|

กิตติรัตน์ไล่บี้3บล.ปลดประชัยขู่ขึ้นบัญชีดำบอร์ดละเว้นหน้าที่
ผู้จัดการรายวัน(19 ธันวาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"กิตติรัตน์" จี้บอร์ด 3 บจ.ที่ไม่ปลด "ประชัย เลี่ยวไพรัตน์" ออกจากการเป็นกรรมการ ระวังเจอข้อหาไม่ทำหน้าที่บอร์ดมีสิทธิขึ้นบัญชีดำได้ พร้อมเรียกร้องนักลงทุนร่วมกันช่วยดูแล ตรวจสอบ ระบุไม่อยากเพิกถอนบริษัทหวั่นกระทบนักลงทุนจำนวนมาก ชี้ BUI ทำง่ายสุด เพราะไม่ใช่บริษัทฯฟื้นฟู
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่ได้มีหนังสือแจ้งต่อนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ กรรมการบริษัทจดทะเบียน 3 แห่ง ประกอบ ด้วย บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI, บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL และบริษัท บางกอกสหประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BUI ต้องลาออกจากการเป็นกรรมการของบริษัท เนื่องจากขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้บริหารหลังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวโทษ
ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีการกำหนดระยะเวลาในการที่จะต้องออกจากการเป็นกรรมการของทั้ง 3 บริษัทแต่ในช่วง ดังกล่าวนายประชัยได้ยื่นอุทธรณ์ ต่อศาลล้มละลายกลาง ซึ่งภายหลังมีคำสั่งให้ไม่จำเป็นต้องออกจากการเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนเรื่องดังกล่าวก็ถือว่าเป็นหน้าที่และสิทธิในการต่อสู้ แต่กฎข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯก็ระบุไว้ชัดเจน แม้ว่าจะเพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงว่าผู้ที่ถูกกล่าวโทษไม่มีคุณสมบัติในการเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ทั้งในกฎข้อบังคับเดิมหรือกฎข้อบังคับใหม่ก็ได้มีการระบุในเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน
ในส่วนของผู้บริหารหรือกรรมการของบริษัทใดที่มีหน้าที่และดำเนินการ หากพบว่าไม่มีพฤติกรรมที่จะดำเนินการให้มี การปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ อาจจะเข้าข่ายขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน และอาจจะต้องมีการคัดรายชื่อผู้บริหารกลุ่มดังกล่าวไปอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้บริหาร ที่ไม่พึงประสงค์ของตลาดทุน เพราะทุกฝ่ายก็มีหน้าที่ของแต่ละบุคคลซึ่งก็ควรจะปฏิบัติตามหน้าที่ อย่างเต็มที่
สำหรับนักลงทุน หากไม่มีการดำเนินการอะไรแล้วทำให้บริษัทต้องถูกเพิกถอนออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน ซึ่งนักลงทุนนอกเหนือจากการลงทุนบนความเสี่ยงของราคา ยังต้องลงทุนบนความเสี่ยงของกระบวนการทำงานของผู้บริหารด้วย ซึ่งทำให้จะต้องเข้ามาร่วมดูแล ตรวจสอบการบริหารงานของบริษัทให้มีความ โปร่งใส และมีบรรษัทภิบาล
"ลาดหลักทรัพย์ฯไม่ใช่หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการพิสูจน์ความถูกผิด ถ้าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ก็คงไม่มีปัญหา แต่เมื่อเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ"นายกิตติรัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นหวังว่าจะไม่ทำให้ถึงขนาดจะต้องให้บริษัทนั้นๆ ต้องไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียนต่อไป เนื่องจากผลกระทบจะเกิดขึ้นกับนักลงทุนจำนวนมาก การดำเนินการในเรื่องต่างๆ ของตลาดหลักทรัพย์มีเหตุและผลเสมอ
ที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ฯพบสัญญาณที่ดีในการดำเนินงาน ซึ่งหากยังมีสัญญาณที่ดีต่อไปในทางที่ผู้บริหารหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามกฎข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งหากเกินเวลาที่มีการกำหนดก็อาจจะเลื่อนออกไปได้
"วลามันจะหมด เมื่อผมรู้สึก ว่าไม่มีความพยายามในการดำเนิน การในทางที่ดี การที่เป็นบริษัทเล็กหรือบริษัทใหญ่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เรา ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเท่าเทียม กันแน่นอน"นายกิตติรัตน์กล่าว
สำหรับการปลดนายประชัย ออกจากการเป็นผู้บริหารในบริษัทที่ไม่ได้อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ คือ BUI TPIPL นั้น ทางคณะกรรมการบริหารก็มีอำนาจในการพิจารณาปลดผู้บริหารบริษัทได้ แต่อาจจะติดขัดบางประการจึงไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งในเรื่องดังกล่าวตลาดหลักทรัพย์ฯก็ได้รับสัญญาณ ที่ดีว่าจะได้รับความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ
ในส่วนของ TPI ผู้บริหารแผนก็มีความสามารถที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้พอสมควร ตามกรอบและหน้าที่ที่กฎหมายมีการกำหนดไว้
"ถ้าหากจะให้บอกว่าบริษัทไหนจะหมดเวลาก่อนก็น่าจะเป็น BUI เนื่องจากกระบวนการต่างๆ ดำเนินงานได้ง่ายกว่าและไม่มีกระบวนการฟื้นฟูกิจการ และจะถึงเวลาของบริษัทอื่นๆ เมื่อไหร่ก็คือเมื่อหมดเวลากับบริษัทแรก" นายกิตติรัตน์กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|