ศูนย์รับฝากฯไม่ชัวร์T+2ใช้ทันปีหน้า วางเป้ารายได้โต 21%ร่วมกบข.ยืมหุ้น


ผู้จัดการรายวัน(16 ธันวาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ตั้งเป้าปีหน้ามีอัตราการ เติบโตของรายได้ 21% เตรียมรุกธุรกิจใหม่ๆ ทั้งระบบการให้ยืมหุ้นที่จะร่วมกับ กบข.และระบบบริหารหลักประกันสำหรับธุรกิจซื้อ คืนภาคเอกชน ขณะที่ T+2 นั้น ยังไม่แน่ใจว่าจะใช้ทันปีหน้าหรือไม่

นางนงราม วงษ์วานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์(ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้วางแผนการดำเนินงานในปี 2549 ว่าจะมีอัตราการเติบโตของรายได้อยู่ในระดับ 21% ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่ยังเป็นรายได้จากการให้บริการงานนายทะเบียนให้บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ซึ่งคาดว่ามีกว่า 800 หลักทรัพย์ ขณะที่ในปี 2548 คาดว่าจะมีรายได้ เพิ่มขึ้นประมาณ 12% คิดเป็น รายได้ 800 ล้านบาท และเป็นกำไรก่อนหักภาษีและจัดสรรให้ตลาดหลักทรัพย์จำนวน 280 ล้าน บาท ซึ่งเป็นกำไรสุทธิประมาณ 20 ล้านบาท

ทั้งนี้ ภายในปีหน้าบริษัทจะมี รายได้จากงานบริการปัจจุบันและงานบริการใหม่ เช่น การขยายตลาด นายทะเบียนตราสารหนี้ มีเป้าหมาย มูลค่าหลักทรัพย์ที่บริษัทเป็นนายทะเบียนในปี 2549 จะมีมูลค่าประมาณ 1.59 แสนล้านบาท และบริการใหม่ คือ การให้บริการงานปฏิบัติ การบริการบริษัทหลักทรัพย์ สำหรับซื้อขายในตลาดอนุพันธ์จำนวน 12 บริษัทหลักทรัพย์ และให้บริการงานสำนักหักบัญชีสำหรับตราสารอนุพันธ์, การเปิดให้บริการระบบงานยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ และระบบการบริการ หลักประกันสำหรับธุรกรรมซื้อคืนภาคเอกชน(Private Repo) เป็นต้น

สำหรับการให้บริการระบบงานยืมและให้ยืมหลักทรัพย์คาดว่าระบบจะเสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม 2549 ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และ กบข.ก็เป็น คณะกรรมการเกี่ยวกับธุรกรรมดังกล่าวด้วย ดังนั้นจึงเชื่อว่าทาง กบข. พร้อมที่จะให้ยืมหุ้น

นางนงรามกล่าวว่า ส่วน การลดระยะเวลาชำระราคาและ ส่งมอบหลักทรัพย์จาก T+3 เป็น T+2 นั้นยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถใช้ทันปี 2549 หรือไม่ เพราะยังติดปัญหาระบบตัดบัญชีผ่านธนาคารพาณิชย์ ซึ่งที่ผ่านมาได้กำหนดนักลงทุนใหม่ที่ซื้อขายจะต้องใช้ระบบตัดบัญชีผ่านธนาคารพาณิชย์ แต่ที่ผ่านมาจะมีนักลงทุน รายใหญ่และนักลงทุนบางส่วน ไม่ต้องการใช้ระบบตัดบัญชีผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ ประกอบกับจะต้องรอให้ธนาคารหลายแห่งเข้าร่วมในระบบดังกล่าวเสียก่อน ดังนั้นขณะนี้จึงต้องรอว่าสมาคมธนาคารพาณิชย์ไทยจะตัดสินใจอย่างไรบ้าง

ในส่วนของบริการสำหรับผู้ลงทุนนั้น บริษัทจะรณรงค์โครงการโอนเงินปันผลเข้าบัญชีธนาคารอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายให้หักทรัพย์ที่มีการจ่ายเงินปันผลเข้าร่วมโครงการทุกหลักทรัพย์และผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยและเงินปันผลด้วย วิธีนี้ 80% ของนักลงทุนจะได้รับดอกเบี้ย และเงินปันผลทั้งหมด

นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการในการจัดทำบัตรผู้ลงทุน เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการเรียกดูข้อมูลและเพิ่มความสะดวกในการทำรายการต่างๆ รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ จากบัตรผู้ลงทุนดังกล่าวแก่ผู้ลงทุนอีกด้วย ซึ่งจะร่วมกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) ยังเป็นตัวกลางในการชำระและส่งมอบพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ประมาณ ม.ค.49

ส่วนธุรกรรมยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (SBL) และระบบงานบริหารหลักประกันสำหรับธุรกรรม ซื้อคืน(Repo) ซึ่งคาดว่าจะให้บริการต้นปี 2549

"บริษัทมุ่งเน้นด้านการเติบโต การรักษาฐานลูกค้าเดิม และการเพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่ ซึ่งจะมาจาก การขยายฐานลูกค้าในงานต่างๆ เช่น การเพิ่มจำนวนลูกค้าของงานนายทะเบียนหลักทรัพย์ตราสารหนี้ และกองทุน รวมถึงการให้บริการบริการงานสำนักหักบัญชี และงานบริการปฏิบัติการหลักทรัพย์ สำหรับ การซื้อขายในตลาดอนุพันธ์"

นอกจากนี้ บริษัทได้เพิ่มบริการใหม่ๆ เช่น การเปิดให้บริการ ระบบงานยืมและให้ยืมหลักทรัพย์และระบบการบริการหลักประกันสำหรับธุรกรรมซื้อคืนภาคประชาชน (Private Repo) เป็นต้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.