"ชีวิตนี้เพื่อการศึกษาของ "กุนซือยอดขยันแห่งรั้วเสมา"

โดย สนิทวงศ์ เจริญรัตตะวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2540)



กลับสู่หน้าหลัก

อดีตจากเด็กน้อยที่ไม่ชอบเรียนหนังสือเพราะไม่สนุก แต่ปัจจุบัน ดร. รุ่ง แก้วแดง กลายเป็นนักบริหารการศึกษาแถวหน้าของเมืองไทยด้วยผลงานที่ริเริ่มมากมาย มาโด่งดังกับแนวคิดรีเอ็นจิเนี่ยริ่งระบบราชการไทยและโครงการศึกษาผ่านดาวเทียมไทยคม วันนี้เขากลับสังกัดเดิม สกศ. ด้วยหวังจะพลิกฟื้นบทบาทจากหน่วยงานที่โลกลืมมาเป็นหน่วยประสานงานการศึกษา "ตัวจริง" เสียที...

เช้าวันหนึ่งที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) "ผู้จัดการรายเดือน" ได้มีโอกาสเข้าสัมภาษณ์ ดร. รุ่ง แก้วแดง เลขาธิการ สกศ. ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเวลาของท่านเต็มไปด้วยภารกิจรัดตัวตั้งแต่เช้าจรดเย็น นอกเหนือจากการออกกำลังกายที่เป็นกิจกรรมแทรกเข้ามาในกิจวัตรประจำวัน

ชีวิตของ ดร. รุ่ง เริ่มต้นที่จังหวัดยะลา เหมือนกับเด็กผู้ชายทั่ว ๆ ไป ที่ชอบวิ่งเล่นซุกซนกับเพื่อนไปวัน ๆ จนกระทั่งถึงเกณฑ์ต้องเข้าเรียนหนังสือ วีรกรรมเล็ก ๆ ของเด็กชายรุ่งจึงเกิดขึ้น

"ปีแรกผมไปเรียน แต่เรียนได้เพียง 3 วัน ทนอากาศร้อนไม่ไหว เพราะหลังคาโรงเรียนเป็นสังกะสี และก็รู้สึกว่าโรงเรียนไม่น่าอยู่ เล่นกับเพื่อนที่บ้านสนุกกว่า" ดร. รุ่ง เปิดใจถึงชีวิตในวัยเด็ก

ย่างเข้าปีที่สองชีวิตการเรียนกลับเข้าสู่รอยเดิมอีกแต่คราวนี้ไปไม่ถึง 3 วัน ก็เหมือนเดิมกลับมาอยู่บ้านอีก ซึ่งทางบ้านก็ตามใจ เพราะถือว่าเป็นน้องนุชสุดท้องที่ทั้งบ้านตามใจ ซึ่ง ณ ขณะนั้น ดร. รุ่งไม่รู้เหมือนกันว่าการทำเช่นนั่นเป็นโชคดีหรือโชคร้าย

จนกระทั่งย่างเข้า 8 ขวบเศษ ชีวิตเริ่มจุดหักเหเมื่อมารดาเสียชีวิตและพี่ชายคนโตซึ่งเป็นคนแรกของยะลาที่เรียนจบธรรมศาสตร์กลับมาบ้าน และบัดนั้นเป็นต้นมาเด็กชายรุ่งจึงต้องเริ่มเรียนหนังสืออย่างจริงจัง เพราะพี่ชายได้นำตัวมาเรียนที่ตัวจังหวัด จนกระทั่งสำเร็จศึกษาศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตปทุมวัน ในปีการศึกษา 2508

หลังจบปริญญาตรีก็ประเดิมงานแรกเป็นข้าราชการครูสังกัดกรมอาชีวะ สอนระดับอาชีวะศึกษาที่โรงเรียนการช่างสตูลได้ 1 ปี แล้วลาออกมาเรียนต่อที่คณะรัฐประศาสนศาสตร์ เมื่อครั้งที่ยังสังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากตอนนั้นกระทรวงศึกษาฯ ยังไม่มีนโยบายให้ข้าราชการเรียนปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ เพราะถือว่าเป็นวิชาทางรัฐศาสตร์ แต่แท้ที่จริงแล้วสาขาวิชานี้เป็นวิชาทางด้านบริหาร ซึ่งข้าราชการทุกกระทรวงสามารถเรียนรู้ได้

หลังจากลาออกได้เพียงปีเศษ ท่านสามารถสอบเข้าทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติได้ในปี พ.ศ. 2511 พร้อมทั้งสำเร็จการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิตในปีเดียวกัน

"ผมเริ่มต้นที่ตำแหน่งวิทยากรตรีแล้วก็ทำงานที่นี่เรื่อยมาจนถึงซี 6 รักษาการในตำแหน่งหัวหน้ากองวิจัย ซึ่งค่อนข้างเร็วเพราะผมเข้าทำงานเมื่อปี 2511 พอปี 2517 ก็เป็นหัวหน้ากองแล้ว" ดร. รุ่งเล่าย้อนหลังภาระหน้าที่การงานในช่วงเริ่มต้น

จากที่นี่ ดร. รุ่งได้เก็บเกี่ยวสั่งสมประสบการณ์ต่าง ๆ มากมายโดยเฉพาะงานหลัก 5 เรื่อง เริ่มจากการวิจัย พัฒนานโยบาย การจัดทำแผน นำแผนไปสู่การปฏิบัติ และการประเมินผล ซึ่งถือเป็นเครื่องกล่อมเกลาให้เป็น ดร. รุ่ง แก้วแดงในทุกวันนี้

"ถ้าเราผ่านการทำวิจัยมาก่อน เวลาไปทำงานอย่างอื่นมั่นใจได้เลยว่า 90% จะประสบความสำเร็จ เพราะเราได้ทำการศึกษาค่อนข้างละเอียดในทุกเรื่อง ซึ่งรูปแบบที่เราใช้กันมากคือ การวิจัยเอกสาร ถือว่าเป็นการวิจัยที่ง่ายที่สุด"

จากนั้นไม่นานชีวิตของการเป็นนักเรียนก็เข้ามาเยือนอีกครั้งเมื่อตัดสินใจลาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และหลังจากนั้น 3 ปีเขาก็หอบหิ้วปริญญาดุษฎีบัณฑิต ด้านบริหารการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์กกลับสู่ฟ้าเมืองไทยเมื่อกลางปี 2520 และเข้าทำงานในกระทรวงศึกษาธิการอีกครั้ง

มาครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อน ๆ เพราะเขาได้รับมอบหมายงานช้างให้ดูแล ซึ่งก็คือการเปลี่ยนแปลงการประถมศึกษา ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยได้เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนออกมาเป็นกฎหมาย ซึ่งผลงานครั้งนั้นเป็นที่มาของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ หรือ สปช. และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู หรือ กค. ที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2523 ซึ่งหลังจากนั้น ดร. รุ่ง ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เข้าไปดูแลงานใน สปช.

"ตอนนั้น ดร. สิปนนท์ เกตุทัต เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ ในสมัยรัฐบาลท่านนายกฯ เปรม 2 โดยท่านได้โอนผมไปเป็นรองเลขาฯ สปช. ตำแหน่งระดับ 9 ผมทำงานอยู่ในตำแหน่งนี้ 7 ปี จนถึงปี 2530"

เมื่อครั้งที่อยู่ สปช. เขาได้ทำการปรับกระบวนการทำงานโดยนำงานหลัก 5 ประการของ สกศ. มาใช้ เพราะโรงเรียนประถมศึกษาอันเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานมีจำนวน 33,000 โรง มีนักเรียนในการดูแล 6.5 ล้านคน และแม้ว่าจะพ้นจากตำแหน่งในหน่วยงานนี้แล้วแต่ยังมีการดำเนินตามแนวทางที่เขาได้วางไว้อย่างต่อเนื่องนับถึงปีนี้ก็เป็น 10 ปีแล้ว และโครงการต่าง ๆ ที่ได้ริเริ่มขึ้นยังมีการสานต่ออย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ "แม้ว่าหลายเรื่องเริ่มจะล้าสมัย แต่ไม่มีใครที่ลุกขึ้นมาจับอย่างเป็นระบบและสามารถเปลี่ยนแปลงได้" ดร. รุ่ง เล่าอย่างภาคภูมิใจ

โครงการอนุบาลชนบท เพื่อเตรียมความพร้อมใน 2 ปีแรกก่อนเข้าเรียนในระดับประถมถือเป็นผลงานที่ปรากฏผลเป็นประโยฃน์ต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง เพราะในปัจจุบันเด็กไทยอายุระหว่าง 3-5 ปี 68% มีโอกาสเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนในระดับหนึ่งจากอดีตที่มีเพียง 4% เท่านั้น

นอกจากนี้โครงการอาหารกลางวัน และโครงการปรับปรุงอาคารเรียนและอาคารประกอบ ยังเป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เขาไม่น้อย เพราะความคิดนี้ส่วนหนึ่งหลั่นออกมาจากชีวิตจริงในฐานะที่เป็นเด็กต่างจังหวัดมาก่อน

สมัยก่อนเด็กบ้านนอกตอนเที่ยงต้องกลับมากินข้าวบ้าน ถ้าพ่อแม่ออกไปทำงานโอกาสที่เด็กจะไม่ได้กินอาหารกลางวันมีสูง เมื่อเป็นอย่างนี้เด็กจะเอาสมองที่ไหนมาเรียนและสุขภาพก็ไม่ค่อยดีมีโรคภัยไข้เจ็บบ่อย ที่สำคัญเด็กในยุคนั้น 40% เป็นโรคขาดสารอาหาร สมัยผมเองเรียนจนถึงมัธยมแล้วบางวันก็ไม่มีอาหารกลางวันกินต้องไปเก็บผลไม้ข้างโรงเรียน แต่ก็ยังโชคดีที่ยังรอดมาได้" ดร. รุ่ง เล่าถึงจุดที่มาของไอเดีย พร้อมทั้งกล่าวต่อไปว่า

เมื่อก่อนอาคารเรียนของโรงเรียนประถมในชนบทโกโรโกโสมาก ถ้าเคยเห็นโรงเรียนวัดสมัยก่อนที่เขาจะสร้างเป็นหลังใหญ่ ๆ คล้ายกับศาลาวัด ฝ้าก็ไม่มี มีแต่ระแนงตอก ยกพื้นบ้างไม่ยกพื้นบ้าง หลังคาเป็นสังกะสี ร้อนก็ร้อน ถ้าฝนตกก็เลิกพูดกันเพราะเสียงเม็ดฝนกระทบหลังคาดังจนสอนไม่ได้"

สำหรับโครงการอาหารกลางวันจะเป็นการนำเกษตรเข้ามาใช้ในการเรียนการสอนทั้งทางด้านพืช และสัตว์แล้วก็เปลี่ยนเป็นอาหาร ด้วยความคิดที่ว่าอย่างน้อยในชีวิตของคนเรามื้อหนึ่งควรจะได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่

ส่วนโครงการปรับปรุงอาคารเรียน มีจัดการรื้อระบบของการสร้างอาคารเรียนใหม่หมดและลงมืออกแบบเองเสร็จสรรพ อย่างน้อยมาตรฐานขั้นต่ำต้องเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กไม่ใช้ไม้หรืออาคารไม้เพราะโอกาสโกงเป็นไปได้ง่าย หลังคาจะต้องเป็นกระเบื้องไม่ใช่สังกะสีแบบเดิม ต้องมีฝาอย่างดี มีอุปกรณ์ในห้องเรียนพร้อมหมด และที่สำคัญต้องทาสี ซึ่งอาคารแบบใหม่นี้รวมเรียกว่าอาคารซีรี่ส์ 105 ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 3-4 หมื่นหลังทั่วประเทศ และสามารถกันเงินที่จะรั่วไหลจากการคอร์รัปชั่นไว้ได้ปีละ 600-800 ล้านบาท ซึ่งเงินส่วนนี้ได้จัดสรรไปใช้สร้างโรงฝึกงาน สนามกีฬาบ้าง และพัฒนาการศึกษา ซื้อสื่อการเรียนการสอน เครื่องดนตรี อุปกรณ์กีฬา

ต่อจากนั้นระหว่างปี 2530-2530 ได้เลื่อนขั้นเป็นระดับ 10 ในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาเอกชน

ที่นี่ ดร. รุ่งได้ฝากฝีไม้ลายมือแก้ปัญหาโรงเรียนเอกชนล้ม ซึ่งมีตัวเลขสูงถึงปีละ 100-200 โรง เพราะถูกจำกัดเพดานค่าเล่าเรียนและไม่มีเงินอุดหนุนจากรัฐบาล โดยเขาได้เข้ามาปรับปรุงเรื่องเงินอุดหนุนที่ไม่มีการปรับมาเป็นเวลาถึง 7 ปี และขยายเพดานค่าเล่าเรียนให้สูงขึ้นและให้สามารถปรับได้ทุกปี

นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้แก่ผู้บริหารและครูในโรงเรียนเอกชน ตลอดจนถึงการปรับระบบสวัสดิการครู โดยเฉพาะเรื่องการเบิกจ่ายค่าเล่าเรียนบุตรหรือค่ารักษาพยาบาลให้เร็วขึ้นเหลือเพียง 3 ชั่วโมง รวมถึงการให้กำลังใจแก่ผู้บริหารโรงเรียน เพราะเดิมโรงเรียนเอกชนมักถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายที่จ้องหาผลประโยชน์จากการศึกษา โดยพยายามทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายว่าจริง ๆ แล้วโรงเรียนเอกชนเหล่านี้เข้ามาด้วยความตั้งใจที่ดี

จากนั้นไม่นานก็ขึ้นเป็นรองผลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยดูแลด้านกฎหมายและบุคลากร 2 ปี ก่อนจะย้ายไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ โดยผลักดันพระราชบัญญัติคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 จนผ่านสภาและเกิด "กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม" ที่ตั้งเป็นหน่วยงานอิสระโดยได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล และเป็นที่มาของผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม

"ตอนนั้นถือว่างานด้านวัฒนธธรมเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและความเป็นไทย ดังนั้นคนไทยควรมีวัฒนธรรมที่ดี ที่เป็นของตนเองและเข้มแข็ง เราจึงไปทำงานกันที่นั่นอย่างเช่น ปีรณรงค์วัฒนธรรมไทย ได้งบประมาณด้านวัฒนธรรมมากมาย เพิ่มขึ้นปีละเกือบ 100% ทุกปี และก็มีการตั้งเครือข่ายด้านวัฒนธรรม"

ต่อจากนั้น 2 ปีได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ได้ทำการขยายโอกาสทางการศึกษาด้วยการเปิดศูนย์การเรียนทุกหนทุกแห่งชนิดขอเพียงให้มีผู้เรียน อาทิ เปิดในโรงงานอุตสาหกรรม เรือนจำ กองทหารเกณฑ์ กลุ่มเกษตรกร และอาสาสมัครสาธารณสุข ทำให้จากเดิมที่มีผู้เรียนนอกโรงเรียนทุกระบบเพียง 9.8 แสนคน ขยายได้ถึง 4 ล้านคน ซึ่งรวมถึงกลุ่มกำนัน ใหญ่บ้านและกรรมการหมู่บ้านที่มีทั้งหมด 8 แสนคน ได้มีโอกาสเรียนมากขึ้น

ในตำแหน่งนี้เขาได้นำระบบการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมมาใช้ ซึ่งได้รับการกล่าวขานถึงอย่างกว้างขวาง เพราะไม่เฉพาะแต่ผู้เรียนนอกระบบโรงเรียนเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่ในระบบโรงเรียนก็ใช้ได้ด้วย ถือเป็นโครงการหนึ่งที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างมากแม้ช่วงหนึ่ง จะมีปัญหากับบริษัทชินวัตรแซทเทิลไลท์อยู่บ้างก็ตาม นอกเหนือจากนั้นยังมี กศน. สปช. กรมสามัญศึกษา คณะกรรมการการศึกษาเอกชน ร.ร. เทศบาล และกรุงเทพมหานครเข้าร่วมในโครงการ เบ็ดเสร็จแล้วมีประมาณ 1.5 หมื่นจุด และมีผู้เรียนเป็นตัวเลขหลักล้านทีเดียว

เช่นเดียวกับศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาแห่งชาติ เขาได้เข้ามาพัฒนาจนได้รับงบประมาณสร้างแห่งที่ 2 ที่รังสิต มูลค่าโครงการ 700 ล้านบาท เป็นอาคาร 8 ชั้น บนเนื้อที่ 40 ไร่เศษ ตั้งอยู่หลังวิทยาลัยการปกครองติดกับบึงเก็บน้ำของโครงการพระราชดำริ จากที่มีเพียงท้องฟ้าจำลองเพียงแห่งเดียว

พร้อมกันนั้นก็ขยายไปยังต่างจังหวัด เริ่มที่หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ทั้งหมดเกือบ 800 ไร่ เป็นงานเดิมที่ทำค้างไว้แล้วนำมาทำต่อจนกระทั่งสำเร็จ และที่สร้างเสร็จแล้วอีก 2 แห่งคือนครศรีธรรมราช และตรัง ส่วนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างใกล้เสร็จแล้วมีที่กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ อุบลราชธานี เชียงราย และยะลา ทั้งนี้ในแผนงานจะสร้างให้ครบทุกเขตการศึกษาและในอนาคตจะลงไปจนครบทุกจังหวัด

เวลาผ่านไป 2 ปี ชีวิตการทำงานก็หวนกลับมายังที่เดิม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ แต่ในตำแหน่งเลขาธิการ โดยการแนะนำจาก ดร. สิปนนท์ เกตุทัต เพราะเล็งเห็นว่าหน่วยงานนี้ควรจะต้องเป็นหน่วยนโยบายและประสานงานอย่างแท้จริง เนื่องจากประเทศไทยมีหน่วยงานที่จัดการเรื่องการศึกษาถึง 9 กระทรวง สกศ. จึงเป็นหน่วยที่สำคัญ แต่ที่ผ่านมาบทบาทตรงนี้ไม่ปรากฏชัดเจนนัก ซึ่ง ดร. รุ่ง ได้สรุปความผิดพลาดที่เกิดขึ้นว่าไปเน้นเรื่องการทำวิจัยมากเกินไป และยังเป็นงานวิจัยที่ไม่ได้นำมาใช้ในการกำหนดนโยบาย ด้วยเหตุนี้การกลับมาครั้งนี้จึงต้องมีการปรับทิศทางทำงานใหม่ โดยงดการวิจัยประเภทที่ใช้เวลานานเป็นปี หันมาทำแต่งานวิจัยที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นนโยบายซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน ถ้าเป็นโปรเจกต์ยาวจะจ้างที่อื่นทำ

"เราเริ่มต้นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่นี่คือ เอาระบบปฏิรูประบบราชการ หรือรีเอ็นจิเนียริ่งระบบราชการเข้ามาใช้ ตอนนี้เราพูดได้ว่าเราทำงานตามบทบาทหน้าที่ของสำนักงาน จากเดิมช่วงหนึ่งเราเอาคนเป็นตัวตั้ง ทำเสร็จแล้วก็เก็บเข้าหิ้ง ใครจะอ่านหรือไม่ไม่รู้ แต่ได้ประโยชน์ที่ตัวเองคือเอาไปปรับเลื่อนซี"

นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงงานสวัสดิการให้เร็วขึ้น ตามด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงาน "ผมมาก็ตกใจเพราะอย่างเครื่องแฟกซ์ทั้งสำนักงานมีอยู่ 2 เครื่อง ใครจะแฟกซ์ทีต้องยืนเข้าแถวยาว ตอนนี้เราให้มีทุกจุด อย่างโทรศัพท์ที่อื่นเขามีระบบชุมสายกันหมดแล้วแต่ที่นี่ไม่มีเราก็มาปรับให้สะดวกขึ้น" รวมถึงการปรับสิ่งแวดล้อม และบรรยากาศในการทำงาน เพื่อลดปัญหาความรู้สึก "เซ็ง" ที่เกิดขึ้นกับคนทำงาน โดยมีการปรับอาคารเดิมที่ค่อนข้างทรุดโทรมให้มีความสวยงามขึ้นด้วยการนำต้นไม้มาปลูก นำเครื่องปรับอากาศมาติดตั้ง รวมทั้งเสริมด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันจึงมีใช้เฉลี่ย 2 คนต่อหนึ่งเครื่อง มีการนำระบบอินเตอร์เน็ตและอินทราเน็ตมาใช้

"เหมือนกับว่าเราเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ ตอนนี้เรามีรถอยู่ 5 รุ่น ซึ่งช่วงหนึ่งการตลาดมีปัญหา ฉะนั้นสิ่งที่เราทำตอนนี้คือปรับคุณภาพรถให้เยี่ยมและดีที่สุด เพราะในวิสัยทัศน์เราต้องการเป็นหน่วยงานที่ดีที่สุด" ดร. รุ่งอุปมาอุปไมยงานที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้

งานที่ทำมากในช่วงนี้คือการนำแผนไปสู่การปฏิบัติและการประเมินผลถือว่าเป็นงานหลัก และอีกงานที่ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ คือ งานประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ผลงานที่ทำออกมาได้รับการเผยแพร่อย่างทั่วถึง "เราเน้นด้านการตลาดเต็มรูปแบบเพราะถ้าตัวสินค้าดีแต่การตลาดไม่ดีก็เหนื่อยเปล่า" โดย ดร. รุ่งได้ยกตัวอย่างให้ฟังว่า งานพิมพ์ที่ออกมาในระยะหลังมีคุณภาพดีขึ้นจากเดิมที่พิมพ์แบบนักวิชาการ เน้นเล่มใหญ่ ตารางสถิติมาก ๆ เปลี่ยนมาเป็นแนวใหม่ที่มีสีสันสวยงามขึ้นและงานพิมพ์ที่ชัดเจนขึ้น

ด้วยความเป็นคนมีความสามารถทำให้ก้าวย่างในชีวิตราชการของ ดร. รุ่ง ก้าวไปอย่างรวดเร็ว ในวัย 52 ปี เขาขึ้นไปถึงระดับเลขาธิการ สกศ. และไฟในการทำงานยังลุกโชนอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย

"ช่วงหลังข้าราชการลาออกไปเยอะ และแม้เราจะมองว่าระบบราชการล้มเหลว มีปัญหาร้อยแปด แต่ประเทศก็ยังต้องการระบบราชการที่เข้มแข็งอยู่ อย่างน้อยในการวางระเบียบหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ"

นอกจากงานในความรับผิดชอบแล้ว ดร. รุ่งยังได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ผ่านมาเกือบ 3 ทศวรรษตลอดจนทัศนคติความคิดเห็นส่วนตัวในแวดวงราชการออกมาในรูปของงานเขียนอีกด้วย "ผมเขียนหนังสือมาสองเล่ม คือ รีเอ็นจิเนียริ่งระบบราชการไทย ในแง่การยอมรับไปได้ดีมาก เป็นหนังสือขายดีเล่มหนึ่งของเมืองไทย แต่พอคนอ่านจบก็บอกว่ามันยากที่จะเริ่มต้นทำ๐

แต่ในทัศนะของ ดร. รุ่ง "การรีเอ็นจิเนียริ่งทำได้ไม่ยาก ประสบความสำเร็จได้" เพราะสิ่งที่ท่านได้ทำมาตลอดไม่ว่าไปอยู่หน่วยงานใดถือเป็นการเริ่มต้นปฏิรูปหรือรีเอ็นจิเนียริ่งแล้ว และบางอย่างก็ประสบความสำเร็จงดงามไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้กับข้าราชการ

นอกจากนี้ ดร. รุ่งยังเห็นว่ากระบวนการรีเอ็นจิเนียริ่งระหว่างการทำงานของภาครัฐกับเอกชนมีผลงานที่สามารถนำมาประเมินได้เหมือนกัน ไม่แตกต่างกันอย่างที่เคยกล่าวกันไว้

"ผมเคยส่งคนไปดูงานที่สิงคโปร์ เขากลับมาแล้วบอกว่าที่สิงคโปร์ทำได้ เพราะเขาเป็นประเทศที่เล็ก ผมจึงเริ่มใหม่ให้ไปดูงานที่วหรัฐอเมริกาเขากลับมาก็บอกอีกว่าเพราะเป็นประเทศใหญ่ คือเขาเลี่ยงหมดทุกอย่าง"

ดร. รุ่งใช้เวลาไม่นานนัก ในการปรับปรุงระบบการทำงานที่ กศน. จากหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งที่ก่อนหน้ายี้มีเสียงท้วงติงอยู่บ้างว่า กศน. เป็นหน่วยงานปฏิบัติการคงทำไม่ได้ เช่นเดียวกับ สกศ. ที่เจอเสียงวิพากษ์วิจารณ์แต่ก็สามารถทำได้สำเร็จ "กระทั่งหน่วยนโยบายและแผนงานวิจัยเดิมที่เราเคยทำ 3 ปี ตอนนี้ลดเหลือ 6 เดือนได้ โปรเจ็กต์ต่าง ๆ ก็ทำขนาดนี้เหมือนกันหมด เทคโนโลยีเมื่อก่อนไม่ค่อยมีใครสนใจ ตอนนี้เราเอาเข้ามาใช้ในการทำงาน" ดร. รุ่ง กล่าวด้วยน้ำเสียงเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่น

หากนับอายุราชการของ ดร. รุ่งแล้ว ย่อมต้องผ่านรัฐมนตรีเจ้าสังกัดมาหลายยุคหลายสมัย แต่ที่ประทับใจสุด ๆ เห็นจะเป็น ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต อดีตนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย เมื่อครั้งเป็น รมว. กระทรวงศึกษาฯ และอดีต รมว. สัมพันธ์ ทองสมัคร เพราะมีแนวทางในการพัฒนาการศึกษาที่เอื้อซึ่งกันและกัน

"ผมประทับใจมากที่สุดมี 3 ท่าน คนที่หนึ่ง ทำงานใกล้ชิดมาก คือ ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ในฐานะที่ท่านเป็นนักวิชาการ ในตอนนั้นท่านมีความพยายามทำอะไรต่ออะไรค่อนข้างมาก คนที่สอง คือท่านนายกฯ ชวน จุดเด่นของท่านคือ ท่านสนใจเรื่องที่เกี่ยวกับชนบท เพราะฉะนั้นโครงการที่ออกมาในยุคนั้นเป็นโครงการที่แก้ปัญหาของชนบทและคนที่ด้อยโอกาส ท่านต่อสู้เพื่อคนส่วนใหญ่และปูพื้นฐานการศึกษาค่อนข้างมาก นโยบายใหญ่ ๆ ของท่านมักจะประสบความสำเร็จเกือบทั้งหมด อย่างเช่นเรื่องการขยายโอกาสทางการศึกษาก็เริ่มในสมัยของท่าน อีกท่านหนึ่งที่ผมทำงานแล้วประทับใจคือ ท่าน รมต. สัมพันธ์ ทองสมัคร เพราะท่านพยายามสนับสนุนการทำงานค่อนข้างมาก"

ท่ามกลางภารกิจที่ล้นมือ ดร. รุ่ง ยังสามารถปลีกเวลาให้แก่แวดวงการศึกษา ด้วยการรับสอนวิชาการบริหารการศึกษาในระดับปริญญาเอกของจุฬาลงกร์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตที่แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนคือ งานราชการ งานเขียนและสินหนังสือ และงานอดิเรก

โดยงานอดิเรกนั้น ท่านชอบเลี้ยงปลาคราฟต์ และเล่นกอล์ฟ แต่เนื่องจากงานราชการรัดตัวมากขึ้นจึงเหลือเพียงกีฬากอล์ฟอย่างเดียวจากเดิมที่เคยสนใจเรื่องปลาคราฟต์จนถึงขั้นผสมพีนธุ์ปลาได้

เสี้ยวเวลาที่เหลือจากงานหลักทั้งสาม จะหมดไปกับการดูแลบ้านเนื้อที่ 60 ตารางวาที่นนทบุรี ตลอดจนถึงการชมภาพยนตร์ทางโทรทัศน์

"สมัยอยู่ กศน. ต้องดูแลงานหลายเรื่อง เพราะนั้นที่บ้านนอกจากรับทีวีปกติแล้วก็ต้องรับเคเบิลทั้งไอบีซีและไทยสกายเพื่อรับข่าวสาร เวลาว่างจึงมานั่งไล่ดูหนังที่เราอยากจะดู"

การสนทนาที่ล่วงเลยเกือบ 3 ชั่วโมงก็ต้องปิดฉากลงเพราะถึงเวลาที่ท่านจะต้องเดินทางไปประชุมรัฐสภาเพื่อร่างกฎหมาย แม้วัยจะล่วงเลยเข้าสู่ปีที่ 53 วี่แววแห่งความอ่อนล้าในดวงตาและจิตใจยังไม่ปรากฏ จะมีก็เพียงแต่ความมุ่งมั่นที่จะทำงานการศึกษาของชาติอย่างไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.