'ตัน'ฟัน 3 พันล.ขายโออิชิ


ผู้จัดการรายวัน(16 ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"ตัน" เผยเตรียมเซ็นฯเอ็มโอยูขายหุ้นโออิชิ กรุ๊ป 55% ให้กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ 20 ม.ค. 49 ฟันเงินเข้ากระเป๋า 3 พันล้าน เสียงแข็งไม่ใช่"เจริญ" ราชาน้ำเมาเมืองไทย เป็นผู้ซื้อตัวจริง เชื่อกลุ่มผู้ลงทุนใหม่จะเข้ามาสนับสนุนธุรกิจให้ขยายกิจการไปสู่ตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ด้านกลุ่มเบียร์ช้างโต้ข่าวแบ็กดอร์ฯโออิชิเข้าตลาดหุ้น ไม่จำเป็นเพราะเบียร์ช้างใหญ่และฐานะดีอยู่แล้ว ส่วนตลาดหลักทรัพย์ฯ จี้ติดขอข้อมูลผู้ซื้อเพิ่มเติม

นายอุดมศักดิ์ ชาครียวณิชย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัสจำกัด(มหาชน)(OISHI)ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14ธันวาคมที่ผ่านมานายตัน ภาสกรนที ประธานกรรมการบริษัทโออิชิ กรุ๊ป ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ(MOU)กับ Mr. Ma Wah Yan ในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้ลงทุน(ไฟแนนซ์เชียลอินเวสเตอร์)ซึ่งมีทั้งไทยและต่างประเทศหลายรายที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องดื่มและอาหารโดยจะเข้ามาซื้อหุ้นบริษัทโออิชิกรุ๊ปเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 103.125 ล้านหุ้นหรือ 55%ของจำนวนที่จำหน่ายทั้งหมดของบริษัท โดยการซื้อขายหุ้นดังกล่าวจะกระทำได้ต่อเมื่อกลุ่มผู้จะซื้อและกลุ่มผู้จะขายได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นและกลุ่มผู้ซื้อพอใจในผลการตรวจสอบกิจการของบริษัทรวมทั้งเงื่อนไขบังคับก่อนต่างๆที่อาจจะกำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายหุ้นได้สำเร็จ ทั้งนี้ได้กำหนดราคาซื้อขายเบื้องต้นที่หุ้นละ 32.50 บาท

อย่างไรก็ตามราคาซื้อขายดังกล่าวอาจมีการปรับเปลี่ยนลดลงตามผลการตรวจสอบกิจการของบริษัท แต่ทั้งนี้ไม่ว่ากรณีใดจะไม่ต่ำกว่าหุ้นละ 30 บาทซึ่งผู้จะขายและกลุ่มผู้ลงทุนที่จะซื้อตกลงที่จะทำการลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นภายในวันที่20 มกราคม 2549 และได้มีเงื่อนไขว่านายตัน จะต้องเป็นผู้บริหารของบริษัทต่อไป จนกว่าจะเกษียณอายุ "ราคาหุ้นที่กำหนดไว้นั้นมาจากการคำนวณหลายวิธีด้วยกันและเป็นความพึงพอใจของผู้ที่จะขายและผู้ที่จะเข้ามาซื้อหุ้นในครั้งนี้"นายอุดมศักดิ์กล่าว

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่านายเจริญสิริวัฒนภักดีเข้ามาซื้อกิจการของบริษัทโออิชิ กรุ๊ปในครั้งนี้นั้น ไม่ขอแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวซึ่งรายชื่อของกลุ่มผู้ลงทุนนั้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่ามีใครบ้างแต่จะมีการเปิดเผยภายในวันที่ 20 มกราคม 2549 เมื่อมีการลงนามในสัญญาซื้อขายกันแล้ว

อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ในขั้นลงนามในบันทึกความเข้าใจเท่านั้นดังนั้นก็มีโอกาสที่จะไม่เกิดขึ้นได้เช่นกัน

"การชี้แจงในครั้งนี้ถือว่ามีความชัดเจนและครบถ้วนมากเพราะได้เปิดเผยถึงราคาที่จะตกลงซื้อขายกันให้นักลงทุนได้รับรู้แล้วดังนั้นจึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการเก็งกำไรของหุ้นซึ่งบริษัทจะขอให้ตลาดหลักทรัพย์ปลดเครื่องหมายห้ามซื้อขายเพื่อหุ้นของบริษัทโออิชิกรุ๊ปจะได้กลับมาซื้อขายใหม่ในบ่ายวันนี้(15ธ.ค.)"นายอุดมศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้บริษัทโออิชิ กรุ๊ปแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงแต่จะยังคงเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

ส่วนในกรณีที่กลุ่มผู้ลงทุนจะเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 55%นั้นถ้าเป็นไปตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ก็จะต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์(เทนเดอร์ออฟเฟอร์)จากผู้ถือหุ้นรายย่อย 100% สาเหตุที่กลุ่มผู้ลงทุนสนใจจะเข้ามาลงทุนในบริษัทโออิชิกรุ๊ปเนื่องจากมองเห็นมูลค่าของชื่อเสียงของบริษัทโออิชิกรุ๊ป รวมถึงผู้บริหารคือนายตัน ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างทั่วถึงและเชื่อว่ากลุ่มผู้ลงทุนนี้จะเข้ามาช่วยทำให้บริษัทมีการขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันตลาดโออิชิส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศเป็นหลักแต่เชื่อว่าต่อไปในอนาคตจะสามารถขยายตลาดไปสู่ประเทศในเอเซียแปซิฟิกได้

ทั้งนี้ในอนาคตการแข่งขันในธุรกิจจะมีเพิ่มมากขึ้นโดยจะมีการเปิดเสรีการค้าและจะต้องแข่งขันกับต่างประเทศทั่วโลก ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องหาพันธมิตรเข้ามาเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งมากขึ้น

นายตัน ภาสกรนที ประธานกรรมการบริษัท บริษัทโออิชิ กรุ๊ปจำกัด(มหาชน)กล่าวว่า หลังจากที่ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจแล้ว ก็ได้มีการเรียกผู้บริหารระดับสูงประมาณ 50 คนเข้ามาชี้แจงและผู้บริหารทุกคนก็ยืนยันที่จะทำงานกับบริษัทต่อไป

ทั้งนี้ตนจะเป็นผู้รวบรวมหุ้นของบริษัทจากกลุ่มพนักงานที่ต้องการจะขายและกลุ่มพันธมิตรเพื่อให้ได้ในสัดส่วน 55% โดยในส่วนของตนนั้นปัจจุบันนี้ถือหุ้นอยู่จำนวน 18%และต่อไปจะยังคงถืออยู่ในสัดส่วนประมาณ 10%ซึ่งนับตั้งแต่บริษัทบริษัทแปรสภาพเป็นมหาชนและเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ผมก็มความคิดแล้วว่าความเป็นเจ้าของก็จะหมดไปอย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ตนก็ยังเป็นผู้ถือหุ้นอยู่

ทั้งนี้เชื่อมั่นว่ากลุ่มผู้ลงทุนที่เข้ามาจะช่วยสนับสนุนธุรกิจให้ดีขึ้นมีการขยายเพิ่มมากขึ้นโดยเชื่อว่ามีโอกาสที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 เท่าได้โดยบริษัทจะได้รับประโยชน์ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีใหม่และการตลาดซึ่งที่ผ่านมาตนก็พยายามที่จะแก้ไขในส่วนที่บริษัทไม่ถนัดโดยหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทำธุรกิจเช่นการนำบริษัทเสริมสุขเข้ามาร่วมทำธุรกิจเป็นต้นจะช่วยเสริมทำให้ธุรกิจของบริษัทมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ปัจจุบันนี้สัดส่วนรายได้ของบริษัทนั้นจะมาจากธุรกิจชาเขียว70% และธุรกิจอาหารประมาณ 30%ขณะที่ในด้านของกำไรนั้นจะมาจากธุรกิจชาเขียวถึง 90%

*เบียร์ช้างโต้ไม่แบ็กดอร์ฯ

แหล่งข่าวใกล้ชิดนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ไม่ตอบรับตอบปฏิเสธเมื่อถามว่ากลุ่มนายเจริญ เป็นผู้เข้าซื้อหุ้นโออิชิ หรือไม่ โดยตอบเพียงแต่ว่าธุรกิจของกลุ่มนายเจริญมีอยู่จำนวนมาก คงต้องรอสอบถามกันในกลุ่มก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า บมจ.ไทยเบฟเวอร์เรจ หรือ เบียร์ช้าง ไม่มีเหตุต้องใช้วิธีการซื้อ บมจ.โออิชิ เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯทางอ้อม หรือ แบ็กดอร์ลิสติ้ง เนื่องจากเบียร์ช้างเป็นบริษัทขนาดใหญ่มาก และถ้าใช้วิธีนี้อาจจะไม่ค่อยสมฐานะกับเบียร์ช้าง ซึ่งมีโครงสร้างกลุ่มและฐานะการเงินที่เข้มแข็งสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่ไหนก็ได้อยู่แล้ว

*ตลท.จี้เปิดข้อมูลผู้ซื้อเพิ่ม

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แจ้งว่าขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ยังคงสั่งห้ามการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของOISHI ต่อไปและเนื่องจากปรากฎข้อมูลในสื่อมวลชนหลายฉบับที่ไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่บริษัทได้เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์

ตลาดหลักทรัพย์จึงขอให้บริษัทชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความชัดเจนเกี่ยวกับข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มผู้จะซื้อที่แท้จริงได้แก่ ชื่อนามสกุล สัดส่วนการถือหุ้นที่แต่ละรายจะเข้าถือหุ้นกรณีเป็นนิติบุคคลให้ระบุชื่อ ลักษณะและประเภทธุรกิจผู้ถือหุ้นที่แท้จริง คณะกรรมการ วันที่ก่อตั้งและการเข้ามาถือหุ้นของกลุ่มผู้จะซื้อจะมีผลต่อการดำเนินงานของบริษัทอย่างไร

นอกจากนี้ภายหลังการขายหุ้นนายตัน ภาสกรนทีและกลุ่มจะยังคงสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทโออิชิอยู่เป็นจำนวนเท่าใดและระบุวิธีการและแหล่งการรวบรวมหุ้นของบริษัทจากผู้ถือหุ้นอื่นเพื่อให้ได้จำนวนรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 103.125ล้านหุ้น เช่น ซื้อในตลาดหลักทรัพย์หรือซื้อจากบุคคลทั่วไปที่แสดงความจำนงไปยังนายตันหรือตัวแทน เป็นต้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.