จัดระเบียบ"นอนแบงก์" โขกดบ.เกิน20%เจอจับ


ผู้จัดการรายวัน(16 ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

กระทรวงยุติธรรมขอความร่วมมือผู้ประกอบการนอนแบงก์ปรับลดดอกเบี้ย ปปง.ขีดเส้นดอกเบี้ยบวกค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมต้องไม่เกิน 20% เผยหากรายใดไม่ร่วมมือจะใช้วิธีเสนอให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงการคลังและจับกุมดำเนินคดี ลั่นรายใดรับไม่ไหวก็ควรจะปิดกิจการ ขณะที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นหนังสือถึงแบงก์ชาติ จี้ยกเลิกประกาศอนุญาตนอนแบงก์เก็บดอกเบี้ย 28% หากเพิกเฉยภายใน 30 วัน จะยื่นศาลปกครอง

ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการว่าด้วยสินเชื่อส่วนบุคคล จัดโดยกระทรวงยุติธรรม ที่รร.มณเฑียร วานนี้ (15 ธ.ค.) พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ยุติธรรม ประธานเปิดงานฯ กล่าวว่า การสัมมนาร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค กรมบังคับคดี กรมสรรพากร สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกลุ่มนิติบุคคลที่ประกอบสินเชื่อส่วนบุคคล 28 แห่ง ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ ธปท.พร้อมกับบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการปล่อยกู้และเช่าซื้อที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนในครั้งนี้ จะช่วยให้เกิดการจัดระบบนอนแบงก์ เพื่อแก้ปัญหาการเรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด หลังจากหนี้นอกระบบเกิดปัญหามานานและมีการกระทำผิดเป็นขบวนการ
พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติ เลขาธิการ ปปง. ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ปัญหาหนี้ไม่เป็นธรรม กล่าวว่า ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการปรับลดดอกเบี้ยลงมาอยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด คือไม่เกิน 15% ต่อปี และเมื่อรวมค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมแล้วต้องไม่เกิน 20% จากปัจจุบันที่เก็บ สูงสุดถึง 28% โดยขอให้นอนแบงก์รวมตัวกันเป็นสมาคมเพื่อให้สะดวกต่อการชี้แจงทำความเข้าใจให้กับพนักงานให้ปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย

"ผมมั่นใจว่าจะได้รับความร่วมมือจากนอนแบงก์และผู้ที่ทำธุรกิจปล่อยกู้ทุกราย มิเช่นนั้น ปปง.จะเสนอให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงการคลัง ขณะเดียวกันจะมีการจับกุมดำเนินคดี หากใครฝ่าฝืนก็จะไล่จับแน่" พล.ต.ต.พีรพันธุ์ย้ำและว่า กรณีที่นอนแบงก์ไม่เห็นด้วยกับดอกเบี้ย 15% เพราะอ้างว่าขาด ทุนนั้น หากธุรกิจอยู่ไม่ได้ก็ต้องปิดตัวไปให้ผู้ที่ทำได้ทำต่อไป เพราะประชาชนเดือดร้อนโดยที่ผ่านมามีนอนแบงก์ 3-4 แห่ง ยอมอยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนดแล้ว

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภครุกธปท.

วันเดียวกัน น.ส.วรรณวรินทร์ ไตรลักษณ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นหนังสือผ่านนางจิตติมา ดุริยะประพันธ์ ผู้อำนวย การอาวุโส ฝ่ายสนับสนุนการบริหาร ธปท. เพื่อขอให้ ธปท. ยกเลิกประกาศวันที่ 20 มิถุนายน 2548 ที่กำหนดให้ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลนอนแบงก์กำหนด อัตรารวมสูงสุดของอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมไม่เกิน 28% ต่อปี

เนื่องจากประกาศฉบับดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย และเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อบุคคล สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้รับข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมากหรือ 20 รายต่อวัน โดยเห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อบุคคลควรจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ที่บัญญัติว่าไม่ให้คิดดอกเบี้ยเกิน 15% ซึ่งทางมูลนิธิฯ ขอให้ ธปท. ยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าวภายในเวลา 30 วันนับจากวันที่รับหนังสือ แต่หาก ธปท. ยังเพิกเฉยไม่ดำเนินการ ใดๆ มูลนิธิฯ จะนำเรื่องฟ้องร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองต่อไป

"ลูกหนี้ส่วนใหญ่จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า หากพ้นสภาวะนี้จะไม่ก่อหนี้อีก ดังนั้นเราไม่กลัวว่าลูกหนี้จะหันไปกู้หนี้นอกระบบ"นางสาววรรณวรินทร์กล่าว

ขณะที่ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสนับสนุนการบริหาร ธปท.กล่าวว่า จะนำเรื่องนี้เสนอผู้ว่าการ ธปท. เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลร่วมกันและเสนอกระทรวงการคลังต่อไป และครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มูลนิธิฯ มาร้องเรียนอย่างเป็นทางการต่อ ธปท.หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยไปร้องเรียนกับสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงการคลังมาแล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.