ซีดีจีมีการแตกไลน์ธุรกิจอยู่เสมอ จากธุรกิจหลักคือขายเครื่องขนาดใหญ่และกลางให้หน่วยราชการ
เมื่อตลาดพีซีคิดเป็นยอดขายประมาณ 65% ของตลาดคอมพิวเตอร์โดยรวม ด้วยสินค้า
เช่น คอมแพค และโตชิบา เพียงแต่ยังจำกัดตัวอยู่ในตลาดวิสาหกิจ ไม่ลงสู่คอนซูเมอร์
"แต่ก่อนเราคิดว่าขายแต่เครื่องใหญ่ดีกว่า เพราะมีกำไรสูงกว่ามาก
แต่เมื่อเราเห็นตลาดพีซีขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ เราก็ต้องปรับตัว" สุภาวดี
กล่าว
ซีดีจีไม่จำกัดตัวเอง แต่โดยสไตล์ของบริษัท ก็เข้าข่ายกลยุทธ์ "แตกแล้วโต"
คือบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ จะเป็นแผนกหนึ่งในบริษัทเดิมก่อน ครั้นมีแนวโน้มสดใสจึงตั้งเป็นบริษัทใหม่
เพื่อให้เกิดความคล่องตัว หากหลายธุรกิจไปรวมกันอยู่แต่ในบริษัทเดียว ก็อาจเกิดความสับสนและล่าช้าในการบริหาร
ทั้งยังก่อให้เกิดวิกฤตในองค์กรได้ง่าย
ธุรกิจขายเครื่องเวิร์กสเตชั่น ก็เคยเป็นแผนกหนึ่งในบริษัทคอมพิวเตอร์เพอริเฟอรัล
แอนด์ ซัพพลายส์ ก่อนจะแยกตัวออกมาเป็นบริษัทลอจิก
การขายเวิร์กสเตชั่นในตอนเริ่มต้นออกจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจอีกตัวหนึ่งคือการจำหน่ายซอฟต์แวร์ด้าน
GEOGRAPHICS INFORMATION SYSTEM (GIS) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ด้านสารสนเทศทางภูมิศาสตร์
และแผนที่ บริษัทในซีดีจีที่เป็นตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์ตัวนี้คือ บริษัทอีเอสอาร์ไอ
(ประเทศไทย) จำกัด
โอกาสทองของซีดีจีเกิดขึ้นเมื่อกรมที่ดิน ต้องการซอฟต์แวร์ GIS ไปใช้ในโครงการสำรวจ
มูลค่าประมาณ 20 ล้านบาท ทางซีดีจีจึงติดต่อบริษัทไพรม์ (คู่ค้ารายหนึ่ง)
ให้แนะนำโซลูชั่นทางด้านนี้
สิ่งที่ซีดีจีมองเห็นคือ ซอฟต์แวร์ GIS มักจะทำงานได้ดีบนเครื่องเวิร์กสเตชั่นของซัน
ไมโครซิสเต็มส์ ซึ่งมีความสามารถในด้าน CAD/CAM ดังนั้นซีดีจีจึงติดต่อทางซันขอเป็นตัวแทนจำหน่าย
และถือเป็นธุรกิจแผนกหนึ่งในบริษัทคอมพิวเตอร์เพอริเฟอร์รัล แอนด์ ซัพพลายส์
โดยเน้นการขายเครื่องไปพร้อมกับซอฟต์แวร์ GIS
กล่าวได้ว่า GIS ชูธงขึ้นที่ไหน ยอดขายของซันก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เมื่อแยกตัวออกมาเป็นบริษัทลอจิก
จึงขยายตัวไปสู่ตลาดการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทำให้ลอจิกนั้นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนของซีดีจีในความสามารถด้านตลาดเอกชน