังมีแผนที่จะทำโครงการตึงสูงตรงโครงการราชดำริเดิมที่ทุบทิ้งมา 2 ปีแล้วด้วย รวมทั้งการไปทำการก่อสร้างโครงการบางกอกโดมที่เป็นที่พักอาศัย ศูนย์การค้า อาคารสำนักงานขนาดใหญ่มูลค่าประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท อีกด้วย

เมื่อมีโครงการที่ต้องทำอย่างมากมายอย่างนี้ ปัญหาก็เกิดขึ้นทันทีว่าใครทำ บุคลากรที่จะมารองรับบริษัทสร้างไม่ทันแน่นอน ในช่วงที่รวมกับสยามนำโชคนั้นเหตุผลหนึ่งของซีพีก็คือไม่มีคนบริหารงานด้านที่ดินเช่นกัน

ในขณะเดียวกันสไตล์การทำงานของธาตรีนั้นกล่าวกันว่าไม่ชอบการกระจายอำนาจ และไม่ค่อยวางใจใครง่ายๆ ลูกน้องเก่าแก่ที่ได้รับวางใจมาตลอดก็คือ เจียม ชวศิริกุณฑล เป็นผู้อำนวยการทางด้านการตลาด รับผิดชอบการขายโครงการทั้งหมด ซึ่งในวัย 60 กว่าปีนี้เจียมเคยกล่าวกับผู้ใกล้ชิดว่างานมันเยอะเกินไป ในขณะเดียวกันภาวะการแข่งขันของสินค้าในตลาดก็หนักหน่วงเหลือเกิน

ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่กำลังตกต่ำอย่างหนัก สิ่งที่ธาตรีทำได้ในระยะเวลาสั้นๆ นี้ก็คือการทยอยขายทรัพย์สินเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน

เริ่มตั้งแต่เมื่อปี 2537 ได้ขายหุ้นในบริษัทซิตี้เรสซิเด้นท์ของชาลี โสภณพนิช ให้กับบริษัทเอเชียเสริมกิจ 80,000 หุ้น เป็นเงิน 115 ล้านบาท

ปี 2538 ตัดขายที่ดินในโครงการเมืองเอกวังน้อยได้กำไร 200 ล้านบาท และในปี 2539 ขายโครงการฟอร์จูนทาวน์ ให้กับบริษัทซี.พี. แลนด์ ได้กำไรมา 722 ล้านบาท

ผลของการตัดทรัพย์สินขายนี้เองที่ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2539 บริษัทยังได้กำไรถึง 266 ล้านบาท ในขณะช่วงเวลาเดียวกันของปี 2538 มีกำไรเพียง 11 ล้านบาท

แต่อย่างไรก็ตามหลายโครงการของธาตรีก็ส่อแววว่าจะมีปัญหาทางการก่อสร้าง ที่เห็นได้ชัดๆ คือโครงการบางกอกโดม ที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 2537 ได้มีการปรับพื้นที่และตอกเสาเข็มมาเกือบ 2 ปีแล้วยังไม่ขึ้นตัวโครงสร้าง ในขณะที่โครงการคู่แข่งในย่านเดียวกันเช่นโครงการศุภาลัยปาร์ค หรือแนเชอรัลปาร์ค มีการก่อสร้างที่คืบหน้าจนจะเสร็จอยู่แล้ว

เช่นเดียวกับที่ดินตรงศูนย์การค้าราชดำริ อาเขต ที่ถูกปรับที่ดินทิ้งมานานนับ 2 ปีแล้วเช่นกัน แต่โอกาสเกิดคงยาก เพราะโครงการภัทรพลาซ่า โครงการประตูทองคอมเพล็กซ์ของคุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ โครงการประตูน้ำพลาซ่า ของดร. ไวท์ ชัยพยุงพันธ์ ก็กำลังแข่งกันสร้าง แข่งกันขายอย่างหนักเห็นๆ อยู่ แล้ว

วันนี้เลยเป็นเวลาที่ต้องเอาของเก่ามาคำนวณราคา แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปล่อยขายเหมือนกัน แล้วโครงการที่เหลือเห็นทีหน่วยงานของภาครัฐจะสนใจยากด้วย

จุดจบของญาติผู้พี่ของอนันต์นี้จึงน่าลุ้นทุกวินาทีเหมือนกัน

กลับสู่หน้าหลัก


Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.