"ตอนนี้ธุรกิจการจัดนิทรรศการของไทย ยังไม่ถึงระดับนานาชาติเหตุผลหลักเพราะสถานที่จัดงานนิทรรศการในระดับนานาชาติยังน้อยมาก
ปัจจุบันมีเพียงศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และไบเทค (Bangkok International
Trade & Exhibition Centre : BITEC) บนถนนบางนา-ตราด ที่จะเปิดประมาณเดือนสิงหาคม
2540 นี้ ซึ่งมีพื้นที่จัดงานเต็มศูนย์เพียงแห่งละ 20,000 ตร.ม."
สตีเว่น ซีท กรรมการผู้จัดการบริษัท มิลเลอร์ ฟรีแมน เบลนัม จำกัด กล่าวกับ
"ผู้จัดการรายเดือน" ถึงข้อจำกัดในการจัดนิทรรศการระดับนานาชาติของไทย
ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้
ถ้ามีการจัดการในส่วนนี้ให้ดี
เมื่อไม่นานมานี้เอง พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีของไทยก็เคยปรารภที่จะสนับสนุนให้มีศูนย์แสดงสินค้าในภูมิภาคขึ้นเช่นกัน
ในขณะที่ ดร.มหาธีร์ มูฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีที่เต็มเปี่ยมไปด้วยวิสัยทัศน์ของมาเลเซีย
ก็เคยกล่าวไว้ว่า การจัดนิทรรศการเป็นตัวก่อให้เกิดความก้าวหน้ากับประเทศ
ซึ่งในส่วนของมาเลเซียเปิดใช้สนามบินแห่งใหม่แล้ว ก็มีแผนจะนำพื้นที่ของสนามบินเก่ามาจัดสร้างเป็นศูนย์แสดงสินค้า
ซึ่งจะพัฒนาเป็นพื้นที่แสดงสินค้าได้นับแสนตารางเมตร
หรือแม้แต่ประเทศสิงคโปร์ ก็อยู่ระหว่างการจัดสร้างศูนย์ประชุมเพื่อเป็นที่จัดงานแสดงนิทรรศการแห่งใหม่ที่มีพื้นที่รวมถึง
60,000 ตารางเมตร โดยจะแล้วเสร็จในปี 2542 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
"เทียบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันเฉพาะขนาดพื้นที่ ก็ถือว่าพื้นที่การจัดนิทรรศการของไทยยังไม่ถึงระดับนานาชาติ
โดยยังไม่ต้องเทียบกับการแสดงนิทรรศการในทวีปยุโรป ซึ่งมีการจัดนิทรรศการมากว่า
100 ปี ตัวอย่างนิทรรศการที่จัดโดยมิลเลอร์ ฟรีแมนที่ใหญ่ที่สุด ที่จัดในปารีส
จัดบนพื้นที่ที่ใหญ่ถึง 450,000 ตารางเมตร ถ้าเทียบด้านอายุการจัดนิทรรศการระดับนานาชาติในไทยก็มีมาประมาณ
5 ปีกว่า ภายหลังจากที่มีการสร้างศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ถือว่าไทยยังมีประสบการณ์ด้านนี้น้อย"
กรรมการผู้จัดการ กล่าว
ทั้งนี้ สตีเฟ่น ซีท ได้เล่าถึงที่มาของบริษัทว่า มิลเลอร์ ฟรีแมน เบลนัมถือเป็นบริษัทจัดนิทรรศการที่ใหญ่ที่สุดในโลก
มีการจัดงานนิทรรศการทั่วโลกปีละกว่า 360 งาน ภายหลังจากที่ได้มีการรวมตัวกันระหว่างบริษัทเบลนัม
เอ็กซิบิชั่น และมิลเลอร์ ฟรีแมน ซึ่งเป็นบริษัทจัดนิทรรศการจากประเทศอังกฤษทั้งคู่
โดยทางเบลนัม ได้เริ่มเข้ามาเปิดสาขาในไทยเมื่อ พ.ศ.2537 แต่มิลเลอร์ ฟรีแมน
เพิ่งเข้ามาในปีนี้ หลังจากที่รวมตัวกับทางเบลนัม เมื่อเดือนธันวาคม 2539
การรวมตัวกันของทั้งสองบริษัทเป็นการนำจุดแข็งที่ทั้งสองบริษัทมีมารวมกัน
คือ เบลนัม เป็นบริษัทจัดนิทรรศการที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ส่วนมิลเลอร์ ฟรีแมน
ก็มีจุดแข็งตรงที่มีสิ่งพิมพ์อยู่ในเครือเป็นจำนวนกว่า 320 ฉบับทั่วโลก โดยใช้ชื่อในปัจจุบันว่ามิลเลอร์
ฟรีแมน เบลนัม และในอนาคตจะเปลี่ยนไปใช้ชื่อมิลเลอร์ ฟรีแมน แทน
มิลเลอร์ ฟรีแมน เป็นบริษัทที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วโลก ดำเนินธุรกิจเป็นสื่อกลางในการผลักดันธุรกิจใหม่
ๆ เกิดขึ้นและเป็นบริษัทในเครือข่ายของยูไนเต็ด นิวส์ แอนด์ มีเดีย ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านสื่อสิ่งพิมพ์โทรทัศน์
การวิจัยการตลาด และธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้า มีเงินทุนจดทะเบียน 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
มีพนักงานทั่วโลกกว่า 20,000 คน โดยกระจายอยู่ทั้งทวีปยุโรป อเมริกาเหนือและเอเชีย
กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยถือเป็นที่ตั้งสาขาของ มิลเลอร์
ฟรีแมน ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการจัดนิทรรศการด้านอุตสาหกรรมหนักซึ่งถือเป็นงานนิทรรศการที่ถนัดของบริษัท
ซึ่งมิลเลอร์ ฟรีแมน มองว่าการที่บริษัทให้ความสำคัญกับประเทศไทย เพราะเป็นตลาดที่มีการเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมที่สำคัญในภูมิภาคนี้
"นโยบายในไทย คือการจัดหานิทรรศการที่ก้าวหน้า เพื่อจัดให้ไทยเป็นประเทศที่มีการพัฒนาในด้านอุตสาหกรรมอย่างเข้มแข็ง
ซึ่งเราได้นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาโชว์ ใช้ประสบการณ์ด้านเทรนนิ่งในการจัดงาน
ซึ่งต้องลงทุนเยอะในเรื่องของคนทำงาน โดยภายใน 1 ปีที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับคน
โดยเพิ่มพนักงานบริษัทในไทยจาก 16 คน เป็น 26 คน" สตีเฟ่น ซีท กล่าว
การดำเนินงานในฐานะผู้จัดงานนิทรรศการ จะมีหน้าที่คือเป็นผู้เดินเรื่องให้เกิดการประสานงานระหว่างกลุ่มต่าง
ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐบาล องค์กรต่าง ๆ เพื่อให้รวมตัวมาจัดงานนี้ขึ้น
โดยอาศัยเครือข่ายของสาขาต่าง ๆ ของมิลเลอร์ ฟรีแมนที่มีอยู่ทั่วโลก และสิ่งพิมพ์ในเครือช่วยประชาสัมพันธ์ออกไป
บวกกับความชำนาญในการจัดนิทรรศการของบริษัท
การกระจายข่าวสารของการจัดนิทรรศการในไทย จะมีกว่า 10 บริษัทสาขาทั่วโลก
เป็นผู้ดูแลโดยตรง โดยมีหน้าที่หลักในการติดต่อนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาโชว์
พร้อมกับโปรโมตงานให้กับกลุ่มนักลงทุนที่เกี่ยวข้องได้รับรู้
"การจัดการทีมงานในการจัดนิทรรศการ ถ้าเทียบระดับผลผลิตต่อคนไทยยังด้อยกว่าต่างประเทศเมื่อเทียบในขนาดพื้นที่การจัดงานเท่า
ๆ กัน อย่างในฮ่องกงจะใช้คนจัดงานนิทรรศการหนึ่งงานเพียง 6 คน ของไทยจะต้องใช้ถึงกว่า
10 คน หรือใช้เพียง 4 คนในออสเตรเลีย ไม่ใช่ว่าคนไทยขาดประสิทธิภาพในการทำงาน
แต่เพราะระบบการทำงานของคนไทยมีขั้นตอนและระดับคนทำงานหลายชั้น ทำให้ใช้คนเปลืองกว่าที่อื่น
ถือเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างของการทำงานของคนไทย" กรรมการผู้จัดการกล่าว
ผู้บริหารของมิลเลอร์ ฟรีแมน ยังถือว่าบริษัทจัดนิทรรศการในไทยเป็นคู่แข่งทางธุรกิจของตน
ซึ่งก็มีข้อดีในการเป็นผู้ช่วยกระตุ้นให้บริษัทเข้มแข็ง และช่วยผลักดันให้การทำงานของบริษัทดีขึ้น
"บริษัทจัดนิทรรศการไทยซึ่งมีอยู่เพียง 2-3 ราย ถือว่าจัดได้ดี และหัวก้าวหน้า
แต่ว่าการทำธุรกิจในยุคโลกาภิวัตน์ บริษัทนานาชาติจะค่อนข้างได้เปรียบ เพราะการทำงานต้องมีการแลกเปลี่ยนด้านข่าวสารกันระหว่งประเทศคนไทยเองก็ต้องพัฒนาตัวให้เป็นนานาชาติ
เพราะถ้าคุณไม่ออกไปนอกประเทศแต่คนจากที่อื่น ๆ ก็จะต้องเข้ามาในประเทศไทย"
กรรมการผู้จัดการกล่าวและเสริมว่า
การจะดูว่าบริษัทจัดนิทรรศการประสบความสำเร็จหรือไม่ ให้ดูว่ามีการลงทุนธุรกิจเกิดขึ้นหลังงานมากน้อยแค่ไหน
ถ้ามีมากแสดงว่าบริษัทจัดงานประสบความสำเร็จในฐานะเป็นสื่อกลางที่ทำให้เกิดธุรกิจ
อย่างงานหนึ่งของมิลเลอร์ ฟรีแมน ที่ประสบความสำเร็จมากคืองาน INTERMACH'96
เมื่อวันที่ 9-13 พฤษภาคม 2539 ที่มียอดรายได้ที่เกิดจากการค้าขายถึง 1.1
พันล้านบาท
พร้อมกันนี้ประโยชน์ของนิทรรศการ จะต้องช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมและส่งเสริมความก้าวหน้าของประเทศนำเทคโนโลยีใหม่
ๆ เข้ามาในประเทศ เป็นการประชาสัมพันธ์เทคโนโลยี ทั้งจากภายในและต่างประเทศ
เช่นจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมงานของบริษัท 60% เป็นบริษัทคนไทย และมีถึง 40%
เป็นบริษัทจากต่างประเทศ แต่หากนำเฉพาะเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทำมาโชว์ในงานแต่ละครั้ง
80% จะเป็นของที่ทำจากต่างประเทศ
สำหรับงานนิทรรศการของมิลเลอร์ ฟรีแมน ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทยปีนี้ มีทั้งหมด
4 งานใหญ่ 17 งานย่อย ได้แก่ หนึ่ง-งาน INTERMARCH'97 ระหว่างวันที่ 7-11
พฤษภาคม 2540 เป็นนิทรรศการด้านเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องจักรกลจัดที่ศูนย์สิริกิติ์
สอง-งาน AGROTECH'97 ซึ่งประกอบด้วยนิทรรศการเกี่ยวกับ FOODTECH'97 และ
BEVTICH'97 ระหว่างวันที่ 26-29 มิถุนายน 2540 งานนี้ถือเป็นนิทรรศการด้านเทคโนโลยีการเกษตรที่มีมานาน
เพราะจัดมาแล้ว 8 ปี ในอดีตจะเป็นงานนิทรรศการที่มุ่งเน้นการโชว์เทคโนโลยีที่แสดงถึงความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมการเกษตรเท่านั้น
ภายหลังอุตสาหกรรมการเกษตรได้เปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมการผลิต ทำให้แนวทางการจัดงานเปลี่ยนไปโดยมุ่งสู่การจัดนิทรรศการเพื่อโชว์เทคโนโลยีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตอาหารที่ทันสมัยมากขึ้น
เพื่อเพิ่มมูลค่าตลาดของสินค้า อุตสาหกรรมเกษตร และจุดเด่นของนี้ยังมีการแสดงเครื่องมือด้านการวัดต่าง
ๆ ที่ทันสมัยในอุตสาหกรรมการเกษตร
สาม-งาน ENTECH POLLUTEC ASIA'97 ระหว่างวันที่ 26-29 มิถุนายน 2540 เป็นนิทรรศการเกี่ยวกับเครื่องบำบัดรักษาสิ่งแวดล้อม
ซึ่งเป็นปีแรกที่ใช้ชื่อนี้เพราะได้นำพอลลูเทคจากประเทศผรั่งเศสเข้ามาร่วมแสดงในงาน
และสุดท้ายของปีนี้ EXPORT MANUFACTURING THAILAND ระหว่างวันที่ 9-12
ตุลาคม 2540 ที่ไบเทค ถนนบางนาตราด งานนี้จะเป็นนิทรรศการที่แสดงถึงโฉมหน้าใหม่ของการพัฒนาในไทย
ในการก้าวสู่อุตสาหกรรมตลาดโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาสินค้าส่งออกให้ได้มาตรฐานสูงทัดเทียมนานาประเทศ
โดยร่วมมือในการจัดงานกับสำนักงานส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทย (บีโอไอ)
นิทรรศการชิ้นสุดท้ายของปี 2540 ของมิลเลอร์ ฟรีแมน นอกจากจะเป็นการแสดงถึงโฉมหน้าใหม่
ๆ ของอุตสาหกรรมไทย ยังเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของไบเทค ศูนย์จัดนิทรรศการอีกแห่งของกรุงเทพฯ
ซึ่งสิ่งที่คนไทยน่าจะหวังต่อไปจากการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ก็คือ เราควรจะมีการพัฒนาศูนย์แสดงนิทรรศการให้มากขึ้นในทุก
ๆ ภาค เพื่อการกระจายความรู้และข่าวสารให้ถึงคนไทยในทุกมุมของประเทศ และเพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้าต่อไป